ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

สูบบุหรี่ทำให้ดีเอ็นเอในเซลล์ปอดกลายพันธุ์กว่าร้อยครั้งต่อปี

04 พ.ย. 2016
339

14925271_1842975679256797_3657703637958603814_n-720x480

คณะนักวิจัยนานาชาติตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสาร Science ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้ที่สูบบุหรี่วันละซอง หรือราว 20 มวนต่อวัน จะเกิดการกลายพันธุ์ในสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของเซลล์ปอดโดยเฉลี่ยถึง 150 ครั้งต่อปี ซึ่งร่องรอยการกลายพันธุ์นี้จะคงอยู่ต่อไปตลอดชีวิต แม้จะเลิกสูบบุหรี่แล้วก็ตาม และจะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดในที่สุด

คณะนักวิจัยจากสถาบันเวลคัม ทรัสต์ แซงเกอร์ ในสหราชอาณาจักร และห้องทดลองแห่งชาติลอส อลามอส ของสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของเนื้อร้ายที่พบในผู้ป่วยมะเร็งปอดหลายพันราย พบว่าปริมาณของบุหรี่ที่คนไข้สูบมาตลอดชีวิต มีความสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนร่องรอยการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอในเซลล์ปอด ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่สูบบุหรี่วันละซอง จะมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอในเซลล์อวัยวะต่าง ๆ หลายประเภทเช่น กล่องเสียง ตับ กระเพาะปัสสาวะ แต่จะเกิดการกลายพันธุ์ที่ปอดซึ่งเป็นอวัยวะที่สัมผัสสารก่อมะเร็งโดยตรงมากที่สุด

ศาสตราจารย์ เซอร์ ไมค์ สแตรตตัน หนึ่งในผู้นำคณะวิจัยระบุว่า การสูบบุหรี่ได้ไปเร่งให้กระบวนการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอตามธรรมชาติเกิดมากขึ้นและเร็วขึ้น และยิ่งเกิดการกลายพันธุ์มากครั้งขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสของการเกิดมะเร็งขึ้นเท่านั้น เนื่องจากมะเร็งก็คือเซลล์ร่างกายปกติที่กลายพันธุ์มาเป็นเนื้อร้ายนั่นเอง

คณะนักวิจัยยังแนะนำว่า เทคนิคการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของเนื้อร้ายนี้ ยังสามารถนำไปใช้ในการศึกษามะเร็งชนิดอื่น เพื่อค้นหาสาเหตุและวิธีการรักษาได้

ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดในสหราชอาณาจักรราว 35,000 คนต่อปี และคาดการณ์ว่าโรคมะเร็งปอดถึง 9 ใน 10 กรณี สามารถป้องกันได้

ที่มา:BBc Thai