ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 17 พฤษภาคม 2567

กลุ่มซาอุฯ เมิน “สหรัฐฯ-กาตาร์” เซ็นข้อตกลงต่อสู้ก่อการร้าย-จวกโดฮา “เชื่อถือไม่ได้”

 

เอเอฟพี – สหรัฐฯ และกาตาร์ลงนามข้อตกลงต่อสู้ลัทธิก่อการร้ายเมื่อวานนี้ (11 ก.ค.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ในการเดินสายเยือนรัฐอ่าวอาหรับ เพื่อช่วยคลี่คลายวิกฤตการทูตระหว่างกาตาร์กับกลุ่มพันธมิตรซาอุดีอาระเบีย

ทิลเลอร์สันชี้ว่า กาตาร์พยายามตอบสนอง “อย่างมีเหตุมีผล” ต่อความขัดแย้งครั้งนี้ หลังจากที่ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ พร้อมใจกันตัดสัมพันธ์ทางการทูต โดยกล่าวหาว่ากาตาร์เป็นรัฐที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และใกล้ชิดกับอิหร่านมากเกินไป

ทิลเลอร์สันจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในสัปดาห์นี้ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในหมู่ชาติพันธมิตรที่สำคัญของอเมริกา และมีกำหนดหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 4 ชาติที่โดดเดี่ยวกาตาร์ที่นครเจดดาห์วันนี้ (12)

หลังการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโดฮาเมื่อวันอังคาร (11) ทิลเลอร์สัน และ ชัยค์ โมฮัมเหม็ด บิน อับดุรเราะห์มาน อัษ-ษานี รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ ได้ประกาศข้อตกลงร่วมที่จะสกัดกั้นเส้นทางการเงินของกลุ่มหัวรุนแรง

“บันทึกความเข้าใจฉบับนี้กำหนดแนวทางที่เราทั้งสองชาติจะปฏิบัติตามในอีกหลายเดือนและหลายปีข้างหน้า เพื่อขัดขวางและทำลายเส้นทางการเงินของกลุ่มก่อการร้าย และยกระดับกิจกรรมต่อต้านก่อการร้ายทั่วโลก” ทิลเลอร์สัน ระบุในงานแถลงข่าวร่วม

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า กาตาร์ถือเป็น “ประเทศแรกที่ตอบสนอง” ต่อข้อเรียกร้องของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการประชุมซัมมิตที่ริยาดเมื่อต้นปีนี้ โดย ทรัมป์ ได้ขอให้ทุกประเทศ “หยุดให้ทุนสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย”

คำพูดของทิลเลอร์สัน ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐอาหรับอื่นๆ ว่าควรจะลงนามบันทึกความเข้าใจลักษณะนี้เพื่อยุติความบาดหมางทางการทูต สอดคล้องกับท่าทีของ ชัยค์ โมฮัมเหม็ด ที่เรียกร้องให้ “กลุ่มประเทศที่ปิดล้อมทั้งหลายหันมาร่วมมือกับเราในวันข้างหน้า”

อย่างไรก็ตาม ความริเริ่มนี้กลับถูกหมางเมินจากบรรดารัฐอ่าวอาหรับที่คว่ำบาตรกาตาร์

“มาตรการเช่นนี้ยังไม่เพียงพอ” สำนักข่าวเอสพีเอของซาอุดีอาระเบียเผยแพร่คำแถลงร่วมของกลุ่มพันธมิตรริยาด ซึ่งยืนยันว่าทั้ง 4 ประเทศ “จะเฝ้าจับตาดูต่อไปว่า กาตาร์มีความจริงใจที่จะยุติการให้ทุน การสนับสนุน หรือการให้ที่พักพิงแก่กลุ่มก่อการร้ายทุกรูปแบบมากน้อยแค่ไหน”

ฝ่ายซาอุฯ ยังวิจารณ์รัฐบาลกาตาร์ว่า “เชื่อถือไม่ได้” และเคยละเมิดข้อตกลงมาแล้วหลายครั้ง

แม้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะคาดการณ์ว่าวิกฤตการทูตในอ่าวเปอร์เซียอาจยืดเยื้อนานหลายเดือน ทว่า ทิลเลอร์สัน ได้ออกมาแสดงความหวังเชิงบวกเมื่อวานนี้ (11) ว่า “ผมหวังว่าเราจะสามารถหาทางออกให้กับปัญหานี้ได้… กาตาร์แสดงจุดยืนชัดเจนซึ่งผมคิดว่ามีเหตุมีผล และเราจำเป็นต้องคุยกันเสียทีว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร”

ความขัดแย้งระหว่างกาตาร์กับกลุ่มพันธมิตรซาอุฯ ถือเป็นวิกฤตการทูตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาค นับตั้งแต่มีการก่อตั้งคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ขึ้นในปี 1981

ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรอีก 3 ชาติได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ทั้งยังปิดการคมนาคมขนส่ง และขับไล่พลเมืองกาตาร์ออกจากประเทศภายใน 14 วัน

ต่อมาในวันที่ 22 มิ.ย. พันธมิตรซาอุฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 13 ข้อต่อรัฐบาลกาตาร์เพื่อแลกกับการยุติปิดล้อม โดยเงื่อนไขสำคัญๆ ได้แก่ การปิดสถานีโทรทัศน์อัลญาซีเราะห์, ลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน และปิดฐานทัพตุรกีที่ตั้งอยู่ในกรุงโดฮา

อย่างไรก็ดี กาตาร์ไม่ยอมที่จะทำตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ และยังยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาสนับสนุนกลุ่มอิสลามิสต์ด้วย

การเยือนตะวันออกกลางของทิลเลอร์สัน มีขึ้นพร้อมๆ กับการเปิดโปงข้อตกลงลับระหว่างกาตาร์และรัฐสมาชิกจีซีซีอื่นๆ ในช่วงปี 2013-2014 โดยทุกประเทศต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะปราบปรามการให้ทุนสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรง และจะไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของกันและกัน

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้เผยแพร่เนื้อหาของเอกสารที่รั่วไหลออกมา ซึ่งซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, คูเวต, บาห์เรน และยูเออี ต่างลงนามในข้อตกลงว่าจะไม่สนับสนุนกลุ่มฝ่ายค้าน หรือพวกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล ซึ่งรวมถึงในอียิปต์และเยเมนด้วย

กลุ่มพันธมิตรซาอุฯ ชี้ว่า เอกสารเหล่านี้ “เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนอย่างไร้ข้อสงสัยว่า กาตาร์ไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณี และฝ่าฝืนคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้”

ที่มา:MGR Online