ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

ไขข้อข้องใจ ทำไมมุสลิมไม่นิยมขอฮาลาล-ศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับฮาลาล

ปัจจุบันภาครัฐให้การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร กลุ่ม SME กลุ่มสินค้า OTOP รวมถึงร้านอาหารของพี่น้องมุสลิม ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสในการยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ

แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ามีผู้ประกอบการมุสลิมเป็นจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยสนใจทั้งๆที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น (ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดนะครับ) จึงทำให้เสียโอกาสตรงส่วนนี้ไป

สาเหตุหลักที่ผู้ประกอบการมุสลิมไม่นิยมขอรับรองฮาลาล เนื่องจากคิดว่า ฉันเป็นมุสลิมอยู่แล้ว ทำไมจะต้องขอรับรองด้วย แต่ในความเป็นจริงกับพบว่ามีผู้ประกอบการมุสลิมบางส่วนที่ไม่เข้าใจกระบวนการผลิตสินค้าฮาลาล ยังมีอยู่พอสมควร เริ่มต้นง่ายๆจากประสบการณ์ที่ได้พบเห็น ขอยกตัวอย่างกรณีผู้ประกอบการร้านอาหารละกันเพราะเจอบ่อยผมเองเวลาไปรับประทานอาหารจะพยายามสังเกตวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตตัวอย่างง่ายๆ ร้านอาหารตามสั่ง,ร้านก๋วยเตี๋ยว ในตู้สิ้นค้าของร้านกลับพบว่าวัตถุดิบที่ทางร้านเลือกใช้นั้นไม่มีเครื่องหมายรับรอง ที่เจ็บปวดยิ่งกว่านั้นคือ ในถุงของลูกชิ้นไม่มีแม้แต่สถานที่การผลิตของวัตถุดิบ เรื่อง อย. ไม่ต้องพูดถึงอย่างนี้นอกจากไม่แน่ชัดแล้วว่าจะฮาลาลหรือไม่ โอกาสเสี่ยงต่อความอันตรายด้านอาหารหรือโอกาสเสี่ยงต่อวัตถุดิบฮะรอมก็มีมากพอสมควรนับว่าน่าเป็นห่วงมากๆ ผมขอสรุปให้เห็นถึงสาเหตุที่ผู้ประกอบการมุสลิมไม่นิยมขอเครื่องหมายฮาลาลดังนี้ครับ

คิดว่าฉันเป็นมุสลิมอยู่แล้วทุกอย่างที่ฉันทำต้องฮาลาล

ไม่มีเวลา ไม่พร้อม

ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีเครื่องหมาย

ไม่เห็นต้องขอเลย (ฉันเลยเขียนเองก็ได้)

มีค่าใช้จ่าย

เหตุผลประมาณนี้ครับ ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจมีคำถามอยู่ในใจว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการไม่นิยมขอเพราะเก็บเงินแพงหรือเปล่า ผมขอตอบอย่างนี้นะครับ อย่างที่ผมได้เกริ่นนำไปแล้วว่า โครงการสนับสนุนจากภาครัฐฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เช่น โครงการรับรองร้านอาหารที่ผู้ประกอบการเป็นมุสลิม เข้าระบบรับรองฮาลาลเพื่อเพิ่มมูลค่าและค่านิยมผ่านเครื่องหมายรับรองฮาลาล ซึ่งเจ้าของโครงการคือ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย นอกจากฟรีแล้ว ยังอบรมให้ความรู้ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานฮาลาล ก็ได้ผลตอบรับดีพอสมควร แต่ก็มีบ้างที่บางร้านไม่เห็นความสำคัญกับโครงการดังกล่าว จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ มาถึงตรงนี้ คงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการสร้างความเข้าใจ ให้กับผู้ประกอบการมุสลิม ลบความไม่เข้า ความอคติออกไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำการบ้านในการสร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าของมาตรฐานฮาลาล เมื่อตระหนักในเรื่องดังกล่าวแล้วก็จะทำให้ ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับเรื่องของฮาลาล สุดท้าย ท้ายสุด นอกจากฮาลาลแล้วจะต้อง ตอยยีบัน (ดี มีประโยชน์) ด้วย ถึงจะครบองค์ประกอบของการผลิตอาหารที่ดี

ปล. ปัจจุบันการผลิตอาหารของผู้ประกอบการมุสลิมนั้น ฮาลาล แต่ยังขาดในเรื่องของ ตอยยีบัน หรือ food safety
ไม่ได้หมายรวมทั้งหมดนะครับ บางส่วนเท่านั้น แต่ก็แปลกเหลือเกินเรามักจะพบกับบางส่วนที่ว่านี้บ่อยมากๆ (จริงไหมครับ)

คำศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับฮาลาล

ในทุกๆ วงการมีศัพท์เฉพาะทาง เมื่อเป็นศัพท์เฉพาะทางแล้วจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อพูดทับศัพท์ คนที่อยู่ในแวดวงนั้นจะต้องเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้ที่อยากศึกษาเกี่ยวกับฮาลาลขอนำเสนอคำศัพท์ที่เรานิยมพูดทับศัพท์มาให้ได้รู้สัก 10 คำศัพท์

ฮาลาล (Halal) หมายความว่า อนุมัติให้มุสลิมหรือผู้นับถือศาสนาอิสลามนำไปใช้ประโยชน์หรือบริโภคได้ โดยอิสลามกำหนดฮาลาลให้เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์

ฮารอม (Haram) หมายความว่า ห้าม ไม่อนุมัติให้มุสลิมใช้ประโยชน์หรือบริโภค ได้แก่ สิ่งที่ถูกกำหนดว่าเป็นนะญิส หรือสิ่งสกปรกตามบัญญัติอิสลาม มีบางสิ่งแม้มิใช่นะญิสแต่น่ารังเกียจ ห้ามมุสลิมปฏิบัติเช่น การพนัน ดอกเบี้ย การเซ่นไหว้ต่อพระเจ้าอื่น

ตอยยิบ (Tayyib)หมายความว่า ดี บริสุทธิ์ มีประโยชน์ ปลอดภัยต่อร่างกาย

มัชบูห์ (Mushbooh) หรือ ชุบฮะ (Shubhah) หมายความว่า คลุมเครือ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าฮาลาลหรือฮารอม อิสลามแนะนำให้เลี่ยงโดยจัดให้เป็นฮารอมจนกว่าจะพิสูจน์ทราบได้ว่าฮาลาล กลุ่มนี้เป็นปัญหามากที่สุดในกระบวนการผลิต

นะญิส (Najis) หมายความว่า สิ่งสกปรกหรือน่ารังเกียจตามบัญญัติอิสลาม ครอบคลุมสิ่งสกปรกทั่วๆไปรวมถึงสัตว์ต้องห้ามที่กำหนดขึ้นตามมาตรฐานฮาลาล เลือดที่ได้จากการเชือดสัตว์ฮาลาล ซากสัตว์ เครื่องดื่มมึนเมา ฯลฯ

มัยตะห์ (Maitah) หมายความว่า ซากสัตว์ฮารอมและซากสัตว์ฮาลาลที่ไม่ผ่านการเชือดตามบัญญัติอิสลามห้ามรับประทาน

ซาบีฮะ (Sabihah) หมายความว่า วิธีการเชือดตามบัญญัติอิสลาม หรือสัตว์ฮาลาลที่ผ่านการเชือดตามบัญญัติอิสลามอนุญาตให้รับประทานได้

คณะกรรมการ หมายถึง คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแล้วแต่กรณี

ทีมงานฮาลาล หมายถึง ทีมงานที่ผู้ประกอบการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นกรรมการบริหารและควบคุมการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล

ที่ปรึกษาฮาลาลประจำสถานประกอบการ หมายถึง มุสลิมที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลแก่ผู้ประกอบการ

10 คำศัพท์ดังกล่าวนี้ ใช้กันบ่อยในแวดวงฮาลาล ส่วนคำศัพท์อื่นๆนั้นท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ระเบียบต่างๆได้ดังนี้

ระเบียบ,ข้อบังคับ,ข้อกำหนด ฮาลาลไทย

ปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ออก ระเบียบ,ข้อบังคับ,ข้อกำหนด โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการบริหารกิจการฮาลาล พ.ศ. 2558

2.ข้อบังคับ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการดำเนินการตรวจรับรองสถานประกอบการ การตรวจผลิตภัณฑ์และค่าธรรมเนียม พ.ศ. 2559

3.ข้อกำหนดการตรวจรับรองกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล พ.ศ. 2559

4.ข้อกำหนดการตรวจรับรองฮาลาลโรงเชือดสัตว์และการชำแหละชิ้นส่วน พ.ศ. 2559

5.ข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติการขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล และการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลบนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ปี พ.ศ. 2559

ซึ่งท่านสามารถดาวน์โหลดได้จากทางอินเตอร์เน็ต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับฮาลาลต่อทุกท่านได้ไม่มากก็น้อย

ขอขอบคุณ : อ.มูฮัมมัดราชา ฟิรเดาซ์

ที่มา:ไทยมุสลิม