
มุสลิมสวมใส่ชุดดำเพื่อไว้ทุกข์จะได้หรือไม่?
“อะไรที่ทำได้ก็ทำ อะไรที่ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ” ในหลวงทรงตรัส เพราะทราบว่า มุสลิมนั้นกราบผู้ใดไม่ได้เลย จะทำให้ตกศาสนา(มุรตัด) จึงทรงตรัสเพื่อให้กับอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทาไม่ต้องเกร็ง ทำตามหลักศรัทธาที่ตัวเองยึดถือ
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อตอนนำรัฐธรรมนูญปี 2540 ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
ผมเป็นคนไทย มุสลิม
ถึงผมไม่ได้กราบไหว้บูชารูปที่มีทุกบ้าน เพราะมันผิดหลักศาสนา
แต่ผมก็รัก ให้เกียรติ และก็นำเอาวิถีพอเพียงของท่านมาใช้
ซึ่งมันสอดคล้องกับอิสลาม เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับมุสลิมและการแสดงออก ณ ช่วงเวลานี้
สวมใส่ชุดดำเพื่อไว้ทุกข์จะได้หรือไม่ ถ้าดูคำวินิจฉัยตามหลักอิสลามแล้ว คำตอบคือ ไม่อนุญาตให้ไว้ทุกข์ด้วยการสวมใส่ชุดแต่งกายสีดำ แต่ไม่ได้หมายความว่า ห้ามไม่ให้แสดงความอาลัย
มุสลิมแสดงความอาลัยได้ แต่ถ้าเลือกใส่ชุดสุภาพสีไม่ฉูดฉาดตามปกติ โดยไม่ได้เหนียต (เจตนา) เจาะจงว่าเป็นการไว้ทุกข์ก็ไม่เป็นไร ทางที่ดีควรเป็นสีที่ดูสุภาพ สีพื้นๆ ที่ไม่ฉูดฉาด เรียกว่าแต่งตัวเรียบร้อย เพื่อไม่ให้คนอื่นดูขัดตาและดึงดูดความสนใจตามกาลเทศะของสังคมไทย ส่วนผู้ที่แต่งกายชุดดำปกติอยู่แล้วก็ไม่ต้องคิดมาก
สังเกตว่าท้ายประกาศสำนักพระราชวัง ระบุ อนึ่ง สําหรับพนักงานที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือศาสนาอื่น ขอให้แต่งกายตามธรรมเนียมศาสนาท่านได้ตามความเหมาะสม
ทุกๆ เจตนาย่อมอยู่ที่การกระทำ
ถาม-ตอบ ปัญหา โดยสำนักจุฬาราชมนตรี
ปัญหา เรื่องทำความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ การแสดงความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ ของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในพิธีการต่างๆ จะขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ ใคร่ขอทราบข้อเท็จจริงและความเห็น
คำตอบ
– การยืนตรงต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
– การก้มศรีษะไม่ถึงขั้นรุกัวะ ถือเป็นการกระทำที่ไม่บังควร (มักรูฮ์)
– การก้มศรีษะถึงขั้นรุกัวะ บางทัศนะว่าต้องห้าม (ฮารอม) บางทัศนะว่าไม่บังควร (มักรูฮ์)
ปัญหา เรื่องการไว้ทุกข์ หากมุสลิมไปร่วมงานในพิธีของชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ โดยการแต่งกายชุดดำ จะเป็นการขัดด้วยหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ ใคร่ขอทราบข้อเท็จจริงและความเห็น
คำตอบ
ในการแต่งกายไว้ทุกข์ด้วยชุดสีดำ ผิดบทบัญญัติศาสนาอิสลาม ข้อเสนอแนะ อิสลามกำหนดไว้อาลัยแก่ผู้ตาย ซึ่งบังคับแก่สตรีเท่านั้น โดยการเว้นการแต่งกายที่ฉูดฉาด ห้ามใส่เครื่องประดับและเครื่องหอมทุกชนิด การที่มุสลิมไปร่วมงานศพของเพื่อนต่างศาสนา ให้แต่งกายตามแบบธรรมดาทั่วไป อย่าแต่งชุดดำ
“แต่งดำไว้ทุกข์ผิดหลักศาสนา” สำนักจุฬาฯ แจงแนวปฏิบัติแสดงความอาลัย
สำนักจุฬาราชมนตรี ได้เผยแพร่เอกสารแนวปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องกับการถวายอาลัยพระบรมศพ และการแต่งกายไว้ทุกข์ของมุสลิม โดยชี้ชัดว่าการแต่งกายไว้ทุกข์ด้วยชุดสีดำ ผิดบทบัญญัติศาสนาอิสลาม
เอกสารดังกล่าวลงนามโดย นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ลงวันที่ 28 ต.ค.59 ส่งถึงประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สมาคม มูลนิธิ องค์กรมุสลิม และมุสลิมทั่วไป
เนื้อหาของเอกสารระบุว่า เพื่อให้การถวายอาลัยพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ สำนักจุฬาราชมนตรีจึงขอแจ้งแนวทางปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องกับการถวายอาลัยพระบรมศพฯ และการแต่งกาย ดังนี้
1.ได้มีคำวินิจฉัยตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามของ นายประเสริฐ มะหะหมัด อดีตจุฬาราชมนตรี ความว่า “ในการแต่งกายไว้ทุกข์ด้วยชุดสีดำ ผิดบทบัญญัติศาสนาอิสลาม” ดังนั้นจึงไม่สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ได้มีแนวทางปฏิบัติสำหรับพี่น้องชาวไทยมุสลิมร่วมน้อมถวายอาลัยพระบรมศพฯ ตามที่บทบัญญัติศาสนาอิสลามอนุญาต ดังนี้
ข้าราชการชาย ให้แต่งเครื่องแบบปกติขาวหรือเครื่องแบบปฏิบัติราชการเท่านั้น
ข้าราชการหญิง ให้แต่งกายสุภาพตามรัฐพิธี โดยให้ใช้สีอื่นที่มิใช่เครื่องดำล้วน
ประชาชนทั่วไป ให้แต่งกายสุภาพแบบธรรมดาทั่วไปที่ไม่ฉูดฉาด
การเข้าถวายอาลัยพระบรมศพฯ ให้ผู้เข้าถวายอาลัยยืนตรงสงบนิ่ง หากจะก้มศีรษะคำนับก็สามารถกระทำได้ในกรอบลักษณะที่ไม่เกินขั้นรุกัวะ หรือการก้มศีรษะที่ลำตัวท่อนบนขนานกับพื้น หรือในกรณีที่จะต้องนั่ง ให้นั่งพับเพียบตัวตรงสงบนิ่ง
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " แนวทางชัดเจน! จุฬาราชมนตรี ออกแนวปฏิบัติให้กับมุสลิมการไว้ทุกข์ "