ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

นายกฯ บังกลาเทศร้อง UN จัดตั้ง “เซฟโซน” ในพม่าเพื่อช่วยโรฮิงญา


นายกรัฐมนตรี ชัยค์ ฮาซินา แห่งบังกลาเทศ ขึ้นกล่าวปาฐกถาระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ครั้งที่ 72 ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 21 ก.ย.

เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรีหญิงบังกลาเทศเสนอให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดตั้งโซนปลอดภัย (safe zone) ขึ้นในพม่า เพื่อช่วยปกป้องชาวมุสลิมโรฮิงญาที่กำลังหนีการกวาดล้างเข้าไปในประเทศของเธอ

“คนเหล่านี้จะต้องได้กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนอย่างปลอดภัย มั่นคง และมีเกียรติ” นายกรัฐมนตรี ชัยค์ ฮาซินา แถลงต่อเวทีประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก วานนี้ (21 ก.ย.)
ข้อมูลยูเอ็นระบุว่า ชาวโรฮิงญามากกว่า 420,000 คนหอบลูกจูงหลานหนีเข้าไปพึ่งพิงบังกลาเทศ หลังกองทัพพม่าเปิดปฏิบัติการกวาดล้างอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ ซึ่งรวมถึงการข่มขืนสตรีและเผาบ้านเรือน

ปฏิบัติการทางทหารเริ่มขึ้นหลังจากที่มีกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาบุกโจมตีค่ายตำรวจและทหารหลายจุดเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา

ฮาซินา กล่าวหาทางการพม่าว่าวางกับระเบิดไว้ตามแนวพรมแดน เพื่อสกัดไม่ให้ชาวโรฮิงญาย้อนกลับเข้าไปในพม่าอีก และถึงเวลาที่ยูเอ็นจะต้องลงมือยับยั้งและหาทางออกให้แก่วิกฤตมนุษยธรรมครั้งนี้ทันที

นายกฯ หญิงผู้นี้ได้เสนอแผนการ 5 ขั้น โดยเริ่มจากการ “จัดตั้งเซฟโซนขั้นในเขตแดนพม่าภายใต้การกำกับดูแลของยูเอ็น” เพื่อรับรองความปลอดภัยให้แก่ชาวโรฮิงญา

ยูเอ็นประณามสิ่งที่กองทัพพม่าปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาว่าเป็น “การกวาดล้างทางเชื้อชาติ” (ethnic cleansing) ขณะที่ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสชี้ว่า การปราบปรามที่ป่าเถื่อนถึงขั้นนี้อาจเข้าข่าย “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocide) เลยทีเดียว

ฮาซินา เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติความรุนแรง “และการกวาดล้างทางเชื้อชาติ” ที่ดำเนินอยู่ ตลอดจนยินยอมให้ยูเอ็นส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบความจริง เปิดทางให้ผู้ลี้ภัยได้กลับเข้าไปยังชุมชนเดิม และรับรองความเป็นพลเมืองให้แก่ชาวโรฮิงญา

คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นมีมติเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในพม่า แต่การจัดตั้ง “เซฟโซน” นั้นจำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก “จีน” ซึ่งถืออำนาจวีโตและให้การสนับสนุนรัฐบาลพม่าอยู่อย่างแข็งขัน

มุสลิมโรฮิงญาราว 1.1 ล้านคนเผชิญการแบ่งแยกกีดกันในพม่ามานานหลายสิบปี และแม้จะตั้งรกรากอยู่ในดินแดนพม่ามาหลายชั่วอายุคน แต่ก็ยังถูกปฏิเสธความเป็นพลเมือง ขณะที่ชาวพุทธพม่าส่วนใหญ่มองว่าโรฮิงญาเป็นแค่คนต่างด้าวที่ไม่มีรากเหง้าร่วมกับพวกเขา

ฮาซินา ระบุว่า เหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ระลอกล่าสุดทำให้มีชาวโรฮิงญาเข้าไปอาศัยพักพิงในบังกลาเทศแล้วมากกว่า 800,000 คน

ที่มาของเนื้อหา:mgronline.com