ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

แพทย์ปาเลสไตน์ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ แก้ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ในกาซ่า

ทีมแพทย์ชาวปาเลสไตน์ประดิษฐ์เครื่องตรวจฟังหัวใจและเครื่องห้ามเลือดด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ในโรงพยาบาล

“เครื่องตรวจฟังหัวใจ” หรือหูฟังประจำตัวคุณหมอ คือหนึ่งในอุปกรณ์จำเป็นของการแพทย์ในปัจจุบัน แต่สำหรับกาซ่าแล้วเครื่องตรวจฟังหัวใจถือเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ยาก

ในโรงพยาบาลแห่งใหญ่ที่สุดของกาซ่าอย่าง “อัชชีฟาอฺ” มีเครื่องตรวจฟังหัวใจเพียงหนึ่งหรือสองอันในแต่ละแผนกเท่านั้น แพทย์ส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องใช้วิธีเงี่ยหูฟังจากหน้าอกของผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยอาการ

“นั่นน่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่สุด” Tarek Loubani แพทย์ชาวแคนาดาเล่าให้ Al-Jazeera “แต่ถ้าวันไหนมีผู้ป่วยเข้ามาในสภาพนองเลือดแล้วล่ะก็ หมอส่วนใหญ่จะไม่เงี่ยหูฟังบนหน้าอก แต่หมอจะตัดสินใจทำการรักษาโดยที่ไม่มีข้อมูลวินิจฉัยจากตรงนั้นมาช่วยเลย”

Loubani และเพื่อนร่วมงานของเขาอีกสามคนได้พยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงวิกฤติเหล่านั้น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทีม Glia เป้าหมายของพวกเขาคือการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ให้กับกาซ่าที่เน้นต้นทุนต่ำแต่คุณภาพสูง โดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อผลิตออกมาให้ได้ในจำนวนมาก และเมื่อไม่นานมานี้พวกเขาได้ประดิษฐ์เครื่องตรวจฟังเสียงหัวใจออกมาเป็นรุ่นแรก

Shaker Shaheen, และ Mahmoud Alalawi ทำงานกับเครื่องพิมพ์สามมิติ ในเมือง Gaza [Mersiha Gadzo / Al Jazeera]

ณ สำนักงานของพวกเขาใจกลางเมืองกาซ่า เราได้เห็นเครื่องพิมพ์สามมิติที่มีลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เคลื่อนตัวไปมาข้ามแผ่นจานที่มีโลหะยาวๆ สองเส้น ภายในเวลาสองชั่วโมงเครื่องพิมพ์ตัวนี้สามารถพิมพ์ส่วนประกอบทุกชิ้นออกมา จากนั้นจึงนำไปประกอบเป็นเครื่องตรวจฟังหัวใจแบบสามมิติชนิดเดียวและชนิดแรกของเขตฉนวนกาซ่าที่ได้การรับรองว่าใช้งานได้จริง

“มันอาจจะดูเหมือนของเล่น แต่คุณภาพนั้นสามารถเทียบเท่ากับตัวที่ผลิตโดยยี่ห้อชั้นนำเลยทีเดียว” Mohammed Abu Matar หนุ่มวัย 31 ปีเล่าให้ Al-Jazeera ฟังขณะโชว์เครื่องตรวจฟังหัวใจที่ผลิตเสร็จแล้วให้ดู เครื่องตรวจฟังชิ้นนี้ใช้ต้นทุนเพียง 3 ดอลล่าร์ ในขณะที่เครื่องตรวจฟังของแบรนด์ชั้นนำในวงการอย่าง Littmann CardiologyIII มีราคาสูงถึง 200 ดอลล่าร์โดยประมาณ

มันเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งสำหรับพื้นที่อย่างฉนวนกาซ่า ดินแดนที่ต้องเจอกับสภาวะขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นมาโดยตลอดนับตั้งแต่การปิดล้อมของอิสราเอลและอียิปต์มาร่วมสิบปี อุปกรณ์การแพทย์ส่วนใหญ่จะถูกสั่งห้ามไม่ให้นำเข้ามาในพื้นที่กาซ่า ด้วยเพราะอิสราเอลกังวลว่าอุปกรณ์บางชนิดอาจ “ใช้ได้สองแง่” และเกรงว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการทหาร

ปัจจัยเรื่องราคาก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรค เนื่องจากเครื่องตรวจฟังหัวใจแต่ละอันนั้นมีมูลค่าราว 300 ดอลล่าร์ ซึ่งราคานี้เทียบเท่าได้กับเงินเดือนของแพทย์ในกาซ่ากันเลยทีเดียว

อิสราเอลสั่งแบนเครื่องพิมพ์ 3 มิติพร้อมกับอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ในฉนวนกาซา ซึ่งอิสราเอลอ้างว่าสามารถใช้ในทางทหารได้ [Mersiha Gadzo / Al Jazeera]

Loubani ได้แนวคิดและไอเดียในการผลิตเครื่องตรวจฟังหัวใจเป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาทำการผ่าตัดผู้ป่วยในแผนกฉุกเฉิน ณ โรงพยาบาลชีฟาอฺมาระยะหนึ่ง

“ในช่วงหนึ่งของสงครามเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดีพอด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัดของที่นี่” Loubani กล่าว

ก่อนหน้านั้น ในแต่ละครั้งที่ Loubani กลับมาปาเลสไตน์ในฐานะแพทย์ผู้มาเยือน เขามักจะขนหนังสือและอุปกรณ์การแพทย์ไว้เต็มกระเป๋าเพื่อนำมาฝากบรรดาทีมแพทย์ในกาซ่า

“แต่เดี๋ยวนี้เส้นทางเหล่านั้นถูกกีดกันง่ายขึ้น” เขากล่าว “ผมไม่สามารถเข้ากาซ่าผ่านประเทศอียิปต์ได้อีกแล้วเนื่องจากผมเคยติดคุกที่ประเทศนั้น ตอนที่เดินทางเข้ามาในอิสราเอลพวกเขาตรวจค้นผม แม้แต่อุปกรณ์การแพทย์ธรรมดาๆ เขาก็ไม่ให้เอาเข้ามา เราจึงคิดว่าควรเริ่มลงมือสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาเองในกาซ่าได้แล้ว เพื่อที่เราจะได้มีอุปกรณ์การแพทย์ที่เหมาะสมไว้รักษาผู้ป่วยต่อไป”

Abu Matar ชายหนุ่มผู้จบการศึกษาด้านการสื่อสารโทรคมนาคมก็เริ่มตระหนักในสิ่งเดียวกัน หลังจากที่ใช้เวลาหลายปีในการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ที่รวมไปถึงเครื่องผลิตโอโซนและอิออนประจุลบด้วยตัวเขาเอง เขามักจะต้องเจอกับปัญหาเดิมๆ เช่นมีส่วนประกอบอะไหล่ไม่ครบเพราะไม่สามารถหาซื้อในกาซ่าได้

“มันอาจจะดูเหมือนของเล่น แต่คุณภาพนั้นสามารถเทียบเท่ากับตัวที่ผลิตโดยยี่ห้อชั้นนำเลยทีเดียว” Mohammed Abu Matar [Mersiha Gadzo / Al Jazeera]

“ผมจึงเริ่มคิดค้นสร้างเครื่องมือชนิดหนึ่งที่พอจะสามารถผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่เราขาดแคลนได้” Abu Matar กล่าว

และแล้วเครื่องพิมพ์สามมิติซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกแบนในกาซ่าก็เป็นทางออกในการแก้ปัญหาของพวกเขาในที่สุด Matar ได้รวบรวมเศษชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ไว้ด้วยกันแล้วศึกษาคลิปวีดีโอที่สอนเกี่ยวกับการออกแบบทางออนไลน์ จนเขาสามารถประดิษฐ์เครื่องพิมพ์สามมิติออกมาได้ด้วยตัวเองในที่สุด ปัจจุบันเขากลายเป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องพิมพ์เจ้าแรกในกาซ่าที่ใช้ชื่อเรียกว่า “Tashkeel 3D”

“เราศึกษาการออกแบบเครื่องพิมพ์สามมิติที่คนอื่นใช้เวลามากมายผลิตมันขึ้นมา เราใช้แบบเหล่านั้นแล้วนำมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของเราเอง” Matar เล่าให้ฟัง

เพื่อเลี่ยงการถูกกีดกันและปัญหาเรื่องราคาที่สูงลิ่ว พวกเขาจึงหันมาพึ่งทางเลือกอื่น เนื่องจากเส้นใยพลาสติกที่ใช้ในการพิมพ์อุปกรณ์ดังกล่าวนั้นมีราคาแพงเกินกว่าจะนำเข้ามาได้ พวกเขาจึงตัดสินใจผลิตขึ้นมาเองโดยทำการทดลองกับเม็ดพลาสติกผสมผสานกันจนกระทั่งได้สูตรที่ลงตัว แล้วจึงนำไปผลิตเส้นใยพลาสติกด้วยเครื่องจักรที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเองเป็นลำดับต่อไป

เมื่อ Matar ประกอบเครื่องพิมพ์สามมิติขึ้นเองได้แล้ว เขาจึงเริ่มพิมพ์อะไหล่ส่วนต่างๆ ที่หายากในพื้นที่เพื่อเพิ่มการใช้งานของเครื่องพิมพ์สามมิติในเขตฉนวนกาซ่าต่อไป

“เครื่องตรวจฟังหัวใจใช้งานได้ดีมาก มันเป็นทางแก้ที่ได้ผลดี โดยเฉพาะกับพวกเราที่อยู่ในดินแดนกาซ่าเช่นนี้”  Ayman al-Sahabani หัวหน้าฝ่ายฉุกเฉินประจำโรงพยาบาลอัชชีฟาอฺบอกกับ Al-Jazeera “พวกเราจำเป็นต้องใช้เครื่องตรวจฟังหัวใจในการตรวจรักษาคนไข้อยู่ตลอดเวลา แต่มันไม่ค่อยมีให้ใช้ ด้วยเพราะราคาที่สูงมาก”

หลังจากที่ผลิตเครื่องตรวจฟังหัวใจเป็นผลสำเร็จแล้ว ปัจจุบันทีมแพทย์กำลังทำการทดสอบเครื่องห้ามเลือดและเครื่องตรวจวัดชีพจร ที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีปริมาณออกซิเจนในร่างกายมากเท่าไหร่ขึ้นอีกด้วย

Loubani เล่าว่าโดยปกติในโรงพยาบาลของแคนาดาจะมีเครื่องตรวจวัดชีพจรสำหรับแต่ละเตียงโดยเฉพาะ แต่สำหรับแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลอัชชีฟาอฺแล้วมีเครื่องตรวจวัดชีพจรเพียง 3 เครื่องต่อเตียงผู้ป่วย 20 เตียง ในการตรวจสอบหาระดับออกซิเจนในร่างกายแต่ละครั้งแพทย์ของกาซ่ามักจะต้องสังเกตอาการจากตัวผู้ป่วยเองแล้วประเมินดูว่า “ผู้ป่วยรายนี้ตัวเขียวมากเพียงใด?”

“สิ่งที่เกิดขึ้นในกาซ่าคือมหันตภัยที่แท้จริง” Sahabani กล่าว “มันเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากทุกครั้งที่ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เจ็บปวดสำหรับพวกเรา มันเป็นสิ่งที่เจ็บปวดเมื่อพูดถึงคนไข้ของเรา  อะไรเกี่ยวกับความทรมานต่างๆ หรือแม้แต่เรื่องที่เกี่ยวกับบุคลากรแพทย์ของเราเองก็ตาม”

Sahabani อธิบายให้ฟังว่า หนึ่งในอุปกรณ์การแพทย์ที่ถูกมองว่า “ใช้ได้สองแง่” และถูกจำกัดไม่ให้นำเข้ามาในเขตฉนวนกาซ่าคือเครื่องตรวจสแกนและเครื่องสแกนแบบ MRI และแบบ CT เท่าที่มีอยู่ในโรงพยาบาลอัชชีฟาอฺในขณะนี้ล้วนเสี่ยงต่อการชำรุดแทบทั้งสิ้น เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เกินอัตรา จึงต้องมีการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมงแทนที่จะใช้เพียง 8 ชั่วโมงตามคำแนะนำ และเนื่องจากเครื่องมือส่วนใหญ่มีอะไหล่บางส่วนชำรุด มันจึงใช้การไม่ค่อยได้ตามที่ควร

สมาชิกทีม Glia จากซ้ายไปขวา Shaker Shaheen, Mahmoud Alalawi, Tarek Loubani และ Mohammed Abu Matar [Mersiha Gadzo / Al Jazeera]

จากข้อมูลปี 2016 ขององค์การอนามัยโลกรายงานว่า เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของอุปกรณ์ทางการแพทย์ในกาซ่านั้นมีความล้าสมัยมาก และการรออะไหล่เพื่อซ่อมแซมแต่ละครั้งนั้นล้วนต้องใช้เวลานานประมาณ 6 เดือนแทบทั้งสิ้น

ทีม Glia จึงหวังจะเติมเต็มช่องว่างนี้ด้วยการเผยแพร่วัฒนธรรมการพิมพ์สามมิติให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในกาซ่า พวกเขาได้เริ่มเปิดสอนวิธีการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์สามมิติกันแล้วที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Khan Younis และพวกเขายังมีแผนที่จะนำวิชาว่าด้วยการพิมพ์สามมิตินี้เสนอเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาอีกด้วย

“ในกาซ่าคุณจะเจอกับปัญหาที่พิเศษแตกต่างจากทั่วไป เช่นจู่ๆ อาจมีจรวดบินเข้ามาทางหน้าต่างนี้แล้วที่แห่งนี้ก็หายไปในชั่วพริบตา และหากสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง เราจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ดี?” Loubani ตั้งคำถาม “ฉะนั้นมันจึงจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องมีแหล่งเรียนรู้และสามารถผลิตการพิมพ์สามมิติเช่นนี้ให้กระจายมากกว่าหนึ่งแห่งในพื้นที่เสี่ยงภัยเช่นกาซ่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าวัฒนธรรมเหล่านี้จะยังคงสานต่อไป”

“เราคิดว่าแหล่งเรียนรู้สัก 4-5 แห่งน่าจะเพียงพอที่จะช่วยดำรงสานต่อวัฒนธรรมการพิมพ์สามมิติให้มีอยู่ต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ฉะนั้นหากสมมุติว่าพวกเราถูกฆ่าตายในสงครามรอบต่อไป ก็จะยังคงมีแหล่งเรียนรู้อื่นๆ อีก 2-3 แห่งที่พอจะช่วยสานมันต่อไปได้”  พวกเขาหวังไว้เช่นนั้น

 

แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Using 3D printers to tackle Gaza’s medical shortages

 

ที่มาของเนื้อหา : halallifemag.com