ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันเสาร์, 4 พฤษภาคม 2567

UN-ยุโรปจี้พม่ายุติความรุนแรง


ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาแออัดกันมาบนเรือ ล่องข้ามแม่น้ำนาฟมาถึงเมืองชาห์ปารีร์ทวีปของบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ภาพ AFP

คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเห็นพ้องกันได้เสียทีในกรณีเมียนมา ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลการใช้ความรุนแรงเกินเหตุในรัฐยะไข่ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลเมียนมายุติความรุนแรงทันที ขณะรัฐสภายุโรปประณามแบบเดียวกัน ด้านกองกำลังติดอาวุธโรฮีนจาแจงไม่ได้เกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์หรือไอเอส

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ปิดห้องประชุมลับกันเมื่อวันพุธที่ 13 กันยายน 2560 เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมา และเป็นครั้งแรกที่สมาชิก 15 ชาติสามารถเห็นพ้องต้องกันและผ่านแถลงการณ์แสดงท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสถานการณ์ในเมียนมา โดยที่รัฐบาลจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรของเมียนมา ไม่ได้ขัดขวาง

แถลงการณ์ของยูเอ็นเอสซีแสดงความห่วงกังวลต่อการใช้ความรุนแรงเกินเหตุระหว่างปฏิบัติการของหน่วยความมั่นคงในรัฐยะไข่ และเรียกร้องให้มีการดำเนินมาตรการทันทีทันใดเพื่อยุติความรุนแรง รวมถึงขอให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เข้าถึงพื้นที่ในรัฐยะไข่ได้ แต่นักการทูตหลายรายกล่าวกันว่า จีนได้ขัดขวางข้อเสนอของอียิปต์ที่ต้องการให้เมียนมารับประกันสิทธิการกลับคืนถิ่นเมียนมาของชาวโรฮีนจาที่หนีภัยมายังบังกลาเทศ

ด้านอันโตนีโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น แถลงข่าววันเดียวกัน ประณามปฏิบัติการทางทหารของเมียนมาว่าเทียบเท่ากับการล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมโรฮีนจา และเรียกร้องให้เมียนมายุติปฏิบัติการทางทหาร, ยุติความรุนแรง, เคารพกฎหมายและยอมรับสิทธิคืนถิ่นของชาวโรฮีนจาทุกคนที่หนีออกนอกเมียนมา

เลขาธิการยูเอ็นผู้นี้ถูกซักถามด้วยว่า เขาเห็นด้วยหรือไม่ว่าประชากรชาวโรฮีนจากำลังถูกล้างเผ่าพันธุ์ “เมื่อประชากรโรฮีนจา 1 ใน 3 ต้องหนีออกนอกประเทศ คุณจะหาคำไหนมาบรรยายได้ดีกว่านี้อีก” เขาตอบ

เดิมมีชาวมุสลิมโรฮีนจาอาศัยอยู่ในเมียนมาราว 1.1 ล้านคน แต่พวกเขาไม่ได้รับสิทธิพลเมืองและชาวเมียนมาส่วนใหญ่มองว่าพวกเขาเป็นชาวเบงกาลี หรือคนต่างด้าวเข้าเมืองเถื่อนจากบังกลาเทศ ถึงแม้ว่าจำนวนมากจะอยู่ในเมียนมามาหลายชั่วรุ่น

ที่กรุงบรัสเซลส์ในวันพฤหัสบดี สมาชิกรัฐสภายุโรปได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮีนจา และเรียกร้องกองทัพเมียนมายุติการเข่นฆ่า, รังแก, ข่มขืน และการเผาบ้านเรือนพวกเขา ทั้งยังเตือนด้วยว่า สหภาพยุโรป (อียู) ได้เตรียมพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรกับเมียนมา หากยังเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ต่อไป

เหตุการณ์รุนแรงในเมียนมารอบล่าสุดนี้ปะทุขึ้นหลังจากกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮีนจาภายใต้การนำของกองทัพปลดปล่อยโรฮีนจาแห่งอาระกัน (อาร์ซา) ยกพวกหลายร้อยคนโจมตีด่านและค่ายของตำรวจ-ทหาร 30 แห่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม จนเกิดการปะทะดุเดือด มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน ส่วนใหญ่เป็นพวกแนวร่วมอาร์ซา และผลักดันให้ชาวโรฮีนจาอพยพหนีภัยเข้าบังกลาเทศแล้ว 389,000 คนนับถึงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ชาวโรฮีนจาที่หนีภัยกล่าวกันว่าทหารและม็อบชาวพุทธเข่นฆ่าทำร้าย ข่มขืน และวางเพลิงหมู่บ้านของพวกเขา แต่รัฐบาลเมียนมาของนางอองซาน ซูจี ยืนกรานปฏิเสธคำกล่าวหานี้ และว่าทหารเพียงปฏิบัติการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรง

อาร์ซาได้ชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ว่า พวกเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรก่อการร้ายนานาชาติ ไม่ว่ากลุ่มอัลกออิดะห์, กลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (ไอเอส), กลุ่มลัชการ์อีตออิบา หรือกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติใดๆ การต่อสู้ของพวกเขาเพื่อปกป้องชาวโรฮีนจาจากการถูกกดขี่

เมื่อวันอังคาร กลุ่มอัลกออิดะห์เพิ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องชาวมุสลิมทั่วโลกให้การสนับสนุนการต่อสู้ของชาวโรฮีนจา รวมถึงด้านอาวุธและการทหาร.

ที่มาของเนื้อหา : www.thaipost.net