ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

คิดได้งัย..มุสลิมโรฮิงญาที่หนีจากพม่าอาจถูกส่งไปตั้งถิ่นฐานใหม่บนเกาะแห่งหนึ่งของบังกลาเทศซึ่งน้ำท่วมทุกปี


เอเจนซีส์ – มุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนที่หลบหนีการกวาดล้างในพม่าอาจถูกส่งไปตั้งถิ่นฐานใหม่บนเกาะแห่งหนึ่งของบังกลาเทศซึ่งถูกน้ำท่วมทุกปี

รัฐบาลบังกลาเทศร้องขอให้นานาชาติช่วยสนับสนุนการเคลื่อนย้ายชาวโรฮิงญาไปยังเกาะแห่งนี้ เนื่องจากธากาเริ่มไม่มีสถานที่พักพิงให้แก่คลื่นผู้อพยพจากรัฐยะไข่ที่ยังคงหลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง

ชาวโรฮิงญามากกว่า 300,000 คนหอบลูกจูงหลานข้ามไปยังฝั่งฝั่งบังกลาเทศหลังเหตุสู้รบในรัฐยะไข่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้นค่ายผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติในเมืองค็อกซ์บาซาร์ซึ่งอยู่ติดพรมแดนพม่าก็มีผู้อพยพโรฮิงญาอาศัยอยู่อย่างแออัดแล้วราวๆ 300,000 คน

ทางการบังกลาเทศต้องรับภาระหนักในการหาสถานที่สร้างค่ายพักให้แก่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ รวมถึงบนเกาะเธนการ์ชาร์ (Thengar Char) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “บาซันชาร์” (Bhasan Char) ซึ่งภูมิประเทศไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย แม้เจ้าหน้าที่ยูเอ็นและชาวโรฮิงญาเองจะไม่เห็นด้วยนักก็ตาม

เกาะบาซันชาร์ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเมฆนา ใช้เวลาล่องเรือราว 1 ชั่วโมงจากเกาะสันทวีป (Sandwip) ซึ่งเป็นเกาะใกล้ที่สุดที่มีผู้คนอาศัยอยู่ และราว 2 ชั่วโมงจากเกาะฮาติยาซึ่งเป็นหนึ่งในเกาะใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ

รัฐบาลธากาเคยเสนอที่จะส่งชาวโรฮิงญาไปยังเกาะนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2015 หลังจากค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองค็อกซ์บาซาร์เริ่มรองรับผู้คนไม่ไหว แต่แผนดังกล่าวถูกล้มเลิกเมื่อปีที่แล้ว หลังมีรายงานว่าเกาะดินตะกอนซึ่งเพิ่งโผล่พ้นทะเลขึ้นมาเมื่อปี 2006 ถูกน้ำท่วมบ่อยครั้ง จนมนุษย์ไม่อาจตั้งถิ่นฐานอยู่ได้


ที่ตั้งของเกาะเธนการ์ชาร์ หรือ บาซันชาร์ ซึ่งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเมฆนาของบังกลาเทศ (ภาพ – รอยเตอร์)

ทางการบังกลาเทศได้เตรียมสร้างค่ายพักขึ้นใหม่บนพื้นที่ 2,000 เอเคอร์ใกล้ๆ เมืองค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งคาดว่าจะรองรับชาวโรฮิงญาได้อีกประมาณ 250,000 คน โดยนายกรัฐมนตรี ชัยค์ ฮาซินา จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานที่ก่อสร้างในวันนี้ (12 ก.ย.)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยอดผู้ลี้ภัยโรฮิงญายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลบังกลาเทศจึงต้องเร่งก่อสร้างค่ายพักบนพื้นที่ 10,000 เอเคอร์ของเกาะบาซันชาร์ เพื่อให้สามารถรองรับชาวโรฮิงญาได้อีกหลายแสนคน

ตำรวจท้องถิ่นนายหนึ่งบอกกับเอเอฟพีว่า เกาะแห่งนี้มีชาวประมงเข้าไปใช้ประโยชน์บ้างเป็นบางครั้ง รวมถึงชาวไร่ชาวนาที่มักนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปกินหญ้า ทว่าเกาะจะถูกน้ำทะเลท่วมประมาณ 1-2 ครั้งต่อปี

“ผมคิดว่ารัฐบาลต้องเข้ามาก่อสร้างสาธารณูปโภคขนานใหญ่ ก่อนที่จะส่งคนมาอาศัยอยู่ได้”

เอ.เอช. มะห์มูด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ ได้กล่าวเรียกร้องระหว่างประชุมร่วมกับคณะทูตและเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเมื่อวันอาทิตย์ (10) ให้นานาประเทศช่วยขนส่งชาวโรฮิงญาไปยังเกาะบาซันชาร์ ขณะที่แกนนำชาวโรฮิงญายืนกรานคัดค้านเรื่องนี้ ส่วนเจ้าหน้าที่ยูเอ็นคนหนึ่งก็เตือนว่าการบังคับโยกย้ายชาวโรฮิงญาอาจก่อปัญหายุ่งยากตามมา

ชาวโรฮิงญาตกเป็นเหยื่อการกวาดล้างอย่างรุนแรงในพม่ามานานหลายสิบปี เพราะถูกมองว่าเป็นต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ทั้งที่พวกเขาเกิดและเติบโตอยู่บนผืนแผ่นดินพม่ามาหลายชั่วอายุคน

ที่มาของเนื้อหา:mgronline.com