ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันอังคาร, 7 พฤษภาคม 2567

ชาวโรฮิงญา คือใคร…เหตุใดต้องหนีจาก“เมียนมาร์”

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาประมาณ 150,000 คนได้หลบหนีเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ เนื่องจากผลจากปฏิบัติการทางทหารของกองทัพเมียนมาร์ที่มีต่อกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา ทำให้หลายคนสงสัยว่า “ชาวโรฮิงญา” คือใคร และเหตุผลใดทำไมพวกเขาจำต้องหนี

“ชาวโรฮิงญา” ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิม มีจำนวนประชากรประมาณ 1.1 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมาร์ มีพรมแดนติดกับบังคลาเทศ  แม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในเมียนมาร์มาหลายชั่วคน แต่รัฐบาลเมียนมาร์ยืนยันว่าชาวโรฮิงญาทั้งหมดเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังคลาเทศ และไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นพลเมืองของตน ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่กลายเป็น “คนไร้รัฐ” ผลจากการเลือกปฏิบัติที่ ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ยากลำบาก เมื่อถูกกีดกันออกจากประชากรส่วนอื่น ๆ ชาวโรฮิงญาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางอย่างเสรี และมีโอกาสเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล การศึกษา หรือการมีงานทำอย่างจำกัด

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 เกิดความขัดแย้งครั้งสำคัญระหว่างชาวโรฮิงญากับประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่ ซึ่งส่วนมากเป็นชาวพุทธ ส่งผลให้เกิดการก่อจลาจล เป็นเหตุให้ประชากรหลายหมื่นคนโดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน และไปอาศัยอยู่ในค่ายกักกันที่มีสภาพเลวร้าย คนที่อาศัยอยู่ในค่ายเหล่านี้ถูกจำกัดสิทธิไม่ให้เดินทาง และถูกแยกกีดกันออกจากชุมชนอื่น ๆ  ขณะที่เดือนตุลาคม 2559 ภายหลังการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาต่อฐานทัพของตำรวจทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ เป็นเหตุให้กองทัพเมียนมาร์เริ่มปฏิบัติการปราบปราม โดยพุ่งเป้าไปที่ชุมชนทั้งหมด

จากข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีการบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา รวมทั้งการสังหารอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย การจับกุมโดยพลการ การข่มขืนกระทำชำเราการทำร้ายทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และการเผาบ้านเรือนกว่า 1,200 หลัง รวมทั้งอาคารเรียนและมัสยิด ในครั้งนั้นก่อนมีข้อสรุปว่า ปฏิบัติการเหล่านี้อาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้น ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากเดินทางเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศเกิดภายหลังปฏิบัติการทางทหารของเมียนมาร์ เพื่อตอบโต้กับการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่มีต่อค่ายทหารเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม โดยการตอบโต้ของกองทัพทั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปฏิบัติต่อประชาชนทั้งหมดราวกับศัตรู รายงานจากในพื้นที่ระบุถึงการเสียชีวิตของพลเรือน รวมทั้งการเผาทำลายหมู่บ้านอย่างราบคาบ รัฐบาลเมียนมาร์ กล่าวว่า จนถึงปัจจุบันมีประชาชนที่ถูกสังหารอย่างน้อย 400 คน โดยระบุว่าส่วนใหญ่ถูกสังหารโดย “กลุ่มก่อการร้าย”  นอกจากนี้ยังมีรายงานที่กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาได้ใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน รวมทั้งประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาอื่นที่เป็นชนกลุ่มน้อย

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ชาวโรฮิงญาเกือบ 150,000 คน ได้หลบหนีเข้าสู่บังคลาเทศในช่วงสองสัปดาห์แรกของวิกฤตครั้งนี้ และคาดว่าจะมีการหลบหนีเข้ามาอีก ขณะที่ชาวโรฮิงญาที่มาถึงบังคลาเทศอยู่ในสภาพได้รับบาดเจ็บ หิวโหย และถูกทำร้าย พวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนรวมทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย และบริการรักษาพยาบาล ทางการบังคลาเทศต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อตอบสนองความต้องการของคนที่ทุกข์ยาก แต่ทางการเมียนมาร์ได้ห้ามไม่ให้องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ นำอาหาร น้ำ และเวชภัณฑ์ไปให้กับประชาชนหลายหมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ทำให้คนเหล่านี้ต่างหลบหนีไปยังอยู่ในป่าเขาที่รกร้างทางตอนเหนือของรัฐยะไข่
หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “ชาวโรฮิงญา” รวมทั้งเหตุการณ์ในปัจจุบัน ยิ่งทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอด แต่การปิดกั้นความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มคนไร้รัฐเหล่านี้ จะยิ่งทำให้พวกเขาตกอยู่ในที่นั่งลำบากมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
www.pptvhd36.com