ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

อดีตสมาชิกกลุ่มกบฏ “เซเลกา” วอน รบ.แอฟริกากลางเร่งปล่อยกลับสู่สังคมหลังวางอาวุธ

Seleka fighters take a break as they sit on a pick-up truck in the town of Goya June 11, 2014. REUTERS/Goran Tomasevic

เอเจนซีส์ / MGR online – ตัวแทนกลุ่มกบฏมุสลิม “เซเลกา” ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง แสดงความกังวลถึงความล่าช้าในโครงการของรัฐบาลที่ให้คำมั่นจะเปิดรับพวกเขา “กลับคืนสู่สังคม” หลังเหล่าอดีตกบฏซึ่งยินยอมวางอาวุธไปแล้วจำนวนนับพันชีวิตยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากภายในค่ายกักกัน

รายงานข่าวระบุว่า อดีตสมาชิกกลุ่มกบฏมุสลิมเซเลกาจำนวนกว่า 1,000 คนยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในค่ายกักกันที่เขตเบอาล ในกรุงบังกี ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ เพื่อรอคอยการกลับคืนสู่สังคม ตามโครงการของรัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกากลางที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2013

อย่างไรก็ดี ความล่าช้าของโครงการดังกล่าวกำลังสร้างความสับสนและความยากลำบากในการดำเนินชีวิตให้แก่อดีตสมาชิกกลุ่มกบฏเหล่านี้ที่ตัดสินใจวางอาวุธไปแล้ว

“พวกเรายอมอยู่ที่นี่เพื่อสันติภาพ เราต่างก็ต้องการให้สันติภาพกลับคืนสู่ประเทศของเรา แต่เราขอให้ทางรัฐบาลช่วยเร่งรัดโครงการนี้ที่จะเปิดโอกาสให้พวกเราได้กลับคืนสู่สังคมและมีงานทำเช่นเดียวกับพลเรือนทั่วไป” เบนี เกเตมาเล หนึ่งในอดีตสมาชิกกลุ่มกบฏเซเลกา กล่าว พร้อมเผยว่า อดีตสมาชิกกลุ่มกบฏเหล่านี้มีทั้งพวกที่ต้องการกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบเยี่ยงพลเรือน กับพวกที่ต้องการเข้ารับราชการในกองทัพแอฟริกากลาง

ขณะที่อดีตแม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายกบฏอย่างพลเอก คาริม มะฮามัต กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกากลางจะต้องเร่งดำเนินการให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ ในการปล่อยสมาชิกฝ่ายกบฏที่ยอมวางอาวุธแล้วกลับคืนสู่สังคม พร้อมกับให้ความช่วยเหลือพวกเขาในการหางานทำ ซึ่งในที่นี้นับรวมถึงตำแหน่งงานภายในกองทัพ

รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกากลางประสบปัญหาสำคัญทางด้านงบประมาณ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงการคืนอดีตสมาชิกฝ่ายกบฏกลับคืนสู่สังคมดำเนินไปได้อย่างล่าช้า โดยแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลในกรุงบังกีเปิดเผยว่า อาจต้องใช้เวลาอีก 3 ปีกว่าที่โครงการดังกล่าวนี้จะลุล่วง

นอกเหนือจากอดีตสมาชิกกลุ่มกบฏเซเลกาจำนวนกว่า 1,000 คนภายในค่ายกักกันที่เขตเบอาล ในกรุงบังกีแล้ว ยังมีรายงานว่า มีอดีตสมาชิกกลุ่มกบฏนี้อีกมากกว่า 6,000 คนที่กระจัดกระจายอยู่ตามค่ายกักกันอื่นๆ ของรัฐบาลเพื่อรอคอยการกลับคืนสู่สังคมเช่นเดียวกัน โดยที่พวกเขาเหล่านี้ประทังชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวันด้วยความช่วยเหลือด้านอาหาร (ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ) ที่รัฐบาลแอฟริกากลาง และองค์กรระหว่างประเทศเป็นผู้จัดหาให้

ที่ผ่านมาประชาคมระหว่างประเทศนำโดยอดีตประเทศเมืองแม่อย่างฝรั่งเศส ได้กดดันทางการสาธารณรัฐแอฟริกากลางให้เร่งฟื้นฟูประชาธิปไตย และเยียวยาความแตกแยกขัดแย้งทางสังคมระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมภายในประเทศ โดยหวังว่าแนวทางนี้จะช่วยยุติช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

อดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสซึ่งไร้ทางออกสู่ทะเลแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่ายากจนข้นแค้นที่สุด และไร้เสถียรภาพที่สุดของโลกในปัจจุบัน โดยนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2013 เป็นต้นมาสถานการณ์ในประเทศนี้ได้เลวร้ายลงถึงขีดสุด ภายหลังจากที่ระบอบการปกครองที่นำโดยประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โบซิเซซึ่งเป็นชาวคริสต์ ถูกโค่นอำนาจโดยกลุ่มกบฏมุสลิม “เซเลกา”

หลังเข้ายึดอำนาจ สมาชิกกลุ่มกบฏมุสลิมเซเลกาได้ก่อเหตุสังหารโหดชาวคริสต์แบบไม่เลือกหน้า เป็นเหตุให้ชาวคริสต์รวมตัวกันจัดตั้งกองกำลัง “แอนตี้-บาลากา” ขึ้น เพื่อสังหารหมู่ชาวมุสลิมเป็นการแก้แค้นบ้าง นำไปสู่ความขัดแย้งเต็มรูปแบบระหว่างผู้นับถือศาสนาทั้งสองที่มีสัดส่วนพอๆ กันในสาธารณรัฐแอฟริกากลางแห่งนี้

ที่ผ่านมากองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติเพื่อการสร้างเสถียรภาพในแอฟริกากลาง (MINUSCA) สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ในกรุงบังกีที่เป็นเมืองหลวงให้กลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ทว่าสำหรับสถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆ นอกกรุงบังกีแล้วยังถือว่าอยู่ในภาวะ “ไร้ขื่อแป” และมีการฆ่าล้างแค้นกันไปมาระหว่างกองกำลังชาวคริสต์กับชาวมุสลิมเกิดขึ้นเป็นรายวัน

ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ความขัดแย้งทางศาสนาและการเมืองในสาธารณรัฐแอฟริกากลางได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 5,000 ราย นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2013 เป็นต้นมา

 

ที่มา:ผู้จัดการออนไลน์