ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 17 พฤษภาคม 2567

ล่าชื่อถอนโนเบลสันติภาพ'ซูจี'


นางอองซาน ซูจี กล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลโนเบลย้อนหลังที่กรุงออสโล เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2555 ภาพ AFP

การรณรงค์ล่าชื่อทางออนไลน์เพื่อเรียกร้องให้สถาบันโนเบลเพิกถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของนางอองซาน ซูจี มีผู้ลงชื่อเกิน 365,000 คนแล้ว แต่กรรมการโนเบลยันทำไม่ได้ อีกด้านหน่วยงานยูเอ็นประเมินอาจมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาอพยพถึง 300,000 คน

การปฏิบัติที่ทารุณโหดร้ายต่อชาวมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธ ได้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวมุสลิมทั่วโลก รวมถึงนักสิทธิที่คับข้องใจต่อนางอองซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมาโดยพฤตินัย และทำให้มีความเคลื่อนไหวระดมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อขอให้ริบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่นางซูจีได้รับเมื่อปี 2534

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2560 ว่านับถึงเวลานี้มีผู้ลงชื่อในคำร้องนี้แล้วมากกว่า 365,000 คน

“นางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาโดยพฤตินัย ไม่ได้ทำสิ่งใดเลยเพื่อหยุดยั้งการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นในประเทศของเธอ” คำร้องกล่าว

นางซูจีได้รับรางวัลโนเบลระหว่างที่นางยังถูกรัฐบาลทหารกักบริเวณในบ้านพัก นางได้รับอิสรภาพเมื่อปี 2553 จากนั้นได้นำพาพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนาง ชนะการเลือกตั้งทั่วไป ได้จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือครั้งแรกของเมียนมา แม้รัฐธรรมนูญจะห้ามนางรับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่นางซูจี ซึ่งสถาปนาตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐขึ้นเป็นการเฉพาะ ก็ยังคงเป็นผู้นำตัวจริงของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่สนับสนุนนางกล่าวว่า นางซูจีไม่สามารถก้าวล่วงกองทัพ ทั้งยังไม่อาจทัดทานกระแสชาตินิยมที่เพิ่มขึ้นในประเทศนี้ เมื่อวันพุธ นางเพิ่งกล่าวถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่เป็นครั้งแรก โดยกล่าวโทษ “ภูเขาน้ำแข็งลูกมหึมาของข้อมูลเท็จ” ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั่วโลกโกรธแค้นรัฐบาลเมียนมา

ที่กรุงออสโล โอลาฟ โงลสตัน ผู้อำนวยสถาบันโนเบล กล่าวกับเอเอฟพีว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเพิกถอนรางวัลโนเบลที่ได้มอบไปแล้ว ทั้งพินัยกรรมของอัลเฟรด โนเบล และกฎข้อบังคับของมูลนิธิโนเบล ต่างไม่เปิดความเป็นไปได้ในการเพิกถอนรางวัล ไม่ว่าในสาขาใดก็ตาม

เขาย้ำว่า คณะกรรมการพิจารณามอบรางวัลให้จากความพยายามของบุคคลนั้นในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ไม่ใช่พิจารณาพฤติกรรมหลังจากได้รับรางวัล

เหตุรุนแรงในรัฐยะไข่รอบล่าสุดเกิดขึ้นภายหลังแนวร่วมกองกำลังติดอาวุธในชื่อกองทัพกอบกู้โรฮีนจารัฐอาระกัน บุกโจมตีด่านและค่ายของหน่วยความมั่นคงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม การปะทะดุเดือดทำให้ล้มตายแล้วราว 400 คน เป็นพวกแนวร่วมเสียส่วนใหญ่

การปราบปรามของกองทัพ และการกระทำโหดร้ายทารุณฆ่าคนวางเพลิง ที่ทั้งชาวโรฮีนจาและชาวพุทธต่างกล่าวหาอีกฝ่าย ได้ผลักดันให้ชาวโรฮีนจาอพยพหนีภัยเข้าบังกลาเทศแล้วมากกว่า 250,000 คนในช่วง 12 วันที่ผ่านมา ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันพฤหัสบดี ขณะที่ข้อมูลของรัฐบาลเมียนมาก็ระบุไว้เมื่อวันพุธว่า มีชาวพุทธและชาวฮินดูในรัฐยะไข่ อพยพหนีภัยอยู่ภายในประเทศแล้วเกือบ 27,000 คนเช่นกัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวันเดียวกัน อ้างการประเมินของเจ้าหน้าที่องค์การอาหารโลกแห่งยูเอ็นในบังกลาเทศว่า การประเมินจำนวนผู้อพยพลี้ภัยที่แท้จริงกระทำได้ยาก เนื่องจากชาวโรฮีนจายังคงหลั่งไหลข้ามแดนทั้งทางน้ำและทางบกอย่างต่อเนื่อง จำนวนมากเป็นคนป่วยหรือคนเจ็บ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งคาดว่า จำนวนผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาอาจเพิ่มสูงถึง 300,000 คน.

ที่มาของเนื้อหา : www.thaipost.net