ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 17 พฤษภาคม 2567

ความขัดแย้งในรัฐยะไข่อาจเป็นชนวนให้เกิดความตึงเครียดทางศาสนาในภูมิภาค


ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ของเมียนม่าร์ ที่ระอุขึ้นอีกครั้ง ได้เปิดรอยแยกที่อันตรายขึ้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการคุกคามต่อการแบ่งแยกทางศาสนา ระหว่างพุทธ กับอิสลาม ซึ่งเป็น 2 ศาสนาที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค ในยุคสมัยปัจจุบัน ความตึงเครียดระหว่าง 2 ศาสนา ที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติในภูมิภาคนับเป็นเวลาหลายร้อยปี ไม่ค่อยปรากฏให้เห็น ซึ่งหากปล่อยให้ดำเนินต่อไป ความแตกแยกนี้อาจจะเป็นภัยคุกคามแก่เสถียรภาพทางสังคม ที่อันตรายกว่า การที่นักรบ ISIS เดินทางกลับบ้านจากตะวันออกกลางก็เป็นได้


ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า มีโอกาสที่การแบ่งแยกที่น่ากลัวนี้ อาจจะสร้างปัญหาให้กับประชาคมอาเซียน
อาจจะดูเหลือเชื่อที่ว่า ความรุนแรงระหว่างชาวพุทธในยะไข่ กับมุสลิมโรฮิงยา ซึ่งเป็นประชาชนในแถบตะวันตกอันห่างไกลของเมียนม่าร์ จะสามารถก่อให้เกิดความตึงเครียดในประเทศอื่นๆ แต่หากพิจารณาให้ดี สถานการณ์เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มติดอาวุธที่เข้าโจมตีจุดตรวจทหารพม่าทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ในวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน และต้องหนีออกจากที่อยู่อาศัยอย่างน้อย 40,000 คน ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน


วันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ชาวโรฮิงยาเกือบ 1,000 คน จัดการประท้วงขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทำให้มีผู้ถูกจับกุมกว่า 40 คน และมีผู้ประท้วง 1 คน ใช้น้ำมันราดตัวเองและพยายามจะจุดไฟขึ้น แต่ตำรวจได้เข้ามาช่วยเหลือไว้ทัน กล่าวกันว่า การประท้วงจัดขึ้นโดยองค์กร NGO ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษาขององค์กรอิสลามในมาเลเซีย หรือ Mapim ซึ่งองค์กรนี้ได้เรียกร้องให้ขับประชาชนพม่าออกนอกมาเลเซีย พวกเขาต้องการตำหนินางอ่องซาน ซูจี ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ชาวโรฮิงยา ต้องหลบหนีออกนอกประเทศเข้ามาอาศัยในประเทศอื่นๆ

นายโมฮัมเหม็ด อัซมี่ อับดุล ฮามิด ประธาน Mapim ฝากคำถามไปถึงนางซูจี หลังจากเข้ายื่นบันทึกข้อความแก่ เจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนม่าร์ ว่า “คุณสมควรที่จะเป็นผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย คุณสมควรที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่เหตุใดคุณจึงเข้าข้างกองทัพ”
การเผยแพร่ภาพที่แสดงถึงความโหดร้ายที่ทหารเมียนม่าร์กระทำต่อมุสลิมโรฮิงยา เป็นสิ่งเร้าที่ทำให้มุสลิมมาเลเซียเกิดความโกรธแค้น และมีการแสดงออกทางความเห็นทั้งในมัสยิด และตามคอลัมน์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ภาพเหล่านั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ส่วนมากเป็นภาพที่ตัดต่อขึ้น หรือเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น อ้างอิงจากรายงานของสื่อ BBC ว่า ภาพที่รองนายกรัฐมนตรีตุรกีส่งทางทวิตเตอร์ และมีผู้นำมาส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย กลับกลายเป็นภาพที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามกลางเมืองในรวันดา และความขัดแย้งในอาเจะ มากกว่าที่จะเป็นภาพที่มาจากเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ 

 

ที่อินโดนีเซีย รัฐบาลถูกแรงกดดันให้กระทำการบางอย่าง โดยองค์กรมุฮัมมาดิยา ซึ่งเป็นองค์กรมุสลิมที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ได้เรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศไต่สวนคดีความที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ยิ่งกว่านั้น ยังเรียกร้องให้มีการขับเมียนม่าร์ออกจากประชาคมอาเซียน และเพิกถอนรางวัลโนเบลสันติภาพจากนางซูจี ด้วย


จะเห็นได้ว่า มีการใช้ถ้อยคำที่แสดงความก้าวร้าวและการคุกคามในภูมิภาค ซึ่งแต่เดิมมาเคยมีแต่การควบคุมอารมณ์และจำกัดการแสดงออกที่อาจกระทบกิจการภายในของเพื่อนบ้าน เกือบ 20 ปีแล้ว ที่เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมมาเลย์ กับชาวไทยพุทธทางตอนใต้ของประเทศไทยได้เกิดขึ้น แต่ก็แทบจะไม่ก่อให้เกิดการประท้วงขึ้นในมาเลเซีย ก็เพราะการไม่แทรกแซงกิจการระหว่างกัน เป็นหลักการพื้นฐานที่ทำให้อาเซียนยึดโยงอยู่ร่วมกันได้
มีข้อพิจารณาถึงปัญหาภายในประเทศของบางรัฐบาลในภูมิภาค ที่อยู่เหนือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในสภาพของมุสลิมด้วยกัน 


ในขณะที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเมียนม่าร์ ว่าปฏิบัติ 2 มาตรฐานต่อคนชนกลุ่มน้อยต่างศาสนา ซาฮีด ฮามิดี รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ก็ยังปรารภว่า เขาไม่ต้องการให้ชาวมาเลเซียต้องเผชิญกับปัญหาด้านการเมืองและสังคม ที่เกิดขึ้นจากการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัย ปัจจุบันมีชาวโรฮิงยาอย่างน้อย 60,000 คน ลี้ภัยอยู่ในมาเลเซีย หลายคนตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ที่รับจ้างนำเข้ามาเลเซีย หลังจากพวกเขาหลบหนีมาทางเรือ และขึ้นบกที่ฝั่งทะเลของไทย 
สำหรับในอินโดนีเซีย รัฐบาลมีความเสี่ยงต่อความรู้สึกของกลุ่มสุดโต่ง ที่ชี้นำโดยฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด้ โดยฝ่ายตรงข้ามพยายามลดความน่าเชื่อถือของเขาลงก่อนการเลือกตั้งปี 2019 จะมาถึง

 

มีความกังวลว่า จะมีการใช้สถานการณ์ในรัฐยะไข่ เป็นข้ออ้างในการกระตุ้นให้เกิดความโกรธเคืองรัฐบาล สื่อสังคมออนไลน์ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการนัดชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตเมียนมาร์ ยังมีแผนการที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้น โดยมีการเรียกร้องให้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ออกมาชุมนุมรอบโบราณสถานบูโรพุทโธ ที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของเกาะชวา ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานของศาสนาพุทธที่มีชื่อเสียงในอินโดนีเซียด้วย

https://asia.nikkei.com/Viewpoints/Michael-Vatikiotis/Rakhine-conflict-could-ignite-regional-religious-tensions

http://www.asia.nikkei.con

ที่มาของเนื้อหา : tangnamnews.wordpress.com