ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 17 พฤษภาคม 2567

วุ่นอีก! บีบีซีถอนตัวจากทีวีพม่า ถูกเซ็นเซอร์เพราะไม่เรียก "โรฮิงยา" ว่า "เบงกาลี"

REUTERS/Mohammad Ponir Hossain

เอเอฟพีรายงานว่า บีบีซี บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ ภาคภาษาพม่า หยุดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็มเอ็นทีวี สถานีร่วมทุนระหว่างเอกชนกับรัฐบาลเมียนมา หลังถูกเซ็นเซอร์และถอดบางรายการของบีบีซีออก เพราะปมเรียกชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงยา ว่า “โรฮิงยา” แทนที่จะเป็น “เบงกาลี” ตามที่รัฐบาลและกองทัพต้องการ

ผู้อพยพชาวโรฮิงยาจากรัฐยะไข่  / AFP PHOTO / R. ASAD

เว็บไซต์บีบีซี ภาษาพม่า เผยแพร่ข้อความแจ้งเหตุผลว่าไม่สามารถยอมรับการแทรกแซงหรือเซ็นเซอร์ เพราะทำลายความวางใจระหว่างคนดูกับบีบีซี

ขณะที่ช่องเอ็มเอ็นทีวีแถลงว่า เริ่มถอดรายการตามคำสั่งรัฐบาลในประเด็นการใช้ถ้อยคำจริง

ไฟยังคงลุกไหม้ในหมู่บ้านเขตเมืองหม่องดอว์ / AFP PHOTO / STR

บีบีซี ภาษาพม่าออกอากาศตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2557 ออกอากาศรายการข่าวประจำวันทางช่องดังกล่าว มีผู้ชม 3.7 ล้านคน ความเคลื่อนไหวนี้นับเป็นการโจมตีต่อเสรีภาพสื่อในเมียนมาที่อยู่ในสถานะทำงานลำบากอยู่แล้ว

นางซู จี RETUERS/Soe Zeya Tun

วันเดียวกัน น.ส. มาลาลา ยูซัฟไซ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2557 ชาวปากีสถานที่ใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ เรียกร้องให้นางออง ซาน ซู จี เจ้าของรางวัลเดียวกันเมื่อปี 2534 ออกมาประณามการกระทำอันโหดร้ายต่อชาวโรฮิงยาในพม่า และช่วยหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ เพราะทุกคนต่างรอความเคลื่อนไหวของนางซู จี

มาลาลา Reuters/Afolabi Sotunde TPX IMAGES OF THE DAY

“ทุกครั้งที่เห็นข่าวชาวมุสลิมโรฮิงยาในเมียนมา หัวใจของฉันแตกสลาย” มาลาลากล่าพร้อมเรียกร้องประเทศต่างๆ รวมถึงปากีสถานทำตามตัวอย่างของบังคลาเทศในการจัดหาอาหาร ที่พัก และการศึกษาแก่ชาวโรฮิงญาที่หนีภัยความรุนแรง

นับตั้งแต่เกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธโรฮิงยา ในนาม อาร์ซา กับกองทัพพม่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นางซู จี ยังคงไม่ออกมาแสดงท่าทีใดๆ จนทำให้ถูกตำหนิโจมตีจากกลุ่มประชาชนในหลายประเทศ เช่นที่อินโดนีเซีย มีการชูป้ายหน้าสถานทูตพม่าในกรุงจาการ์ตาเรียกร้องให้ริบรางวัลโนเบลสันติภาพด้วย

ที่มาของเนื้อหา : www.khaosod.co.th