
ชาวอินโดนีเซียชุมนุมประท้วงพม่าที่เมืองสุราบายาเมื่อวันอังคาร ภาพ AFP
ยูเอ็นเผยเมื่อวันอังคาร ความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมาผลักดันให้ชาวโรฮีนจาอพยพหนีภัยข้ามชายแดนเข้าบังกลาเทศแล้วเกือบ 124,000 คนในช่วง 11 วันที่ผ่านมา หวั่นเกิดวิกฤติด้านการบรรเทาทุกข์
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ 5 กันยายน 2560 ว่ามีผู้อพยพจากรัฐยะไข่ของเมียนมาเดินทางข้ามชายแดนเข้าสู่บังกลาเทศแล้ว 123, 600 คน นับแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ภายหลังกองกำลังติดอาวุธโจมตีด่านและค่ายของหน่วยความมั่นคงเมียนมา
เอเอฟพีรายงานว่า ผู้อพยพระลอกใหม่นี้เพิ่มความหวั่นเกรงว่าจะเกิดหายนภัยด้านมนุษยธรรมครั้งใหม่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังกลาเทศ ซึ่งต้องแบกรับผู้อพยพชาวโรฮีนจาอยู่แล้วราว 400,000 คนก่อนหน้าวิกฤติครั้งนี้
เดิมทีทางการบังกลาเทศพยายามขัดขวางผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ไม่ให้เข้าประเทศ โดยได้เพิ่มการลาดตระเวนตามแนวชายแดนและผลักดันชาวโรฮีนจากลับสู่เมียนมา แต่ช่วงไม่กี่วันมานี้ ดูเหมือนทางการบังกลางเทศได้ยอมล้มเลิกความพยายามขัดขวางคลื่นผู้อพยพ ที่นายกฯ เชค ฮาสินา ยอมรับเมื่อวันอังคารว่า เป็น “ภาระหนัก” ของประเทศของเธอ
นูร์ ข่าน ลิตัน นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนชาวบังกลาเทศ กล่าวเตือนว่า วิกฤติด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่กำลังปรากฏ ผู้อพยพเหล่านี้มีทั้งที่อาศัยในค่ายลี้ภัย, บนถนน, สนามของโรงเรียนและอยู่กันกลางแจ้ง พวกเขากำลังถางป่าเพื่อสร้างที่พักอาศัยแห่งใหม่ และประสบกับวิกฤติขาดแคลนน้ำและอาหาร
พวกเจ้าหน้าที่รักษาดินแดนของเมียนมากล่าวกันว่า พวกที่กำลังหนีภัยยังเสี่ยงต่อการเหยียบกับระเบิดตามแนวชายแดนบังกลาเทศ-เมียนมาด้วย
มันซูรุล ฮาซัน ข่าน ผู้บังคับการกองกำลังรักษาดินแดนของบังกลาเทศ บอกกับเอเอฟพีว่า เมื่อเช้าวันอังคาร มีเด็กโรฮีนจา 2 คนได้รับบาดเจ็บ โดยคาดว่าเกิดจากการเหยียบกับระเบิดขณะพยายามหนีข้ามแดน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากหญิงโรฮีนจารายหนึ่งโดนระเบิดขาขาดข้างหนึ่งในบริเวณเดียวกันเมื่อวันจันทร์ และปลุกความหวาดกลัวว่าระเบิดเหล่านี้อาจเกิดจากการจงใจวางไว้ตามแนวชายแดน แม้จะข้อมูลจะยังไม่ชัดเจนว่าระเบิดเกิดได้อย่างไร แต่ข่านซึ่งยืนยันว่าเหตุเกิดในฝั่งเมียนมา กล่าวว่าเขาเชื่อว่าเป็นกับระเบิด
ผู้บาดเจ็บทั้ง 3 คนถูกส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองคอกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนมากที่สุด
อีกด้านหนึ่งข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลเมียนมาเปิดเผยเช่นกันว่า มีชาวพุทธและชาวฮินดูในรัฐยะไข่อย่างน้อย 11,000 คน ต้องอพยพหนีการวางเพลิงและการโจมตีโดยกองกำลังติดอาวุธภายไปพักพิงในค่ายลี้ภัยภายในเมียนมา.
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " โรฮีนจาเข้าบังกลาเทศแล้ว123,600คน "