
ความเคลื่อนไหวเงียบๆแต่ส่งผลสะเทือนสูงที่ดำเนินอยู่ในพื้นที่ต่างๆของทุกภาคในขณะนี้คือการเตรียมการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 พร้อมกับการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอื่นๆอีก 39 จังหวัดทั่วประเทศไทย
กระบวนการคัดเลือกซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งกำหนดหลักการและวิธีการไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามพ.ศ. 2540 และกฎกระทรวงพ.ศ. 2542
โดยในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามหมวด 4 ว่าด้วยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาตรา 23 บัญญัติว่าจังหวัดใดมีราษฎรนับถือศาสนาอิสลามและ มีมัสยิดตามมาตรา 13 ไม่น้อยกว่าสามมัสยิดให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกาศให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคณะหนึ่งประกอบด้วยกรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกิน 30 คน
การคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการให้อิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเป็นผู้คัดเลือกทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฏกระทรวง
ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันเป็นประธานกรรมการรองประธานกรรมการ เลขานุการและตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น
ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานกรรมการรองประธานกรรมการเลขานุการและกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในราชกิจจานุเบกษา
เปิดกฎกระทรวงกำหนดวิธีคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
สำหรับวิธีการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกำหนดไว้ในกฎกระทรวงพ.ศ. 2542 ข้อ9ระบุว่าเมื่อคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยประกาศให้จังหวัดใดมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดว่างลงให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ มีการประชุมอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเพื่อคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ในการประชุมคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตามวรรค 1 ต้องมีอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นซจึงจะเป็นองค์ประชุมและให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธานในที่ประชุม
ให้อิมามประจำมัสยิดที่มาประชุมคนหนึ่งมีสิทธิ์เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ไม่เกินจำนวนของกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้นหรือไม่เกินจำนวนต่ำแหน่งที่ว่างลงแล้วแต่กรณี
ข้อ 10 ในกรณีที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมีจำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือกในคราวนั้น ให้ถือว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อเหล่านั้นได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ข้อ 11 ในกรณีที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อมีจำนวนมากกว่ากรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือกในคราวนั้นให้อิมามประจำมัสยิดที่มาประชุมออกเสียงลงคะแนน
ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลำดับลงมาจนเท่ากับจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือกเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก เป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ถ้ามีผู้ได้รับการคัดเลือกได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียงลำดับตามวรรคสองได้ให้ประธานในที่ประชุมจับฉลากให้ได้ผู้ได้รับการคัดเลือกครบจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะทำการคัดเลือกในคราวนั้น
เมื่อได้ครบจำนวนแล้วให้ผู้ว่าราชการ จังหวัดแจ้งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกและเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไปยังกระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ดีมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17 ( มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ / เป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด / เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี / เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด / เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา / เป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข / ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้นล้มละลาย / ไม่เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดละหุโทษ / ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ / ไร้ความสามารถหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ/หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฏกระทรวงแต่ไม่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง )
(2) เป็นสัปปุบุรุษประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนวันคัดเลือก
(3)มีภูมิลำเนาเอยู่ในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนวันคัดเลือก
อำนาจหน้าที่กรรมการอิสลามประจำจังหวัด
สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดบัญญัติไว้ในมาตรา 25 – 27 พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามสรุปว่ากรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีเมื่อตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดว่างลงก่อนสิ้นวาระ ให้มีการคัดเลือกกรรมการแทนภายใน 90 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง เว้นแต่ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนถึงกำหนดตามวาระไม่เกิน 180 วันและยังมีกรรมการเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกจะไม่ให้มีการคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ กรรมการที่ได้รับ การคัดเลือกแทนอยู่ในตำแหน่ง เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
2.กำกับดูแลและตรวจตราการปฏิบัติงานของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดในจังหวัดและจังหวัดอื่นๆตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย
3.ประนีประนอมหรือชี้ขาด คำร้องทุกข์ของสัปปุรุษประจำมัสยิดซึ่งเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
4.กำกับดูแลการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิดให้เป็นไปโดยเรียบร้อย
5.พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
6.สอบสวนพิจารณาให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 40 (4)
7.สั่งให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพักหน้าที่ระหว่างถูกสอบสวน
8. พิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้ง การย้าย การรวมและการเลิกมัสยิด
9.แต่งตั้งผู้รักษาการแทนในตำแหน่งอิหม่าม คอเต็บและบิลาลเมื่อตำแหน่งดังกล่าวว่างลง
10.ออกหนังสือรับรองการสมรสและการหย่าตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
11.ประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว และมรดกตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามเมื่อได้รับการร้องขอ
12.จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เอกสารและบัญชีรายรับ รายจ่าย ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบันและรายงานผลการดำเนินงานฐานะการเงินและทรัพย์สินให้คณะกรรมการกลางอิสลาม แห่งประเทศไทยทราบปีละหนึ่งครั้งภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
13.ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามในจังหวัด
เปิดตัวแคนดิเดตคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สองทีมสูสี สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และใน12จังหวัดภาคใต้ตอนบน ภาคกลาง การต่อสู้เข้มข้น
เริ่มเปิดตัวมาบ้างแล้วในกรุงเทพมหานครมีทีมเก่าอย่างอาจารย์สมัย เจริญช่าง จะรักษาฐานเดิมได้มากน้อยแค่ไหนและทีมใหม่ ประกาศ การ..เปลี่ยน…ที่มีอิหม่ามมานิต ทองแสงแยกตัวออกมาโดยที่มีขุนพลฮาลาลคู่ใจที่ยืนยันตอนแรกว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป แต่หลังมีใบปลิวโจมตี ดร.วินัย ดะห์ลันส่งถึงอิหม่าม กทม.ทุกมัสยิด จึงหันกลับมาฮึดสู้เพื่อรักษาศักดิ์ศรีวงค์ตระกูลและเป็นทางเลือกใหม่ ทำให้ทีมอิหม่ามมานิตหึกเหิมมีกำลังใจขึ้นเป็นกอง 184 มัสยิด จำนวนอิหม่าม 177 คนจะเลือกคละหรือเลือกเป็นทีม
คงจะวัดกันด้วยวิสัยทัศน์ การนำเสนอนโยบาย การบริหารองค์กรและตัวบุคคลเป็นหลัก ความเป็นญามาอะห์ อิหม่ามกรุงเทพทั้ง 177 คนซึ่งเป็นบุคลากรของสังคม เป็นบุคคลที่มีเกียรติ มีความรู้ ต้องเปิดใจ ด้วยวิจารณญาน ด้วยองค์ความรู้ พิจารณาด้วยความรอบคอบและการครอบงำด้วยประการทั้งปวง เห็นกับประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องโดยยึดแบบฉบับของท่านศาสดานบีมูฮำหมัด (ซ.ล.)เป็นแบบฉบับในการพิจารณาตัดสินการคัดเลือก และขอทั้งสองทีมนำเสนอและวัดกันด้วยนโยบายเป็นหลักแล้วให้อิหม่ามในกรุงเทพฯฟรีโหวต เราคงจะรอดูรูปธรรมในการนำเสนอนโยบายของทั้งสองทีมต่อไป
แน่นอน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องยอมรับว่ากระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง
ที่จังหวัดยะลาสถานการณ์การแข่งขันเบาหน่อยทีมเดิมไม่ติดยึดในตำแหน่งประธาน บริหารแบบยามาอะห์ ทีมบาบอแอ นายสะมาแอ ฮารี ยังเหนียวแน่นทีมเดิม 30 เสียงยังแน่นเสริมแทนคนที่เสียชีวิตมาบ้าง ค่อนข้างนอนมาคู่แข่งยังไม่เปิดตัวมากนักอาจมีอิสระมาสมัครบ้าง
ทีจังหวัดปัตตานีทีมเก่าคือนายแวดือราแม มะมิงจิที่เคยได้คะแนนอย่างถล่มทลาย519เสียงจากจำนวน 656 มัสยิดยกทีมกรรมการ 30 คน อาจถูกแย่งชิงเกินครึ่งหรือไม่จากทีมดูแลเรื่องฮาลาลของจังหวัดปัตตานีคือนายอัสมี โต๊ะมีนา จะแบ่งคะแนนได้หรือไม่หรืออาจถูกแบ่งครึ่งหรือสูสีอยู่ที่ฝีมือ
ที่จังหวัดนราธิวาสมีหลายทีม ตอนนี้มี 3 กลุ่มทีมปัจจุบันคือบาบออิงหรือนายซาฟีอี เจ๊ะเลาะห์ยังจะรักษาฐานเดิมได้หรือไม่น่าจับตา นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัดหรือบาบอแมจะสอดแทรกมาได้บางส่วนหรือไม่ ก็มาแรงไม่เบา และอีกกลุ่มก็เป็นคนกลุ่มใหม่ประกาศตัวในนามกลุ่มกองทุน M-1 ที่มีการประกาศว่ามีอิหม่ามมัสยิดในจังหวัดนราธิวาสที่อยู่ในสังกัดเกือบ 200 คนอาจจะเป็นตัวพลิกเกมส์หรือไม่อย่างไร…คงต้องติดตาม อย่ากระพริบตา
ในจังหวัดภาคใต้ตอนบนที่น่าจับตามองคือที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทีมคนหนุ่มจากมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัรและกรรมการกลางคนเดิม ขอเข้ามาแบบยกทีมแทนประธานจังหวัดคนปัจจุบันนายรอมฎัน หาสาเมาะได้หรือไม่อยู่ที่ฝีมือของนายเขตรัฐ บินล่าเต๊ะก็น่าจับตา
ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการแข่งขันที่สูสีคู่คี่ทีมของนายกริยา กิจจารักษ์จะรักษาฐานเดิมได้หรือไม่อยู่ที่อิหม่ามในจังหวัดนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่จะยอมตามคำขอ เข้ามาอีกสมัยหรือไม่
และจังหวัดภูเก็ตก็น่าจะได้ทีมเดิมทีรวมกันอย่างเหนียวแน่นโดยไม่มีชื่อ ดต.ดร.โกมล ดุมลักษณ์ซึ่งชิงลาออกจากกรรมการกลางฯไปก่อนหน้า
ที่เข้มข้นอีกจังหวัดก็น่าจะเป็นที่ปทุมธานีที่อาจารย์เสรี ล้ำประเสริฐเป็นหัวเรือใหญ่น่าจะผ่านทีมของบาบอเลาะห์ไปได้ด้วยชั้นเชิงที่เหนือกว่าอย่างฉิวเฉียดที่ทีมบาบอเลาะห์ตั้งใจแตะสกัดโดยการร้องเรียนหน่วยราชการเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ…จะสามารถสกัดความแรงของทีมอาจารย์เสรีได้หรือไม่วันที่ 24 พฦศจิกายน 2560 คือวันตัดสิน
จังหวัดอื่นๆในภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสานอาจไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนักเพราะสายปาทานยังรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นชิงคะแนนเสียงเป็นส่วนใหญ่ใว้ได้
ที่จะมีเปลี่ยนแปลงก็จะมีทีเมืองกรุงเก่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทีมผู้ใหญ่ฟา นายประดิษฐ์ นิมา ที่ขยันเดินสายเปิดงานทั่วจังหวัดอาจคัมแบคกลับเข้ามาอีกครั้งโดยอาจมีทีมเดิมติดมาเกินครึ่ง เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เช่นกัน
ต้องยอมรับว่ากระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากนักโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครก็เช่นกัน
สาเหตุประการหนึ่งอาจเป็นเพราะกฎหมายไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีสิทธิ์ร่วมคัดเลือกเป็นการทั่วไป ฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรภาคประชาสังคมและสื่อต่างๆจะได้ออกมาจัดเวที เสวนาในหัวข้อต่างๆเช่น”บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่อการพัฒนาสังคม“เปิดเวทีให้นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรหรือผู้ที่เสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครให้ได้แถลงนโยบายและวิสัยทัศน์ตลอดจนรณรงค์ให้กระบวนการคัดเลือกเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
เพราะคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเป็นผู้นำองค์กรศาสนาในพื้นที่เท่านั้นแต่ยังมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหลากหลายในท้องถิ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเยาวชนปัญหาครอบครัวปัญหาสังคม-ชุมชน ปํญหาการศึกษาภาคฟัรดูอีนและภาคบังคับ ปัญหาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปัญหายาเสพติด ปัญหาเกี่ยวกับเศรฐกิจและการค้าของวงการมุสลิม ปัญหาอาหารฮาลาล รวมทั้งการสานสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการร่วมสถาปนาสันติสุขและความเจริญมั่นคงให้เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมต่อไป
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " จับกระแสคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เปิดตัวแคนดิเดต กรุงเทพฯสูสี 2 ทีม วัดกันด้วยนโยบายเป็นหลัก "