
โฮมสคูล (Homeshool) คือ การจัดการศึกษาโดยครอบครัว สามารถทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับแนวคิด วิถีชีวิต และสถานภาพของแต่ละครอบครัว ปัจจุบันหลายครอบครัวเลือกทำโฮมสคูลกันมากขึ้น เพราะสามารถออกแบบการศึกษาในรูปแบบที่ต้องการให้กับลูกได้ วันนี้ Halal Life ได้มีโอกาสพูดคุยกับ มัรยัม วรรณมาตร คุณแม่คนเก่งที่เลือกทำโฮมสคูลให้กับลูก เรียกได้ว่าแนวคิดของเธอนั้นน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
“เริ่มต้นจากลูกสาวคนโตถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียนค่ะ แล้วสเป็กของโรงเรียนที่เรามองไว้คือ หนึ่งต้องไม่เน้นวิชาการ เพราะการเล่นของเด็กคือการเรียนรู้ มันคือธรรมชาติของเขา เราไม่อยากเห็นลูกมานั่งท่องหนังสือเป็นนกแก้วนกขุนทอง และสองต้องใกล้บ้าน เพราะเราไม่ชอบการที่เด็ก 3 ขวบ ต้องมาอยู่บนรถนานเกินไป ไม่อยากให้เขามาเจอรถติดหรือมลภาวะต่างๆ เราก็หาโรงเรียนไปเรื่อยๆ จนเจอที่คิดว่าใช่แล้ว แต่ติดตรงที่ว่ามันไกล สุดท้ายจึงปรึกษากับสามีว่า อยากลองสอนเองดู เลยเป็นที่มาของการทำโฮมสคูลค่ะ” เธอเล่าจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน
มัรยัม เป็นแม่บ้านลูกสองที่เรียนจบเอกภาษาอังกฤษ จากที่เคยมีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย แต่อะไรคือจุดที่เธอตัดสินใจมาเป็นแม่บ้านและสอนลูกอย่างเต็มตัว “เมื่อได้แต่งงาน มีการทำข้อตกลงระหว่างสามีว่า เขาต้องการผู้หญิงคนนึงที่พร้อมจะอยู่บ้าน ทำหน้าที่ภรรยาและแม่ของลูกได้อย่างสมบูรณ์ เราจึงตั้งใจที่จะเป็นภรรยาและแม่ที่ดีที่สุด โดยสามีเห็นด้วยกับการทำโฮมสคูล เขาสนับสนุนเราทุกอย่าง และเป็นกำลังใจสำคัญ”
เธอเล่าว่า ตอนเด็กๆ แม่ของเธอปลูกฝังเรื่องการศึกษามาก จึงทำให้เธอรักการเรียน และรักการอ่านหนังสือ จนวันที่เธอได้เป็นแม่ ถึงแม้จะไม่ได้ประกอบอาชีพในฝัน หรือได้ไปทำงานที่มีโอกาสได้ก้าวหน้าอีกมากมาย การเป็นแม่บ้านก็สามารถนำคลังความรู้ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้กับลูกได้ และเธอก็ทำมันออกมาได้อย่างดีเยี่ยม
“เราสนใจเรื่องสอนลูกสองภาษา ด้วยความที่เราได้ภาษามาลายูด้วย จึงอยากให้ภาษากับเขา ช่วงอายุ 0-3 ปี เด็กมีพัฒนาการมากกว่าผู้ใหญ่อย่างเรา ถ้าเขาได้ยินคำไหนปุ๊ปเขาจะจำได้ทันที เป็นความมหัศจรรย์ที่อัลลอฮฺให้ และมันทำให้ได้เราพัฒนาตัวเอง เราเรียนเกี่ยวกับภาษามาก็จริง แต่พอไม่ได้ใช้ก็มีหลงลืมไปบ้าง พอมีลูกเราก็ได้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่”
“การเลี้ยงลูกต้องมีแบบแผน ที่สำคัญพ่อกับแม่ต้องไปในทิศทางเดียวกัน ลูกจะได้ไม่สับสน เราเป็นคนชอบหนังสืออยู่แล้ว ชอบหาสื่อดีๆ ให้ลูก จึงออกแบบกิจกรรมโดยเน้นการเล่น แต่สอดแทรกความรู้ลงไปด้วย เช่นการต่อจิกซอผลไม้ เราก็จะบอกลูกให้ไปหยิบผลไม้ในตู้เย็น สอนเขาเรื่องสี กลิ่น รส และจบด้วยการทำอาหาร พยายามทำให้หนึ่งกิจกรรมนั้นครอบคลุมทุกวิชา เขาจะได้เรียนรู้หลายๆ ด้าน”
การออกแบบกิจกรรมโดยแทรกความรู้ในแต่ละรายวิชาลงไป ทำให้ลูกรู้สึกอิสระกับการเรียน โดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด ถึงแม้จะเน้นกิจกรรมแต่เธอก็วางแผนการสอนในแต่ละวันไว้ด้วย เช่น วันจันทร์เรียนอัลกุรอาน วันอังคารเรียนชีวประวัตินบี วันพุธเรียนภาษาอังกฤษ และมีวันสำหรับทำกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ ซึ่งเป็นแผนที่ปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นไปตามความเหมาะสม
อีกหนึ่งกิจกรรมที่เธอกำลังจะทำกับลูกคือ ปลูกผักสวนครัวที่หลังบ้าน “เด็กกับธรรมชาติเป็นของคู่กัน ธรรมชาติจะหล่อหลอมเขาให้ใจเย็นและอ่อนโยน ปัจจุบันเราจะชินกับภาพที่ผู้ปกครองส่งมือถือหรือแท็ปเล็ตให้ลูกเล่น ซึ่งเราก็มีให้เล่นเหมือนกันแต่ต้องจำกัดเวลา มีการเตือนเป็นระยะ มีการบอกว่าถ้าเข็มยาวชี้เลขนี้คือหมดเวลาแล้วนะ ก็เป็นการสอนเขาเรื่องเวลาและความมีวินัยไปในตัว”
“พอลูกสนุก เราก็มีความสุข มันได้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ที่เรียกว่า “ช่วงเวลาคุณภาพ” ที่แม่และลูกควรมีร่วมกัน มันคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ลูกเชื่อฟังเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต”
สิ่งที่เธอคาดหวังในการทำโฮมสคูลคือ อยากเห็นลูกมีความสุข ไม่เหนื่อยหรือเบื่อหน่ายกับการไปโรงเรียน เมื่อถามถึงผลตอบรับจากลูก เธอเล่าอย่างภูมิใจว่า สิ่งที่จับต้องได้เลยคือลูกได้ภาษาที่สอง สามารถโต้ตอบได้ในระดับง่ายๆ ลูกจำคำศัพท์ได้เยอะ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้คาดหวังในด้านวิชาการมาก
“ส่วนสิ่งที่จับต้องไม่ได้คือ ความใกล้ชิดระหว่างแม่และลูก สายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา เขาจะเชื่อฟังเรา เพราะเราคือคนสำคัญในโลกของเขา เด็กช่วงอายุไม่เกิน 12 ปี จะมีเวลาอยู่กับแม่นานที่สุด และโอกาสนี้มีไม่นาน เราควรคว้ามันไว้และตั้งใจทำช่วงเวลานี้ให้มีคุณภาพที่สุด”
สังคมของเด็กโฮมสคูล ที่หลายๆ คนอาจคิดว่าพวกเขาอาจไม่มีโอกาสได้เจอเพื่อนๆ เธอเล่าว่าโฮมสคูลนั้นกลับทำให้ลูกได้เจอผู้คนมากมาย โดยการพาไปเปิดหูเปิดตาในโลกภายนอก สอนลูกว่าหากเจอผู้ใหญ่จะเข้าหาอย่างไร หากเจอรุ่นพี่ต้องทำตัวแบบไหน ให้ลูกได้เจอกับคนหลายกลุ่ม ผลดีคือลูกจะปรับตัวเก่ง มีชั้นเชิงในการเข้าสังคม และเข้ากับคนได้ง่าย ในขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันไปโรงเรียนก็เจอแต่รุ่นเดียวกันทั้งวันทุกๆ วัน
“ข้อดีของการทำโฮมสคูลคือ หนึ่ง-ลูกสุขเราก็สุข สอง-การเรียนการสอนที่เราออกแบบเองได้ตามความต้องการและความเหมาะสม สาม-ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่ลูก และสี่-เห็นการเติบโตของลูกตลอดเวลาโดยไม่ต้องรอให้ใครมาบอก หากเราส่งลูกไปโรงเรียน ครูหนึ่งคนอาจดูแลและใส่ใจเด็กทั้งห้องไม่ครบ โฮมสคูลทำให้เห็นว่าลูกเราขาดตกบกพร่องตรงไหน และเรามีโอกาสที่จะเข้าไปแก้ไขทันที
ส่วนข้อจำกัดสำหรับเราคือ ตอนแรกมันจะยาก เพราะต้องหาข้อมูลเยอะมาก ต้องลงแรง การทำโฮมสคูลต้องใช้เวลาและความใส่ใจมาก เราต้องมีเวลาและเต็มที่กับมันจริงๆ”
เมื่อถามถึงอนาคตของลูก ที่หลายครอบครัวอยากให้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ แตกต่างกันไปนั้น เธอบอกว่า “เราไม่ได้คาดหวังให้เขาเก่งกาจอะไร สิ่งเดียวที่หวังคือ การเป็นมุสลิมที่ดีและมีความสุขกับทุกขณะของชีวิต ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร ทำอะไร ขอให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาเป็นมุสลิมที่ดีได้ ต้องเริ่มจากพ่อแม่ที่มีคุณภาพ ผลิตลูกที่มีคุณภาพออกมา สร้างประโยชน์แก่คนรอบข้าง สังคม และอิสลาม”
เธอทิ้งท้ายถึงคุณแม่ที่มีความคิดอยากทำโฮมสคูลว่า “โฮมสคูลไม่ได้ทำวันเดียวแล้วจบ ต้องทำเป็นปี อาจมีอุปสรรคบ้าง ต้องสู้ ปรึกษาคนที่มีประสบการณ์ หาข้อมูลให้มาก แล้วจะรู้ว่าเราชอบแนวไหน สะดวกแบบไหน และทำออกมาในรูปแบบที่เราทำไหว เพราะถ้าแม่ทำแล้วไม่มีความสุขมันก็จะถ่ายทอดมาสู่ลูกด้วย ถ้าวันไหนที่ไม่ไหวก็ปล่อยไห้ลูกเล่นเลย เวลาเราทำงานบ้านอะไรที่เขาช่วยได้ก็ให้ลูกมาช่วยทำ เพราะแค่นี้ก็ถือเป็นโฮมสคูลแล้ว”
หวังว่ารูปแบบการทำโฮมสคูลของเธอ จะเป็นแนวทางให้กับครอบครัวที่กำลังมองหาการศึกษาให้ลูกๆ ได้นำไปปรับใช้ในรูปแบบของตัวเอง เพราะที่สุดแล้ว โรงเรียนแรกของลูก ก็คือแม่ ดังนั้นคุณแม่ทั้งหลายจึงอย่าลืมใส่ใจและให้เวลากับลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในรูปแบบใดก็ตาม
เรื่องโดย : ณัฐญาดา สุขภิญโญ
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " มัรยัม วรรณมาตร คุณแม่ผู้เลี้ยงลูกด้วย “โฮมสคูลฉบับมุสลิมผู้ศรัทธา” "