
สะกดคำว่า “ให้” ด้วยการลงมือทำ เอาชนะความหิวโหยของผู้ยากไร้ด้วยโครงการอาหารแจกฟรี
เรื่องราวการต่อสู้ของ Zamir Hassan เพื่อเอาชนะความหิวโหยของผู้ยากไร้ ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2000 ขณะที่เขาอาสาเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนของลูกชาย ทำหน้าที่จัดเตรียมอาหารภายใต้โครงการที่เรียกว่า “soup kitchen” (โรงครัวแจกอาหารสำหรับคนยากจน) ในย่านชุมชนคนมีฐานะละแวกใกล้บ้านในเมืองนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันนั้นเขาและอาสาสมัครอีกหลายคนสามารถจัดเตรียมอาหารให้กับคนยากจนได้มากถึง 200 ราย “ผมเพิ่งรู้ว่ามีคนที่ต้องอยู่ในสภาพหิวโหยอีกมากมายรอบตัวผม และผมก็ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามีพวกเขาอยู่ในละแวกนี้ ในฐานะที่เป็นมุสลิมคนหนึ่ง ผมไม่ควรจะเข้านอนอย่างสุขสบายหากเพื่อนบ้านของผมยังต้องอยู่ในสภาพที่อดอยากหิวโซ ตั้งแต่วันนั้นผมจึงเริ่มคิดได้แล้วกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า นี่ผมเป็นมุสลิมประสาอะไร?!” Zamir Hassan ในฐานะผู้ก่อตั้งโครงการ “มุสลิมต้านความโหยหิว” (Muslims Against Hunger) เล่าให้ฟังผ่านการสัมภาษณ์ทางสไกป์จากโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตัน
Hassan เป็นวิศวกรซอฟแวร์ที่เติบโตในปากีสถานและย้ายมาตั้งรกรากในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1973 เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ เคยอาศัยอยู่ในกรุงนิวยอร์คแต่ปัจจุบันย้ายมาอยู่ในเมืองนิวเจอร์ซีย์ “ผมอยู่ในวงการไอทีมานานก่อนที่โลกจะรู้จักไอทีเสียอีก ผมจึงมีชีวิตความเป็นอยู่และฐานะที่ดี สภาพการเงินไม่เคยขาดตกพร่อง” Hassan เล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มเมื่อได้ย้อนเรื่องราวในอดีต ตั้งแต่วันนั้นที่เขามีส่วนร่วมในโครงการ “soup kitchen” เขาก็ได้อุทิศตนเพื่อรับมือกับความหิวโหยในสหรัฐอเมริกาเรื่อยมา
Hassan เล่าให้ฟังถึงที่มาของคำว่า “soup kitchen” ว่าในอดีตมีชาวคริสต์คนหนึ่งได้เรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันบริจาคอาหารเพื่อการกุศล แล้วทุกคนก็นำอาหารแต่ละอย่างมาไม่เหมือนกัน เพื่อจะให้ได้อาหารเหมือนกันทุกคน ชายหนุ่มคนนี้จึงตัดสินใจใส่อาหารที่ได้มาทั้งหมดลงไปในหม้อใบใหญ่แล้วปรุงใหม่ให้ออกมาเป็นซุป เช่นเดียวกับสมัยนี้ ตัวเลือกเมนูอาหารมักจะเป็นปัญหาสำหรับ Hassan อยู่บ่อยครั้ง เขาและเพื่อนๆ จึงตัดสินใจทำโรงครัวสำหรับแจกอาหารให้คนยากจนที่มัสยิดขึ้นมาในที่สุด บางครั้งเพื่อนของเขาก็เสนอทำเมนูพิซซ่า สปาเก็ตตี และอาหารอิตาลี แต่ Hassan ปฏิเสธความคิดดังกล่าวเนื่องจากมองว่าที่บ้านของเขาทานไก่ทันดูรี ซาโมซ่า บัคลาว่าและเมนูอาหารตะวันออกอื่นๆ เขากล่าวว่ามุสลิมควรจะแบ่งปันอาหารเช่นเดียวกันกับที่เรารับประทานกันที่บ้าน เขากล่าวต่อไปด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “ในฐานะมุสลิม ผมควรจะแบ่งปันอาหารจากจานของผมเอง พวกเราส่วนใหญ่ปฏิบัติตามบัญญัติศาสนา แต่เราไม่ค่อยนำศาสนามาใช้ในการดำรงชีวิต และเพื่อการมีชีวิตอยู่ทุกวันของเรา เราจะต้องรู้จักแบ่งปันอาหารที่เรามีโอกาสได้ทานให้ผู้อื่นได้มีโอกาสด้วยเช่นเดียวกัน” ปัจจุบันโรงครัวของพวกเขาเสริฟอาหารหลากหลายเมนูขึ้นอยู่กับอาหารที่พ่อครัวอาสาสมัครในแต่ละวันทานกันเป็นประจำที่บ้านของตนเอง
ถึงแม้ว่าการบริจาคทานจะเป็นส่วนหนึ่งในบัญญัติของศาสนาอิสลาม แต่การขาดแคลนพ่อครัวอาสาสมัครที่จะอาสาเข้ามาทำอาหารให้กับโรงครัวแจกอาหารให้คนยากจนก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำหรับ Hassan ด้วยเหตุนี้เขาจึงเคยแอบอำเพื่อนๆ ของเขาด้วยการเชิญชวนให้มาที่บ้านของเขา และเมื่อเพื่อนๆ มาถึงเขาจะรบเร้าให้เพื่อนช่วยออกไปทำธุระด่วนข้างนอกเป็นเพื่อนเขา แล้วเขาก็แอบทำเซอร์ไพร้ส์ด้วยการขับรถพาเพื่อนไปที่โรงครัวแล้วช่วยกันทำอาหารพร้อมเสริฟให้คนยากจนได้ทาน เมื่อเสร็จจากการอาสาทำกับข้าวแล้วเขาจึงจะขับรถพาเพื่อนกลับมาที่บ้านของเขาและรับประทานอาหารเย็นแนวตะวันออกด้วยกัน และโดยส่วนใหญ่แล้ว ประสบการณ์ในการได้ไปช่วยอาสาทำอาหารให้คนจนที่โรงครัวมักจะทำให้เพื่อนๆ ของเขาหลงใหลกิจกรรมดังกล่าวไปโดยไม่รู้ตัว พวกเขาจึงมักจะขอให้ Hassan ชวนพวกเขามาช่วยอีกครั้งในคราวต่อไป “เป้าหมายของผมคือเพื่อต้องการที่จะให้มุสลิมส่วนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม ผมอยากเปลี่ยนแปลงความคิดของพวกเขา ว่าเราจะต้องนำศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่รู้จักแค่ปฏิบัติธรรมเพียงอย่างเดียว” Hassan กล่าว จุดยืนของเขาคือ อิสลามไม่ได้มีเพียงแค่การปฏิบัติศาสนกิจหรือสร้างมัสยิดเท่านั้น แต่มันคือการบริจาคทานทุกวัน เช่นเดียวกับที่มุสลิมเราจะต้องละหมาดห้าเวลาทุกวัน เขาได้ความคิดเหล่านี้จากคำสอนในอัลกุรอาน ที่มักจะกล่าวถึงการละหมาดและการบริจาคทานไว้ด้วยกันอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้เขาจึงก่อตั้งโครงการต่อสู้ความหิวโหยและอีกหลายโครงการเกิดขึ้นตามมามากมาย
ในปี 2011 Hassan ได้เริ่มก่อตั้งโครงการ “Hunger Van” (รถตู้เพื่อผู้หิวโหย) ซึ่งเป็นโรงครัวแจกอาหารเคลื่อนที่ต่อยอดจากโรงครัวเวอร์ชั่นเดิม โครงการนี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อให้เข้าถึงผู้ยากไร้มากขึ้นแทนที่จะรอให้พวกเขาเดินเข้ามาหาที่โรงครัวเพียงอย่างเดียว โดยอาสาสมัครท้องถิ่นจะลงทะเบียนไว้กับทางเว็บไซต์ของ Hunger Van จากนั้น Hassan จะทำหน้าที่ขับรถตู้มาหาพวกเขาถึงที่และสอนวิธีการทำแซนด์วิชเพื่อให้พวกเขาได้ลงมือทำด้วยตัวเอง Hassan เตรียมแซนด์วิชไว้ให้เลือกสองชนิดโดยใช้ชื่อว่าแซนด์วิช Honey bee และ แซนด์วิช Peace sandwich
จากนั้นเขาจะขับรถตู้คันดังกล่าวไปยังบริเวณชุมชนที่ทางอาสาสมัครได้แจ้งว่ามีคนจรจัดอาศัยอยู่ แล้วแจกแซนด์วิชให้ทานกัน “เมื่อปีที่แล้วเราแจกอาหารได้มากถึง 30,000 มื้อ โดย 150 มื้อนั้นมาจากผู้บริจาคต่างศาสนิกเช่นจากโบสถ์คริสต์ โบสต์ยิว และวัดฮินดู ในปี 2016 เราได้เข้าร่วมงานรำลึก 9/11 และได้มีโอกาสร่วมสนับสนุนมื้ออาหารจำนวน 50,000 มื้อในวันนั้น” Hassan กล่าวเพิ่มเติม
หลังจากที่มีชาวต่างศาสนิกเข้ามามีส่วนร่วม Hassan จึงได้ต่อยอดขยายโครงการจาก Muslims Against Hunger (มุสลิมต้านความโหยหิว) มาก่อตั้งเป็นโครงการใหม่มีชื่อว่า Faith Against Hunger (ศรัทธาต้านความโหยหิว) ที่เป็นโครงการร่วมศรัทธาเพื่อต่อสู้ความอดอยากและหิวโหย สำหรับ Hassan แล้ว “ความหิวโหยไม่มีศาสนา” เขามักตำหนิมุสลิมบางคนที่ลังเลใจจะร่วมทำอะไรกับศาสนาอื่น ไม่เพียงเฉพาะอาหารเท่านั้นที่เขาใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่สารแห่งการร่วมศรัทธา เพราะอย่างเมื่อปีที่แล้วก็มีโรงเรียนสอนศาสนาของฮินดูโรงเรียนหนึ่งในนิวเจอร์ซีย์ ได้เชิญให้เขาไปร่วมสอนในห้องเรียนเกี่ยวกับการบริจาคทาน นอกจากจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาสาสมัครแล้ว Hassan ยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้เรื่องต้นทุนงบประมาณและอดทนกับกระแสทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง
ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2015 หลังการโจมตีในกรุงปารีสผ่านไปหนึ่งวัน วันนั้น Hassan มีงานแจกอาหาร Hunger Van ในบอสตันกับอาสาสมัครท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง แล้วจู่ๆ ก็มีคนหนึ่งจากกลุ่มคนจรจัดตะโกนใส่หน้าอาสาสมัครที่คลุมฮิญาบปิดหน้า พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าในแซนด์วิชนั้นอาจมียาพิษเจือปนอยู่ ในฐานะที่เป็นจิตแพทย์ อาสาสมัครหญิงคนนั้นจึงหัวเราะทั้งๆ ที่ในใจเธอเองก็ยังแปลกใจ แต่เธอก็พยายามชักชวนชายจรจัดคนนั้นสนทนาพาที และเธอก็ได้สยบความกลัวของเขาด้วยการเสนอว่าเธอสามารถลองทานให้ดูก่อนได้เพื่อความสบายใจ แล้วเธอก็พยายามโน้มน้าวชายคนนั้นให้ลองชิมแซนด์วิชดู ผ่านไปไม่กี่นาทีก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นกับคนจรจัดอีกคนหนึ่ง หลังจากที่ได้พยายามสงบสติอารมณ์แล้วชายคนนั้นถามถึงต้นกำเนิดของแซนด์วิชที่แจก จนสุดท้าย Hassan ต้องตัดสินใจเปลี่ยนชื่อแซนด์วิชฮัมมูสนั้นมาเป็น Peace sandwich แทน เนื่องจากทั้งชาวอาหรับและชาวยิวต่างก็อ้างว่าแซนด์วิชฮัมมูสนั้นมีต้นกำเนิดมาจากดินแดนของตนเอง แม้ทั้งคู่ไม่ได้ต่อสู้จริงจังอะไรแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน Tarek Sharaf อาสาสมัครมุสลิมที่ทำงานกับ Hassan เล่าว่า เขาไม่เคยเจอเหตุการณ์เชิงลบที่ไหนมาก่อนนอกจากที่บอสตันในวันนั้น ตรงกันข้าม สิ่งที่เขาพบเจออยู่บ่อยๆ คือการขอบคุณและความซาบซึ้งใจของคนที่ได้รับมากกว่า Sharaf จัดทำโรงครัวให้คนยากจนที่มัสยิดในชุมชนของเขาเดือนละครั้ง “พี่ Hassan ทำงานที่น่าประทับใจมาก ผมคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่มุสลิมเราจำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เราต้องอยู่ในภาวะแวดล้อมเช่นนี้” Sharaf สนับสนุนข้อคิดเห็นของ Hassan เกี่ยวกับการปฏิบัติตามความเชื่อในศาสนาผ่านการกระทำ แทนที่จะมานั่งเทศน์บรรยายธรรมด้วยวาจาเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะมุสลิมรุ่นใหม่ที่ได้แสดงให้เห็นถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้บริการชุมชนมากขึ้น “พวกเขาดูสนุกกับการสร้างความแตกต่าง” เขากล่าว “ผมมักจะย้ำเตือนพวกเขา (มุสลิมรุ่นใหม่) อยู่เสมอว่าท่านศาสดามูฮัมหมัดเคยให้อาหารแก่คนยากจนถึง 70 คนต่อวัน” เขากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าโครงการ Muslims Against Hunger (มุสลิมต้านความโหยหิว) เคยเป็นหนึ่งนวัตกรรมใหม่ที่แตกต่างเมื่อตอนเริ่มต้น แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการดีๆ คล้ายๆ กันนี้อีกมากมายเกิดขึ้นตามมา
Sharaf เป็นอาสาสมัครให้กับองค์กร Pious Projects of America ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลไม่หวังผลกำไรที่ทำหน้าที่คอยเชื่อมโยงโครงการต่างๆ ให้กับผู้บริจาคในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ภารกิจขององค์กร Pious Projects of America นี้ได้ระบุไว้ในเว็บไซต์ว่า “เป็นองค์กรที่สร้างแนวทางให้ผู้คนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการการกุศลเพื่อมนุษยธรรมต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายกับองค์กรการกุศลที่ดีที่สุดหลายแห่ง และเป็นองค์กรที่คอยพัฒนาแหล่งระดมทุนเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้ามาบริจาคในหลายช่องทางมากเท่าที่ต้องการได้ในแห่งเดียว” ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาองค์กรนี้ได้มีโอกาสแจกจ่าย “ถุงต้านภัยหนาว” ที่ประกอบด้วยถุงมือ ผ้าห่ม ถุงเท้า หมวก และอาหารว่าง ให้กับบุคคลจรจัดในนิวเจอร์ซีย์อีกด้วย แต่อนิจจาที่ในสหรัฐอเมริกานั้นมีอัตราคนเร่ร่อนจรจัด อัตราความหิวโหยและความยากจนที่สูงเกินรองรับได้ แม้จะมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้นมากมายแล้วก็ตาม
จากการรายงานขององค์กร “Do Something” ระบุว่าในสหรัฐอเมริกามีจำนวนประชากรที่ต้องทรมานกับความหิวโหยมากถึง 45 ล้านคน ที่ตลกร้ายคือปริมาณการทิ้งอาหารในอเมริกานั้นมีมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในทุกปี Hassan ให้นิยามแก่ความอดอยากว่าเป็น “การขาดแคลนโอกาสในการได้รับอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิกในครอบครัว”
เพื่อสานต่อความพากเพียรที่น่าสนับสนุนของเขา ปัจจุบัน Hassan ยังคงเดินทางด้วยรถตู้ Hunger Van ของเขาไปทั่วทุกมลรัฐในอเมริกาเพื่อสอนและเผยแพร่ให้ผู้อื่นถึงวิธีการเริ่มต้นทำโรงครัวแจกอาหาร เขาฝันอยากก่อตั้งโรงครัวแจกอาหารให้กับทุกมัสยิด เพื่อเป็นช่องทางให้มุสลิมทุกคนได้รู้จักฝึกการบริจาคทานด้วยการให้อาหารแก่ผู้อื่นเป็นประจำทุกวัน เขากล่าวสรุปให้ฟังก่อนจบการสนทนาด้วยความมุ่งมั่นว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลงมือทำในสิ่งที่พูด หยุดพูด แล้วลงมือทำ”
แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Zamir Hassan – a Software Engineer Who is Combatting America’s Hunger Crisis
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ชาวมุสลิมผู้ต่อสู้กับความหิวโหยของอเมริกา ด้วยโครงการอาหารแจกฟรี "