วันเสาร์ 10 พฤษภาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ข่าวมุสลิม > ฮาลาล จากหลักการศาสนาสู่โอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ฮาลาล จากหลักการศาสนาสู่โอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

หมวดหมู่ : ข่าวมุสลิม เปิดอ่าน 200 ครั้ง

ฮาลาล เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึงสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ เช่น อนุมัติให้กิน อนุมัติให้ดื่ม รวมถึงอนุมัติให้กระทำ  การอนุมัติหรือห้ามสิ่งใดในศาสนาอิสลามเป็นคำสั่งใช้ที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า และมาจากศาสนทูตของพระองค์เท่านั้น ถือเป็นหลักการสำคัญที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะมุสลิมมีความเชื่อมั่นศรัทธาว่าสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงอนุมัตินั้นเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ส่วนสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงห้ามย่อมเป็นภัยต่อชีวิต

ปัจจุบันประชากรมุสลิมทั่วโลกมีมากกว่า 1,800 ล้านคน เป็นประชากรส่วนใหญ่ใน 57 ประเทศ และกระจายตัวอยู่ในอีกกว่า 110 ประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมฮาลาลเติบโตขึ้นมากในหลายปีที่ผ่านมา จากการประเมินโดย Dubai Chamber ในปี พ.ศ. 2557 พบว่าตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หากรวมผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เข้าไปด้วย มูลค่าจะเพิ่มสูงถึง 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว ส่งผลให้ฮาลาล หลักปฏิบัติในศาสนาอิสลามแปรสภาพเป็นเศรษฐกิจฮาลาลที่มีมูลค่ามหาศาลไปเป็นที่เรียบร้อย

เครื่องหมายฮาลาลของประเทศต่างๆ

ผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน คือ ออสเตรเลีย ตามด้วยบราซิล อาร์เจนตินา แคนาดา อินเดีย และนิวซีแลนด์ โดยออสเตรเลียส่งสินค้าฮาลาลไปขายกว่าใน 70 ประเทศทั่วโลก ขณะที่บราซิลครองตลาดตะวันออกกลาง ตุรกีและยุโรป

จากตัวเลขการเติบโตของประชากรมุสลิมและมูลค่าตลาดของเศรษฐกิจฮาลาล ส่งผลให้หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลกให้ความสนใจ และกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อหวังชิงส่วนแบ่งตลาดฮาลาลที่มีมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี

โดยในยุโรปได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล (European Halal Food Park) ขึ้นที่ ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแบบครบวงจรเป็นครั้งแรกในทวีปยุโรป ส่วนประเทศจีนก็ได้กำหนดให้เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย เป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลสำคัญของประเทศ ในกลุ่มประเทศอาเซียนเองก็เช่นเดียวกันที่พยายามผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อหวังครองความเป็นผู้นำตลาดฮาลาลของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมาเลเซียที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล 21 แห่งเพื่อรองรับนักลงทุนและช่วยเพิ่มยอดการส่งออก ส่วนสิงคโปร์ก็เร่งสร้างมาตรฐานฮาลาลของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศมุสลิม

ขณะที่ไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารฮาลาลอันดับ 10 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมดในแต่ละปี และมีอัตราขยายตัวร้อยละ 8 ต่อปีในช่วง 5 ปีหลัง ในปัจจุบันภาครัฐจึงมีนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่องผ่านยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลปี 2559 – 2563 ที่เริ่มนำมาใช้เป็นแผนงานในการพัฒนาฮาลาลในปีงบประมาณ 2559 เพื่อยกระดับประเทศไทยขึ้นสู่ 1 ใน 5 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลโลกให้ได้ในปี 2563

ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการผลิตอาหาร มีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบที่หลากหลายและมีคุณภาพ มีความพร้อมด้านวัตถุดิบอาหารฮาลาล ทั้งไก่ เนื้อ และอาหารทะเล ประกอบกับมีองค์กรทำหน้าที่รับรองและควบคุมมาตรฐานฮาลาลเป็นที่ยอมรับในระดับสากล หลายฝ่ายจึงเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลโลกได้ไม่ยาก

ข้อมูลจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยระบุว่า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มให้ความสำคัญต่อตลาดฮาลาลมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลมากกว่า 5,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลสูงกว่า 200,000 รายการ สถานประกอบการที่ขอการรับรองส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 90 ส่วนที่เหลืออื่นๆ อีกร้อยละ 10 เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตและนำเข้าสินค้าอุปโภค เช่น ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ยาสีฟัน ยาหรือสมุนไพร เป็นต้น

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความกังวลจากหลายฝ่ายว่า ผู้ประกอบการในประเทศไทยยังขาดทักษะและความเข้าใจในการผลิตและประกอบธุรกิจฮาลาล ขาดการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภค ประกอบกับยังขาดปัจจัยสนับสนุนด้านการลงทุนแบบฮาลาล ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืน และยกระดับประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในตลาดฮาลาลระดับโลก

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหาและอุดช่องว่างที่เกิดขึ้นดังกล่าวจากหลายหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่นอกจากจะมีภารกิจหลักด้านการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ฮาลาล ของประเทศแล้ว ยังมีบทบาทในการผลักดันและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการฮาลาลในประเทศไทยอีกด้วย

สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีกิจกรรมที่สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการฮาลาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล ที่หวังยกระดับและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าและภาคบริการฮาลาลให้สามารถแข่งขันในตลาดฮาลาลโลกได้อย่างทัดเทียม  รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิชาการฮาลาลให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการฮาลาล โดยเฉพาะในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการนำองค์ความรู้ฮาลาลด้านต่าง ๆ มาบูรณการให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สร้างโอกาสให้ประชากรมุสลิมในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายสินค้าบริการด้านฮาลาล

การจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาลในปี 2560 หรือ WORLD HAPEX 2017 นี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 แล้ว โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ฮาลาลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน HALAL FOR SUSTANABLE DEVELOPMENT

โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 16 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้งการแสดง การจำหน่ายสินค้าและบริการฮาลาล จากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ การประชุมวิชาการจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ การเสวนาและการให้ความรู้ด้านฮาลาลที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการฮาลาลของประเทศไทย

รายละเอียดเพิ่มเติมของการจัดงานครั้งนี้สามารถดูได้ที่ http://halalinst.psu.ac.th/hapex หรือโทรสอบถามที่ สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 0-7428-9292

ภาพข้อมูลจาก
http://halalinst.psu.ac.th
http://halal.or.th

เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
สนับสนุนโดย สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

เปิดอ่าน 200 ครั้ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ฮาลาล จากหลักการศาสนาสู่โอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย "

ปิดการแสดงความคิดเห็น