ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

ฮือฮา! กษัตริย์ซาอุฯ เปลี่ยนตัวมกุฎราชกุมาร ยก “พระโอรส” ขึ้นแท่นว่าที่กษัตริย์

22 มิ.ย. 2017
1191

 

รอยเตอร์ – สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระราชโอรส ขึ้นดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ แทนที่เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ซึ่งเป็นพระราชนัดดา ในวันนี้ (21 มิ.ย.) ซึ่งถือเป็นการยกย่องพระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นสู่สถานะว่าที่กษัตริย์อย่างเป็นทางการ

สำนักข่าวเอสพีเอของซาอุฯ รายงานว่า เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระชันษา 31 ปี ยังทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกด้วย แต่ขณะเดียวกันก็จะยังทรงรั้งเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหม รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ อยู่

ทางด้านของเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ซึ่งทรงเป็นผู้อำนวยการหน่วยต่อต้านก่อการร้ายที่มีผลงานสกัดแผนลอบวางระเบิดของกลุ่มอัลกออิดะห์ในช่วงปี 2003-2006 ทรงถูกปลดออกจากทุกๆ ตำแหน่ง

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังประกาศเพิ่มวันหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษอีดิลฟิฏรีออกไปอีก 1 สัปดาห์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมราชโองการแต่งตั้งมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ ซึ่งโดยปกติแล้วพนักงานของรัฐในซาอุฯ จะได้มีวันหยุดพักผ่อน 10 วันหลังวันตรุษอีดิลฟิฏรี ซึ่งคาดว่าจะตรงกับวันอาทิตย์ (25) ที่จะถึงนี้

แม้การสถาปนาเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จะเป็นที่คาดหมายของบรรดาคนใกล้ชิดราชวงศ์ซาอุฯ อยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนตัวมกุฎราชกุมารแบบสายฟ้าแลบในขณะที่ริยาดกำลังเผชิญวิกฤตการทูตกับกาตาร์ ความขัดแย้งกับอิหร่าน รวมถึงสงครามในเยเมน ก็สร้างความตกตะลึงไม่น้อย

แม้ในขณะที่ยังเป็นรองมกุฎราชกุมารอยู่นั้น เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ก็ทรงมีบทบาทสำคัญในกิจการหลายๆ ด้านของซาอุฯ โดยเฉพาะการทำสงครามต่อต้านกบฏฮูตีนิกายชีอะห์ในเยเมน การกำหนดนโยบายพลังงานที่มีนัยสำคัญต่อโลก และยังทรงมีส่วนร่วมวางแผนอนาคตของซาอุฯ ในยุคที่น้ำมันหมดไป

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน รัฐมนตรีกลาโหมซาอุฯ และรองมกุฎราชกุมารในขณะนั้น ทรงสนทนากับเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ ระหว่างการประชุมคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับครั้งที่ 136 ณ กรุงริยาด เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ปี 2015 (แฟ้มภาพ)

สถานีโทรทัศน์อัลอราบิยา รายงานว่า การแต่งตั้งเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาสวามิภักดิ์ (Allegiance Council) แห่งราชอาณาจักรซาอุฯ และ สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ก็ทรงเรียกร้องที่นครมักกะห์เมื่อค่ำวานนี้ (20) ให้ประชาชนถวายความจงรักภักดีต่อพระราชโอรสองค์ใหญ่

การประกาศเปลี่ยนตัวมกุฎราชกุมารอย่างกะทันหันครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ซาอุดีอาระเบียเผชิญกับความเปลี่ยนครั้งใหญ่หลายด้านในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการนำทัพพันธมิตรอาหรับทำสงครามในเยเมน, ตัดงบประมาณอุดหนุนผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง และเสนอให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจน้ำมันอรัมโก (Aramco) บางส่วนในปี 2016

เมื่อปีที่แล้ว เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือที่หลายคนเรียกพระนามย่อว่า “MBS” ทรงประกาศแผนอันทะเยอทะยานเพื่อยุติ “การเสพติดน้ำมัน” และเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่การเป็นมหาอำนาจด้านการลงทุนของโลก ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับราชอาณาจักรซาอุฯ

ก่อนที่พระราชบิดาจะเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 7 แห่งซาอุดีอาระเบียในเดือน ม.ค. ปี 2015 เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แทบจะไม่เป็นที่รู้จักภายนอกประเทศ ทว่า ในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมาได้ทรงพิสูจน์พระองค์เองแล้วว่า ทรงเป็นทั้งพลังและมันสมองที่อยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์

ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงมีอำนาจควบคุมงบประมาณกลาโหมของซาอุดีอาระเบียซึ่งสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และยังทรงรับผิดชอบปฏิบัติการแทรกแซงทางทหารเพื่อกวาดล้างกบฏฮูตีในเยเมน นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งประธานสภาเพื่อกิจการเศรษฐกิจและการพัฒนา (CEDA) ซึ่งประกอบด้วย คณะรัฐมนตรีที่มีการประชุมรายสัปดาห์เพื่อหารือนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การศึกษา ระบบสาธารณสุข และที่อยู่อาศัย เป็นต้น

เจ้าชายพระองค์นี้ยังทรงเป็นประธานบอร์ดบริหารสูงสุดของอรัมโก และเป็นเจ้านายซาอุฯ พระองค์แรกที่เข้ามากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจน้ำมันของชาติ ซึ่งแต่เดิมถูกสงวนไว้ให้กับสามัญชนที่มีความรู้ความสามารถ หรือพวก “เทคโนแครต” เท่านั้น

ที่มา:MGR Online