ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันจันทร์, 29 เมษายน 2567

ราคาน้ำมันทุบเศรษฐกิจเศรษฐีน้ำมัน“ซาอุฯ” เล็งอ่อนข้อให้ “อิหร่าน” ร่วมมือพลังงานในอนาคต

559000010103201

เอเจนซีส์/เอเอฟพี – บลูมเบิร์ก สื่อธุรกิจ รายงานล่าสุดว่า ซาอุดีอาระเบียได้ส่งสัญญาณความเป็นไปได้ในการที่จะยอมเปิดรับ การร่วมมือด้านน้ำมันกับอิหร่านในอนาคต ถือเป็นการถางทางไปสู่ข้อตกลงจำกัดการผลิตน้ำมันเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังล่าสุดเศรษฐิกิจแดนเศรษฐีน้ำมันทรุดต่อเนื่อง สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียทรงออกพระบรมราชโองการประกาศลดเงินเดือนคณะรัฐมนตรีลง 20% ในมาตรการรัดเข็มขัดรับมือวิกฤตรายได้

บลูมเบิร์ก สื่อธุรกิจรายงานวันนี้(28 ก.ย)ว่า คาลิด อัล-ฟาลีห์(Khalid Al-Falih)รัฐมนตรีพลังงานซาอุฯที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ต้องรับช่วงแบกรับภาระวิกฤตซัพพลายน้ำมันล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งสัญญาณบวกไปยังเตหะราน ผ่านการให้ความเห็นว่า อิหร่าน ลิเบีย และไนจีเรียควร ได้รับอนุญาตให้ทำการผลิต “ในระดับสูงสุดที่สมเหตุสมผล”

“ทั้งนี้ช่องว่างระหว่างสมาชิกของกลุ่มโอเปคนั้นถูกจำกัดในข้อตกลงที่ว่าด้วยการผลิตในระดับใด และระดับใดที่เราจะทำการหยุดไว้” อัล-ฟาลีห์กล่าวต่อในการให้สัมภาษณ์หลังจากเสร็จสิ้นการพบปะในระดับทวิภาคีกับรัสเซีย ประเทศที่เป็นกาวใจสองคู่อริระหว่างริยาดและเตหะราน “ความเห็นนั้นกำลังเข้าใกล้ เข้าใกล้มาก” รัฐมนตรีพลังงานซาอุฯให้ความเห็นต่อ

บลูมเบิร์กชี้ว่า อย่างไรก็ตาม อิหร่านและซาอุฯยังคงต้องเผชิญหน้าความเห็นต่างในระดับเป้าหมายของการผลิตพลังงาน ซึ่งในกรุงแอลเจียร์ ของแอลจีเรีย วันพุธ(28 ก.ย)พบว่าทางกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปคเดินหน้าประชุมอย่างไม่เป็นทางการ โดยสื่อธุรกิจให้ความเห็นว่า ทางโอเปคมีเวลา 2 เดือนที่จะแก้ความขัดแย้งในการเห็นต่างด้านข้อกำหนดระดับการผลิตน้ำมัน หากว่าทางกลุ่มต้องการบรรลุข้อตกลงที่สามารถยับยั้งไม่ให้เกิดปัญหาซัพพลายน้ำมันล้นตลาดโลกเหมือนอย่างเช่นเกิดขึ้นในปีถัดไป

สื่อธุรกิจรายงานต่อว่า ทั้งนี้ทั้งสองประเทศเริ่มการเจรจาเพื่อทำให้ความต่างจากจุดยืนแต่ละฝ่ายของระดับการผลิตน้ำมัน 600,000 บาร์เรล/วัน ให้แคบเข้า ซึ่งบลูมเบิร์กย้ำว่า เป็นความต่างที่มากไปกว่าระดับการผลิตน้ำมันในแต่ละวัน เป็นต้นว่า ของเอกวาดอร์ หนึ่งในประเทศสมาชิกโอเปค ที่ได้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ผลิตโอเปคยังคงต้องมีงานช้างรออยู่ข้างหน้าก่อนที่ทางกลุ่มจะสามารถใช้แผนนโยบาย “the pump-at-will” ที่ได้ประกาศในปี 2014 เพื่อเปลี่ยนแปลงตลาดโลก เขย่าบรรดานักลงทุน บริษัท และระบบเศรษฐกิจทั้งหมด

โดยบลูมเบิร์กชี้ว่า ถือเป็นการเดิมพันที่สูงเนื่องมาจากหน่วยงานกำกับพลังงานนานาชาติ IEA ได้คาดการณ์ไว้ว่า สถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกจะยิ่งเลวร้ายลงต่อเนื่องหากทางโอเปคยังคงนิ่งเฉยต่อไป

ด้านรัฐมนตรีน้ำมันอิหร่าน ไบจาน นามเดอร์ ซานกาเนห์ (Bijan Namdar Zanganeh) ได้ออกมาให้ความเห็นในประเด็นในวันอังคาร(27 ก.ย)ว่า “ไม่ใช่สิ่งที่อิหร่านจำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงภายใน 2 วันนี้” สอดคล้องกับความเห็นของรัฐมนตรีพลังงานซาอุฯที่ประกาศว่า การประชุมในวันพุธ(28 ก.ย)นั้นเพื่อการปรึกษาหารือเท่านั้น และเขาไม่ได้คาดว่าจะต้องมีผลสัมฤทธิ์ออกมาทันที

ทั้งนี้ในขณะที่อิหร่านต้องการตั้งเป้าการผลิตน้ำมันไว้ที่ 4.2 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ทว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซาอุฯได้ออกมาร้องต่อศัตรูร่วมภูมิภาคให้หยุดการผลิตไว้ที่ 3.6 ล้านบาร์เรล/วัน ในการลดกำลังการผลิตลง โดยที่ อัล-ฟาลีห์รับรู้ว่า ซัพพลายพลังงานของอิหร่านอยู่ในระดับควบคุมมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่กระนั้นรัฐมนตรีพลังงานซาอุฯผู้นี้กลับยังคงชี้ว่า “การผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่ควรเกินไปจากระดับที่ทางอิหร่านได้เคยกระทำมาก่อนหน้านี้”

และในการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการของสมาชิกกลุ่มโอเปคในกรุงแอลเจียร์ บรรดารัฐมนตรีของประเทศสมาชิกต่างแค่ลงในความเห็นร่วมกันที่ว่า “ราคาน้ำมันในขณะนี้ยังไม่สูงมากพอ และข้อตกลงร่วมกันในระดับการผลิตจำเป็นต้องบรรลุ”

ซึ่งปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำนั้นจนถึงขั้นทำให้คณะรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบียถูกสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดัลอะซิซ อาล สะอูดแห่งาอุดีอาระเบียทรงสั่งให้ลดเงินเดือนเนื่องมาจากวิกฤตราคาน้ำมันโลกตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

โดยเอเอฟพีรายงานก่อนหน้านี้ว่า ในแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบียที่ออกมาในวันจันทร์(26 ก.ย)ระบุว่า รัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียจะต้องถูกลดเงินเดือนลง 20% และสมาชิกสภาที่ปรึกษาชูรา (Shura Council) จำนวน 160 คน จะต้องถูกตัดรายได้ประจำปีสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวลงอีก 15% ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ในจำนวนทั้งหมด 160 คน พบว่ามีสตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ซาอุฯจำนวนถึง 30 คนเพื่อให้การปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีริยาด

แต่อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีชี้ว่า ในคำประกาศจากสำนักราชวังซาอุฯไม่ได้ระบุ จำนวนเงินที่ทางซาอุฯคาดว่าจะสามารถประหยัดไปได้ในการปรับลดเงินเดือนทั่วประเทศครั้งใหญ่นี้

โดยนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันโลกได้ตกลงมากกว่าครึ่ง ส่งผลทำให้ประเทศที่ร่ำรวยจากรายได้การขายน้ำมันส่งออกเป็นหลักเช่น ซาอุดีอาระเบียต้องเผชิญกับงบดุลติดลบในปีที่ผ่านมา และส่งผลมาสู่การตัดความช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมไปถึงการปรับลดการใช้จ่ายของริยาด

ซึ่งในเดือนเมษายนล่าสุด รองมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้ประกาศแผนวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำให้การบริหารประเทศมีประสิทธิภาพ และราบรื่น

รอยเตอร์รายงานต่อว่า และนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงแล้ว ในพระบรมราชโองการยังระบุต่อว่า สำหรับข้าราชการระดับล่างเห็นควรให้หยุดการเคลื่อนไหวระดับเงินเดือน ในความพยายามล่าสุดของมาตรการรัดเข็มขัดที่ออกมาจากริยาด

ที่มา:Manager Online