ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 17 พฤษภาคม 2567

ภาพการละหมาดจากผลงานศิลปินไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทศิลปินอาชีพจากการประกวดจิตรกรรมยูโอบี

eywwb5wu57mynkouqzawtbz4i73qxdyiij1p8kyjcc4l7r8fmsawzj

ศิลปินไทยจากการประกวดจิตรกรรมยูโอบีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นศิลปินในพำนักที่ฟุกุโอกะ 

ธิดารัตน์ จันทร์เชื้อ ศิลปินดาวรุ่ง เชื่อว่าศิลปะคือสื่อกลางในการถ่ายทอดความคิด และมุมมองของศิลปิน จากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับเรื่องราวต่างๆ ที่พานพบ และการแสดงออกถึงวิธีการที่ศิลปินทุ่มเทฝึกฝน…

ธิดารัตน์ ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทศิลปินอาชีพจากการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ที่จัดเป็นครั้งที่ 6 ในปีที่ผ่านมา จากการถ่ายทอดแรงบันดาลใจที่เธอได้รับจากการละหมาดของชาวมุสลิมที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเรียบง่าย ความสามัคคีและสันติสุขของคนในครอบครัว ผ่านเทคนิคการปักเย็บบนผืนผ้าสีดำ เป็นการออกแบบแบบเปอร์สเปกทีฟ ซึ่งทำให้ภาพมีมิติใกล้ไกลเมื่อเปลี่ยนระยะทางยืนมอง แทนฝีแปรงบนผ้าใบ

นอกจากรางวัลชนะเลิศของประเทศไทยแล้ว ธิดารัตน์ ยังได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของธนาคารยูโอบี จากจำนวนผู้ชนะเลิศระดับประเทศ 4 ราย ทั้ง ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ให้เป็นศิลปินในพำนักที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ (Fukuoka Asian Art Museum) ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งเปิดโอกาสให้เธอได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดกับศิลปิน และผู้ชมชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาชมผลงานของเธอ การเดินทางไปทัศนศึกษาต่างเมือง รวมถึงการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนชาวมุสลิมในประเทศญี่ปุ่น โดยมี ธนาคารยูโอบี เป็นผู้สนับสนุนทั้งหมด กิจกรรมนี้นับเป็นอีกหนึ่งรางวัลอันทรงเกียรติของการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ซึ่งเป็นการประกวดผลงานศิลปะที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยกลุ่มธนาคารยูโอบี ประเทศสิงคโปร์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 และเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคารยูโอบี ที่มีเป้าหมายส่งเสริมวงการศิลปะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ธิดารัตน์ ค้นพบความสามารถด้านศิลปะจากการชอบวาดรูปการ์ตูนญี่ปุ่นในวัยเด็ก และเบนเข็มจากการเรียนในสายวิทยาศาสตร์สู่การเรียนศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ก่อนที่จะมาเรียนปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในสาขาจิตรกรรม ที่ศิลปากรนี่เองที่เธอเริ่มใช้เทคนิคเย็บปักในการสร้างสรรค์งานศิลปะแทนการตวัดพู่กัน งานเย็บปักของเธอสามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นภาพได้เป็นอย่างดี เป็นที่สนใจของนักสะสม ทำให้เธอมีความมั่นใจ และได้การยอมรับจากครอบครัวมากขึ้น

“เราได้ยินเกี่ยวกับการประกวดจิตรกรรมยูโอบีมานานแล้ว จากการที่เพื่อนสนิทเคยส่งงานเข้าประกวด และได้รางวัลมือสมัครเล่นจากเวทีนี้ เราจึงอยากส่งประกวดเวทีนี้ดูบ้าง เพราะเป็นเวทีระดับอาเซียนที่ทำให้งานของเรามีโอกาสได้เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างมากกว่าแค่ในประเทศไทย โดยเราทุ่มเทเวลาทั้งหมดตลอด 2 สัปดาห์ในการสร้างงานขึ้นมาเพื่อส่งประกวดเวทีนี้โดยเฉพาะ”

ธิดารัตน์ เล่าว่า สิ่งที่มีความหมายสำหรับเธอไม่ใช่เพียงการได้เป็นที่หนึ่งของประเทศ หรือรางวัลที่เป็นตัวเงิน แต่หากคือการได้รับเลือกให้เป็นศิลปินพำนักที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งเปิดโอกาสให้เธอได้เรียนรู้วิธีการทำงานของศิลปินต่างชาติ เรียนรู้ทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงได้จัดแสดงผลงานเดี่ยวที่พิพิธภัณฑ์อันทรงเกียรติของเอเชียแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบีเพียงเวทีเดียวเท่านั้น ที่ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศได้ต่อยอดไปสู่การประกวดระดับอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ และยังมีโอกาสได้รับเลือกให้เป็นศิลปินในพำนัก ที่ฟุกุโอกะ

“ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ฟุกุโอกะ เราสนุกมาก เพราะมีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้ทุกวัน ตั้งแต่วันแรกที่ไปถึงก็จะมีเจ้าหน้าที่มาดูแลอย่างใกล้ชิด ร่วมกันวางแผนงานตามแนวทางที่เราสนใจ โดยเราต้องเข้ามาที่หอศิลป์ทุกวันเพื่อประชุม และสร้างสรรค์งานในสตูดิโอที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาชม และสอบถามได้ ซึ่งงานของเราได้รับความสนใจจากคนญี่ปุ่นมาก ทั้งในแง่ของแนวคิดและเทคนิคที่เราเลือกใช้ นอกจากนั้น ยังมีโอกาสไปทัศนศึกษาที่เมืองอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ซึ่งผลงานทั้ง 5 ชิ้นที่สร้างสรรค์ในช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น ก็ล้วนสะท้อนวัฒนธรรมและสิ่งต่างๆ ที่เราได้พบเจอ และเรียนรู้ในช่วงเวลานั้น รวมทั้งได้ลองใช้วัสดุอย่างเส้นด้าย และผ้าที่หาได้ในท้องถิ่นอีกด้วย”
จากความประทับใจที่ได้จากการเป็นศิลปินในพำนักที่ฟุกุโอกะ ธิดารัตน์ คิดว่าหอศิลป์และแกลเลอรี่ในประเทศไทยควรจะสร้างโครงการในแบบเดียวกันให้มากขึ้น คือเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้เรียนรู้มุมมองและทักษะใหม่ๆ จากศิลปินนานาชาติ รวมถึงการพัฒนาสถานที่ให้สามารถรองรับการแสดงงาน และทำกิจกรรมเวิร์กช็อปได้มากขึ้น

ธิดารัตน์ เล่าว่า ผลงานชื่อ “ญามาอะห์ 2” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวดของธนาคารยูโอบีนั้น เกิดจากความรู้สึกที่เธอต้องการถ่ายทอดด้านที่ดีของสังคมมุสลิมให้คนทั่วไปได้รับรู้ โดยในงานชิ้นนี้เธอใช้เทคนิคปักเย็บ แสดงภาพการละหมาดร่วมกันของคนในครอบครัว เพราะชาวมุสลิมมีความเชื่อว่าการทำละหมาดร่วมกันจะได้บุญมาก เช่นเดียวกับการทำความดี หากทำร่วมกันหลายคน สิ่งที่ดีก็จะเกิดได้มากขึ้น เส้นด้ายถูกปักเย็บลงบนผืนผ้าสีดำ ไล่สีเข้มและอ่อนให้เกิดรูปทรงและมิติความลึก

สำหรับ ธิดารัตน์ การสร้างสรรค์งานเกี่ยวกับศาสนามีที่มาจากปัญหาที่พบเจอในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ซึ่งทำให้เธอหันมาศึกษาแนวคิดทางศาสนาอย่างจริงจัง และเลือกที่จะสื่อสารออกมาเป็นภาพ นับเป็นศิลปะบำบัดแนวทางหนึ่ง เพื่อให้จิตใจของตนเองมีความสงบมากขึ้น เธอเล่าว่าศาสนาอิสลามไม่ได้ยึดติดกับวัตถุใดๆ แต่ยึดถือศรัทธาจากใจจริง เธอจึงเชื่อว่าสามารถใช้งานนี้สื่อสารกับคนมุสลิมด้วยกันได้ ซึ่งขณะที่แสดงงานชิ้นนี้ในการประกาศรางวัลจิตรกรรมยูโอบี ที่ประเทศสิงคโปร์ มีผู้ชมท่านหนึ่งเดินเข้ามาขอบคุณเธอ ที่นำเรื่องที่ดีของชาวมุสลิมมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน ทำให้ ธิดารัตน์ มั่นใจว่างานของเธอสามารถสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกได้ ไม่ว่าผู้ชมจะเป็นชนชาติใดก็ตาม
“เราไม่ได้อยากให้งานของเราถูกวางไว้เฉยๆ เพราะเราอยากสื่อมุมมองของเราออกไปในวงกว้าง เราถึงได้เลือกเวทีที่จะเปิดโอกาสให้งานของเราก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ เพราะเรื่องที่เราทำก็เป็นเรื่องสากล ไม่ใช่เรื่องเฉพาะที่เมืองไทย ต้องขอขอบคุณ ธนาคารยูโอบี ที่เปิดรับผลงานโดยไม่กำหนดสไตล์และหัวข้อในการประกวด เพราะงานของเราค่อนข้าง abstract แต่เวทีนี้เปิดรับงานทุกสไตล์ เราจึงมีโอกาสมาถึงจุดนี้”

หลังจากเวทียูโอบี ธิดารัตน์ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาฝีมือทางศิลปะอย่างต่อเนื่องในฐานะศิลปินอาชีพ ด้วยการออกเดินทางเพื่อหาประสบการณ์ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาในเชิงลึก รวมทั้งพัฒนาเทคนิคในการสร้างสรรค์งานรูปแบบใหม่ๆ อย่างงาน 3 มิติ เช่น งานปักผสมกับงานแกะไม้ โดยจะทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ ที่พบในพื้นถิ่นของประเทศที่มีโอกาสได้เดินทางไป สำหรับเนื้อหาของงานนั้น ธิดารัตน์ให้ความสนใจกับประเด็นของการลดความขัดแย้งด้านศาสนาและชาติพันธุ์ อันมาจากความยึดติด จนทำให้เกิดความรุนแรงโดยเฉพาะในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะขอลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วยตนเอง

ธิดารัตน์ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการศิลปะ ทำให้มีศิลปินรุ่นใหม่มาขอคำแนะนำในการพัฒนาตนเองหลายคน ซึ่งคำแนะนำที่ธิดารัตน์ให้ก็คือการมีความมุ่งมั่นในตนเองที่จะทำตามความฝัน และฝึกฝนฝีมืออยู่เสมอ

“อยากบอกกับทุกๆ คนว่าให้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่จำเป็นต้องเดินตามกระแส เช่น เห็นคนอื่นประสบความสำเร็จด้วยงานแนวนี้ ก็ต้องทำตาม ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวงานให้เหมือนคนอื่น และขอให้ทุกๆ คนสู้ต่อไป”

อ่านข่าวต่อได้ที่: http://www.thairath.co.th/content/720058