ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

เคเอฟซี ทำไม กอท.จึงไม่รับรองฮาลาล?

 

เคเอฟซี ทำไม กอท.จึงไม่รับรองฮาลาล?

เคเอฟซี ทำไมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจึงไม่รับรองฮาลาล?

ตอบโดย: ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

คำถามจริงมีสารพัด เคเอฟซีฮาลาลไหม ทำไมไก่ก็ฮาลาล ผงปรุงก็ฮาลาล คนทอดในบางสาขาเป็นมุสลิมด้วยซ้ำ มีอะไรที่บอกว่าเคเอฟซีไม่ฮาลาล ฯลฯ เรื่องนี้ตอบกันยาว กรรมการท่านอื่นอาจจะตอบไปอย่าง ผมขอตอบตามสไตล์ผมก็แล้วกัน

1. การรับรองฮาลาลตามระเบียบของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่ปฏิบัติกันในแต่ละจังหวัดใช้หลักการชารีอะฮ์หรือศาสนบัญญัติอิสลามเป็นหลัก ใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นตัวสนับสนุน การตัดสินตามหลักการชารีอะฮ์ยึดสี่แนวทางตามลำดับคืออัลกุรอ่าน อัลซุนนะฮ์ อัลอิจมะฮ์ และอัลกิยาส ไม่มีนอกเหนือจากนั้น

2. ฮาลาลเป็นหลักศรัทธาเริ่มที่ความตั้งใจหรือเนียต ไม่ได้เกี่ยวกับว่ามีแอลกอฮอล์เท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ กินแล้วเมาไหม หรืออื่นๆ มีหะดิษบทหนึ่งบันทึกในอัลกิตาบ สุนัน อบีดาวูด กล่าวว่าชายคนหนึ่งถามท่านรอซู้ล (ซ.ล.) ว่าหนุ่มคนหนึ่งได้รับมรดกจากบิดาเป็นบ่อหมักที่มีไวน์อินผลาลัมอยู่เต็ม เขาเห็นว่าไวน์นั้นหะรอมจึงอยากหมักต่อให้เป็นน้ำส้มจะได้หรือไม่ ท่านรอซู้ลตอบว่าไม่ได้ (ให้ทิ้ง) มีหะดิษอื่นๆอีกในทำนองเดียวกันอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่าเป็นเพราะบิดาของหนุ่มคนนี้เนียตไว้แล้วว่าจะทำไวน์ไม่ใช่น้ำส้ม หลักการรับรองฮาลาลจึงยึดถือเรื่องเนียตเป็นสำคัญ ในเมื่อเจ้าของกิจการเคเอฟซีในประเทศไทยไม่ต้องการขอการรับรองฮาลาลหรือไม่มีเนียตที่จะขอการรับรอง ทางคณะกรรมการฯจึงรับรองให้ไม่ได้ แม้ว่าลูกจ้างที่ทำงานเป็นผู้จัดการในแต่ละสาขาจะประสงค์ขอการรับรอง เหมือนเช่นชายหนุ่มประสงค์จะเปลี่ยนไวน์ให้เป็นน้ำส้ม แต่บิดาซึ่งเป็นเจ้าของแต่เดิมไม่ประสงค์ย่อมทำไม่ได้ กรณีความตั้งใจนี้หลักการ ISO, GMP, HACCP ใช้แนวทางเดียวกับฮาลาล หากทางเจ้าของกิจการไม่ประสงค์คือไม่ลงนามแสดงความตั้งใจ การรับรองย่อมทำไม่ได้ ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าไก่ก็ฮาลาล ผงปรุงก็ฮาลาล คนทอดก็มุสลิมจึงไม่เพียงพอ

3. ที่กล่าวว่าไก่ฮาลาลนั้น โดยไก่เป็นของบริษัทโน้นบริษัทนี้ได้รับการรับรองฮาลาลนั้นเป็นความเข้าใจเอาเองของผู้ประสงค์บริโภค ครั้งหนึ่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ตรวจพบโรงเชือดไก่่ของบริษัทไก่ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งไม่ได้ใช้มุสลิมเชือด สอบถามแล้วได้รับคำอธิบายว่าโรงเชือดไก่ของบริษัทมีสองประเภทคือโรงเชือดฮาลาลและไม่ฮาลาล หากลูกค้าไม่ระบุว่าต้องเป็นไก่ฮาลาลทางบริษัทจะส่งไก่จากโรงเชือดที่ไม่ฮาลาลให้เนื่องจากราคาถูกกว่า โรงงานที่เข้าไปดูนั้นเป็นส่วนที่ไม่ขอการรับรองฮาลาล ดังนั้น การที่ผู้ประสงค์บริโภคยืนยันว่าไก่ก็ฮาลาลจึงเป็นความเข้าใจเอาเอง จากการที่ไม่มีผู้ตรวจฮาลาลเข้าไปตรวจสอบเช่นนี้เองจึงเคยเป็นข่าวเรื่องไก่เน่า ไก่มีหนอนแมลงวัน หรืออื่นๆเกิดขึ้น (ลองหาใน Google จะพบเรื่องไก่ทอดอเมริกันมีหนอนที่สาขาเพชรบูรณ์และอื่นๆ)

4. ไก่เชือดอย่างฮาลาล (ซาบีฮะ) ไม่จำเป็นว่าหากนำมาทอดแล้วจะฮาลาล โรงเชือดไก่ส่งไก่ผ่านการเชือดแบบฮาลาลใส่ถุงพลาสติกไปที่ร้านแห่งหนึ่ง ทางร้านนำไก่ผสมลงในแป้งโดยไม่มีการล้างคราบเลือดบนตัวไก่ เมื่อสอบถามได้คำตอบว่าไก่ที่มีคราบเลือดติดเต็มซึ่งเป็นนะญิสหรือสกปรกเมื่อนำไปผสมแป้งจะทำให้ไก่มีรสหวาน ดังนั้น การขาดที่ปรึกษาฮาลาลอาจส่งผลให้การทอดไก่ไม่เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการฮาลาล

5. มุสลิมในแต่ละสังคมนั้นมีระดับการศึกษา การรับรู้ กรอบคิด ความเชื่อแตกต่างกัน กรณีของมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ร้านไก่ทอดอเมริกันที่มีสาขาในประเทศเหล่านั้นมีการรับรองฮาลาลถูกต้อง ผู้บริโภคมุสลิมเลือกร้านที่ได้รับการรับรองฮาลาล หากไม่ได้รับการรับรองฮาลาล ผู้บริโภคไม่เลือก เป็นผลให้ร้านไก่ทอดและฟาสต์ฟู้ดทั้งหลายในประเทศเหล่านั้นที่แม้หลายประเทศเป็นประเทศมุสลิมต่างนิยมขอการรับรองฮาลาล ส่วนประเทศไทยที่มิใช่ประเทศมุสลิมมีความเสี่ยงมากกว่ากลับกลายเป็นว่าผู้บริโภคมุสลิมบางส่วนยังคงบริโภคร้านไก่ทอดเหล่าน้ันแม้ไม่มีการรับรองฮาลาล บางครั้งยังช่วยปกป้อง ส่งผลให้ทางบริษัทไม่ประสงค์ขอการรับรอง

6. เคยถูกถามว่าฮาลาลยุคนี้ยังเป็นห้าล้านอยู่มั้ย ตอบไปว่ามูลค่าฮาลาลยุคนี้ คือ 36 ล้านล้านบาทต่อปี เกือบทั้งหมดเป็นของผู้ที่มิใช่มุสลิม เป็นผลให้กรรมการอิสลามทั่วโลกต้องสร้างความมั่นใจให้กับมุสลิมโดยใช้กระบวนการรับรอง เป็นงานปกป้องผู้บริโภคมุสลิมจะกล่าวว่าเป็นฟัรดูกิฟายะฮ์ที่ต้องทำก็ไม่ผิด การประชุมฮาลาลที่ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน สรุปกันบนเวทีประชุมต่อหน้าเจ้าหน้าที่โอไอซีเลยด้วยซ้ำว่าหากแต่ละประเทศต้องการศึกษากระบวนการรับรองฮาลาลที่ถูกต้องสมควรใช้แนวทางของประเทศไทย ทั่วโลกยอมรับกัน อยากให้คนไทยร่วมภูมิใจ และเชื่อมั่นตราฮาลาลของประเทศไทย ซึ่งฟัฒนาปรับปรุงไปมากในขณะนี้

 

ที่มาของเนื้อหา : news.muslimthaipost.com