ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

อักษรยาวี คือตัวตนคนมลายู

SOCIAL : อักษรยาวีคือตัวตนคนมลายู

บทความจากเพจเฟสบุ๊ค PATANI NOTES ‘62
งามพล จะปะกิยา

“หากพูดถึงภาษามลายูอักษรยาวีแล้ว สำหรับคนมลายูในสามจังหวัดภาคใต้นั้นมีนัยยะหมายถึงสิ่งที่เป็นตัวแทนอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์มลายูมากกว่าเป็นเรื่องของภาษาศาสตร์และอักษรศาสตร์”

อับดุลรอณีย์ เด็งสาแม เดินไปหยิบหนังสือสีฟ้าเล่มเก่าเขรอะที่เขาเก็บไว้ ซึ่งปกมีรอยฉีกขาดบางส่วนมาให้ดู เป็นหนังสือเล่มแรกของเขา เป็นหนังสือแบบเรียนภาษามลายูชื่อ Bacaan Jawi ซึ่งเป็นความทรงจำวัยเด็กที่เขายังเก็บไว้ ถึงแม้วันนี้เขาจะอยู่ในวัย 57 ปีแล้ว แต่ยังเขายังคงคลุกคลีอยู่ในวงการศึกษาของคนมลายูตลอดมา

ปัจจุบัน อับดุลรอณีย์ เป็นประธานศูนย์ตาดีกาจังหวัดนราธิวาส มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนตาดีกาเกือบ 700 แห่งในจังหวัดนราธิวาส และเป็นรองประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาห้าจังหวัดชายแดนใต้ที่มีหน้าที่ผลิตตำราการเรียนการสอนภาษามลายูอักษรยาวีในสามจังหวัดภาคใต้และบางส่วนของสงขลาและสตูล

เขาเริ่มบทสนทนาว่า วันนี้เรามาสำรวจสถานการณ์การใช้ภาษาของคนมลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้ว่าเป็นอย่างไร

“ทุกวันนี้คนมลายูใช้ภาษามลายูมากกว่าเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ใช้ภาษาไทยมากขึ้นด้วย รูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไป รูปแบบการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย คนใช้โทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น แต่ละวันเขาพิมพ์ด้วยตัวอักษรไทยในโทรศัพท์มือถือและรับอิทธิพลการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมไทยที่มีประชากรมากกว่า เกิดค่านิยมแบบใหม่ในหมู่วัยรุ่นมลายูที่จะสื่อสารด้วยภาษาไทย หรือไม่ก็ใช้ภาษามลายูปนไทย
ภาษามลายูที่ยังดำรงอยู่ได้ส่วนหนึ่งคงเพราะอยู่ใกล้ประเทศมาเลเซียที่มีภาษามลายูเป็นภาษาแม่ นี่เป็นเรื่องภูมิวัฒนธรรมเหมือนคนอีสานพูดลาวได้เพราะอยู่ใกล้ประเทศลาว เคยไปประชุมตามจังหวัดแถบภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่โน่นคนก็พูดภาษาท้องถิ่น แต่เขาไม่มีโรงเรียนสอนอ่านสอนเขียนอย่างเราที่มีโรงเรียนตาดีกา โรงเรียนศาสนา ที่เป็นพื้นที่ได้ใช้ภาษาและตัวอักษรท้องถิ่น เหมือนที่บอกตอนต้นว่ามีคนมลายูอ่านภาษามลายูด้วยตัวอักษรยาวีมากกว่าอดีต แต่ก็ยังมีพื้นที่ไม่มากพอที่จะให้อักษรยาวีอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันแก่คนมลายูสามจังหวัดภาคใต้

สมัยก่อนถึงแม้ว่าคนมลายูพูดภาษามลายูในชีวิตประจำวัน แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีทักษะการอ่านและการเขียน มีเฉพาะพวกโต๊ะฆูรูที่สอนศาสนาและโต๊ะบอมอซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านที่รักษาคน คนที่มีการศึกษาสูง ชาวบ้านธรรมดาอ่านและเขียนไม่ได้ สมัยนั้นพื้นที่การเรียนการสอนยังไม่มากเหมือนสมัยนี้ บางที่สอนกันที่บ้านโต๊ะครู และมีเด็กไม่กี่คนที่มีโอกาสเรียน สมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนตาดีกาเหมือนสมัยนี้

วันนี้เรามีพื้นที่การใช้อักษรยาวีเพิ่มมากขึ้น ในโรงเรียนตาดีกาในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี 2,000 แห่ง ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามกว่า 200 แห่ง ปอเนาะตามท้องถิ่นต่างๆ แม้แต่ในกลุ่มดะวะฮ์ตับลีค(กลุ่มเผยแพร่ศาสนาอิสลามกลุ่มหนึ่งที่เน้นการปฏิบัติศาสนกิจ) ที่มีหน้าที่เผยแพร่ศาสนา วันนี้คนมลายูอ่านภาษามลายูอักษรยาวีได้มากขึ้น ถ้าเราสังเกตเมื่อมีกิจกรรมทางศาสนา ป้ายบนเวทีนอกจากจะเขียนด้วยตัวอักษรไทยแล้วยังเขียนด้วยตัวอักษรยาวีด้วย

ปัญหาเท่าที่เห็นคือ หนังสือหรือตำรามีน้อย คนมลายูในพื้นที่ที่แต่งตำราเขียนตำราด้วยอักษรยาวีมีน้อย การผลิตตำราใหม่เกิดขึ้นน้อยมาก ต่างจากในอดีตที่มีการเขียนตำรามาก อย่างเชคดาวูด อัลฟาตอนี ท่านแต่งตำรา 100 กว่าเล่ม อุลามารุ่นใหม่ไม่ค่อยเขียนตำรา ที่เห็นมีเพียงไม่กี่คนและตำราก็มีเฉพาะในโรงเรียนปอเนาะเป็นตำราที่อุลามารุ่นก่อนเขียน หนังสือหรือตำราที่ใช้สอนตามหมู่บ้านสมัยก่อนต้องไปหาซื้อถึงประเทศมาเลเซีย

สำหรับคนมลายูสามจังหวัดภาคใต้แล้ว หากพูดถึงภาษามลายูที่เขียนด้วยอักษรยาวีนั้น มีนัยยะมากกว่าที่เป็นเรื่องของภาษาศาสตร์หรืออักษรศาสตร์ แต่หมายถึงสิ่งที่เป็นตัวแทนอัตลักษณ์ ความเป็นชาติพันธุ์มลายูหรือตัวตนคนมลายูเลยทีเดียว ดังนั้นสิ่งนี้จึงมีอยู่ในเรื่องประวัติศาสตร์สังคมมลายูสามจังหวัดภาคใต้เสมอ

มีช่วงเวลาหนึ่งที่น่าจดจำคือหลังเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ปัตตานีปี 2518 มีข่าวลือว่าตำรวจจะจับคนที่มีหนังสือตำรามลายู คนมลายูต่างหวาดกลัวที่จะครอบครองหนังสืออักษรยาวี พวกเขาจึงนำเอาไปซ่อนหรือไปทำลาย ทำให้ตำราอักษรยาวีสูญหายไปมาก

แต่สิ่งที่เกิดตามมาคือสำนึกความเป็นมลายูของคนในพื้นที่ได้รับการกระตุ้น และ ภาษามลายูโดยเฉพาะตัวอักษรยาวีกลายเป็นส่วนหนึ่งในสำนึกอันนั้น และมันทำให้เกิดการก่อตั้งโรงเรียนของคนมลายู ผมว่าคนมลายูมีสำนึกความเป็นมลายูแบบจริง ๆ จัง ๆ ครั้งแรกหลังเหตุการณ์ประท้วงปัตตานีปี 2518 หมุดหมายตรงนี้สำคัญ เหตุการณ์นั้นเหมือนกับทำให้พวกเขาตื่น มันเป็นสิ่งกระตุ้นให้ตั้งคำถามสำคัญกับตัวเองว่า ฉันเป็นใคร

บางคนอาจมองว่า กระแสฟื้นฟูภาษามลายูอักษรยาวีเป็นส่วนหนึ่งของความคิดชาตินิยมมลายู ซึ่งก็ไม่ถูกต้องนัก คิดว่าเป็นความคิดสำนึกในอัตลักษณ์ของตัวเองมากกว่าที่แสดงผ่าน ภาษา ตัวอักษร ตำราหนังสือ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงปัญญา ความรู้ โลกทัศน์การมองโลก และสิ่งที่พิเศษสำหรับคนมลายู อักษรยาวีนั้นเป็นอักษรเดียวกับอัลกุรอ่าน อักษรยาวีไม่มีวันตายไปจากโลกนี้ คนที่จะอ่านอัลกรุอ่านได้ต้องรู้จักอักษรยาวี คนที่อ่านอักษรยาวีได้เป็นคนที่เรียนอัลกุรอานด้วย อักษรยาวีคืออักษรชุดเดียวกับที่ใช้เขียนอัลกุรอาน เพียงประดิษฐ์อักษรเพิ่มขึ้นอีก 7 ตัว เท่านั้น กล่าวคืออักษรอาหรับมี 28 ตัว อักษรยาวีมี 35 ตัว

การฟื้นฟูภาษามลายูอักษรยาวีในวันนี้ มีองค์กร Badan Dewan Bahasa Melayu ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา พยายามฟื้นฟูการใช้อักษรยาวี และ Yayasan Pusat Penyelarasan Tadika Selatan Thai (Pustaka) หรือมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาห้าจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งตั้งเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ทำหน้าที่ผลิตตำราเรียนมลายูอักษรยาวีที่ใช้ในสามจังหวัดภาคใต้และบางส่วนของสงขลาและสตูล นอกจากนั้นยังมีการประสานขอความช่วยเหลือกับสถาบันภาษามลายูในประเทศมาเลเซียที่ก้าวหน้าและมีประสบการณ์มากกว่า

วันนี้หลาย ๆ อย่างคลี่คลายไปในทางที่ดี คนมลายูพยายามฟื้นฟูการเขียนมลายูอักษรยาวีอีกครั้ง กระบวนการฟื้นฟูภาษามลายูอักษรยาวี เริ่มขับเคลื่อนไปข้างหน้าแล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

“ อักษรยาวีนั้นเป็นอักษรเดียวกับอัลกุรอ่าน อักษรยาวีไม่มีวันตายไปจากโลกนี้ ”

#ยาวี
#อัตลักษณ์มลายู

White news