ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

คังคุไบ ไม่ใช่มุสลิม

ในภาพยนตร์มีคำว่า “ละหมาด” แต่คังคุไบ ไม่ใช่ “มุสลิม”

ในภาพยนตร์ เรื่อง “Gangubai Kathiawadi (หญิงแกร่งแห่งมุมไบ)” ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมของผู้ชมชาวไทยบน Netflix อย่างมาก

มีฉากช่วงต้นเรื่องที่คงคา (คังคุไบ) กำลังหนีออกจากบ้านไปกับแฟนหนุ่มที่ชื่อรามนิก ในฉากนั้นคังคุไบ เผลอหยิบกุญแจที่บ้านมาด้วย เลยพูดว่า “…เสื้อใหม่ของพ่ออยู่ในตู้ เขาจะใส่ชุดอะไรไปละหมาด…” ทำให้คนเข้าใจผิดไปพอสมควรว่า คังคุไบ เป็น “มุสลิม” แต่จริง ๆ ไม่ใช่แบบนั้น

ในภาพยนตร์ฉากนั้นถ้าเราฟังเสียงเฉย ๆ “คังคุไบ” จะพูดคำว่า “pūjā (पूजा)” ในภาษาไทย ก็คือ บูชา (รากศัพท์มาจากสันสกฤต) แต่ในซับไตเติลภาษาอังกฤษแปลว่า “prayers” ส่วนซับไตเติลภาษาไทยแปลว่า “ละหมาด” ปัญหาคือตรงซับไตเติลภาษาไทย น่าจะแปลคลาดเคลื่อน เพราะคำว่า “prayers” นี่เป็นคำกว้าง ๆ แปลได้หลายความหมายในภาษาไทย เช่น สวดมนต์ ละหมาด อ้อนวอน อธิษฐาน ขอพร ฯลฯ ถ้าจะให้แปลตรงความจริง ๆ ในศาสนาฮินดู ควรจะแปลว่า “บูชา, สวดภาวนา” และสรุปได้ว่า “คังคุไบ” เป็นชาวฮินดู มิใช่ชาวมุสลิม

และมีอีกฉากหนึ่งที่ “คังคุไบ” ไปทวงความยุติธรรมกับ “คาริม ลาลา” ที่เป็นมาเฟียและผู้มีอิทธิพลในเมืองนั้น ที่ลูกน้องเขาทำร้ายเธอ ฉากนั้น “คาริม ลาลา” พูดว่า “…พาเธอไปข้างบนก่อน ละหมาดเสร็จแล้วฉันจะตามไป…”

ในภาพยนตร์ฉากนั้นถ้าเราฟังเสียงเฉย ๆ ไม่ใช่คำว่า “pūjā (पूजा)” เหมือนตอนฉากแรกแต่เป็นคำว่า “namāz (نماز)” ที่มาจากภาษาเปอร์เซีย ในซับไตเติลภาษาอังกฤษแปลว่า “prayers” ส่วนซับไตเติลภาษาไทยแปลว่า “ละหมาด” อันนี้ถูกต้องตามความหมายด้วยบริบท เพราะ “คาริม ลาลา” เป็นมุสลิมที่กำลังไปละหมาด ซึ่งฉากนั้นมีเสียงอะซาน (أَذَان) คือ การป่าวร้องเพื่อเรียกไปสู่การละหมาดในศาสนาอิสลาม

ขอเพิ่มเติมคำว่า “ละหมาด” สักหน่อย คำว่า “namāz (نماز)” ที่มาจากภาษาเปอร์เซีย ในภาษาอาหรับ คือ “salāh (صلاة)” ส่วนภาษาไทยรับคำว่า “ละหมาด” มาจากภาษาเปอร์เซียว่า “นมาซ” ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นรากศัพท์เดียวกับภาษาบาลีสันสกฤต นั่นคือคำว่า “นมักการ”

ส่วนในภาษามลายูใช้คำว่า “เซิมบะห์ยัง (Sembahyang)” ที่เป็นคำที่ประกอบจากคำว่า “เซิมบะห์ (sembah) แปลว่า บูชา” และ “ฮยัง (hyang) แปลว่า พระเจ้า”

ซึ่งคำว่า “เซิมบะห์ (sembah)” เป็นคำที่ใช้ทักทายของชาวอินโดนีเซีย เพื่อแสดงความเคารพนับถือหรือบูชาด้วยการพนมมือ ในภาษาบาหลีจะใช้คำว่า “om swastiastu” ซึ่งตรงกับคำว่า “สวัสดี” ในภาษาไทย ทั้ง 2 คำมีรากศัพท์เดียวกันมาจากภาษาสันสกฤต คำว่า “svasti” หมายถึง ดี ปลอดภัย มีความสุข ประสบความสำเร็จ และเจริญรุ่งเรือง

ที่มา โบราณนานมา