ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

4 เทคนิคการเลือกซื้อบ้านฉบับมุสลิม

เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีความฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง เพื่อที่จะได้อยู่อาศัยในบ้านอย่างเจ้าของที่แท้จริง เพื่อเป็นที่อยู่สร้างครอบครัว เป็นสมบัติ เป็นความภาคภูมิใจในชีวิต อยากจะทำอะไรก็ทำได้เพราะ “นี่คือบ้านของเรา”

“การมองหาที่อยู่อาศัย” ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญมากๆ ของคนที่กำลังจะตัดสินใจซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ปัจจัยหลักที่คนส่วนใหญ่ใช้ในการเลือกซื้อบ้าน ได้แก่ ทำเลดี ดีไซน์สวย มีรถไฟฟ้า เดินทางสะดวก และถ้าเป็นต่างศาสนิกอาจจะมีการดูฮวงจุ้ยด้วย แต่สำหรับพี่น้องมุสลิมผู้ศรัทธาเรามีเทคนิคในการเลือกซื้อบ้านอย่างไร?

รายงานวิจัยฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก “อาจารย์อับดุลฮามิด ดาราฉาย” นักวิชาการอิสลามและอาจารย์ประจำโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย มาช่วยชี้แจงถึงหลักการเลือกซื้อบ้านที่ถูกต้องฉบับอิสลามควรดูที่อะไรบ้าง…?!

อ.อับดุลฮามิด กล่าวว่า “การที่เราจะมีบ้านสักหนึ่งหลังนั้น ส่วนมากเมื่อมีครอบครัวแล้วก็เริ่มมองหาที่อยู่อาศัยเริ่มซื้อบ้าน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการเลือกซื้อหรือปลูกบ้านแบบอิสลามนั้น จากสุภาษิตภาษาอาหรับประโยคหนึ่งบอกว่า “ให้เราเลือกเพื่อนบ้านก่อนที่จะเลือกบ้าน”

  1. ต้องเลือกเพื่อนบ้านก่อน

“การเลือกบ้านของคนทั่วไปอาจจะดูตามหมู่บ้านหลังละ 10 ล้าน 5 ล้าน หรือ 20 ล้านแล้วแต่กำลังทรัพย์ของแต่ละครอบครัว เขาอาจจะอยากให้ลูกเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมดีๆ เพราะมีบ้านสวย มีแต่คนรวย มีหน้ามีตา โดยไม่สนใจสังคมรอบข้างว่าจะพาเราห่างไกลอิสลามไปมากแค่ไหน

เพราะการที่เราอยู่ในสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม ถ้าครอบครัวหนึ่งมีอ่อนแอยู่แล้วแล้วเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่อาจจะไกลกับชุมชนของพี่น้องมุสลิมด้วยกัน ไกลจากมัสยิด มันก็จะยิ่งทำให้ลูกของเราออกห่างไกลจากความเป็นมุสลิม และจะซึมซับวัฒนธรรมของต่างศาสนิกไปโดยไม่รู้ตัว

แต่ถ้าเราอยู่ในชุมชนที่เป็นมุสลิม เช่น เราอยู่ใกล้มัสยิด ได้ยินเสียงอาซานทุกวัน เราได้ส่งลูกไปเรียนกุรอาน ภาคฟัรดูอีน ทำให้เขาได้ซึมซับในเรื่องของศาสนาถึงแม้ว่าเราตายไปแล้วเขาโตขึ้นเขาก็ยังมีคำว่าอีหม่านอยู่ในตัว นี่คือเรื่องแรกที่ควรคำนึงในการเลือกซื้อบ้าน”

  1. ควรเลือกบ้านเดี่ยวหรือปลูกสร้างบนที่ดินตนเอง

“ในความเป็นมุสลิมมลายูหรือมุสลิมในไทยค่อนข้างจะไม่ถนัดกับการเลือกบ้านแบบคอนโดหรืออพาร์ทเม้นท์เพราะเราต้องไปอยู่กับใครก็ไม่รู้ ถ้าเลือกได้อยากให้เลือกบ้านที่ดินเดี่ยวและปลูกบ้าน มีความเป็นส่วนตัว และทำอย่างไรให้บ้านของเรามีบรรยากาศที่สนิทสนมสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน แต่ถ้ามีข้อจำกัและจำเป็นต้องอยู่อพาร์ทเม้นท์ก็ให้เลือกที่เป็นหอพักชายล้วน หรือหญิงล้วน”

  1. มีรั้วรอบขอบชิด

“เราจะเห็นภาพหมู่บ้านต่างๆ ในปัจจุบัน จะสังเกตได้ว่าไม่มีรั้วที่สูง สามารถที่จะมองเห็นทักทายกันได้ นี่คือสังคมที่มองดูเป็นมิตรภาพ แต่ในความเป็นมุสลิมเราจะไม่เป็นโลกส่วนตัว คือถ้าหากเรามีลูกสาวกำลังโต มีภรรยาอยากเดินออกมาผ่อนคลายนอกบ้านก็ลำบาก แต่ถ้าหากเราได้ไปอยู่หมู่บ้านที่มีมุสลิม อย่างน้อยเราก็จะได้มีการแต่งกายมีวัฒนธรรมที่เหมือนกัน”

 

  1. ควรเลือกบ้านใกล้ที่ทำงานหรือโรงเรียนของลูก

คำว่า “บ้าน” เป็นสถานที่ที่มีความสุข ในคำสอนของสุภาษิตภาษาอาหรับนั้นจะโยงไปถึงหะดีษที่นบีบอกว่าคนถ้าจะมีความสุขที่ดีที่สุดคือ

1.การมีคู่ครองที่ดี

2.มีบ้านที่โอ่งโถงไม่อึดอัดและอยู่แบบเป็นความสุขในการพักผ่อน

3.เรามีที่ทำงานที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อการเดินทางไปทำงานและการไปส่งลูกที่โรงเรียนจะได้ไม่เหนื่อย

 

ทำอย่างไรให้บ้านมีชีวิตชีวามีบารอกัต

การเริ่มต้นในบ้านจะเห็นว่าเวลาเราจะปลูกบ้านในสังคมปัจจุบันส่วนหนึ่งก็จะมีประเภทว่าต้องดูฤกษ์ดูยาม

อ.อับดุลฮามิด กล่าวว่า “ในความเป็นจริงตามหลักฐานจากอัลกุรอานและหะดีษไม่ได้มีตัวบทบอกไว้ เป็นเพียงแต่วัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่ถ่ายทอดมาไม่ใช่เรื่องศาสนากำหนด

ส่วนการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรืองานขึ้นเสาเอกก็เช่นเดียวกันเหล่านี้ไม่มีหลักฐานจากอัลกุรอานและหะดีษ แต่ที่เห็นกันในสังคมคือว่าจะมีการเชิญผู้รู้ในการขึ้นเสาเอก และมีการนั่งอ่านกุรอานกันประมาณนั้นนั่นคือในสังคมที่ทำอยู่

หากเป็นไปได้ก่อนที่จะเริ่มต้นเราสามารถกล่าว “บิสมิลลาห์ฮิรเราะห์มานิเราะห์ฮีม” ได้ตามปกติ บางคนอาจจะอ่านอายะห์กุรซีย์ หรือซูเราะห์อิคลาศ ซึ่งไม่มีตัวบทหลักฐานบอกให้ทำ แต่เหมือนกับว่าการเริ่มต้นทุกสิ่งอย่างเราต้องบิสมิลลาห์ฯ กล่าวพระนามอัลลอฮฺก่อนทุกครั้งและขอพร (ดุอาอฺ) จากอัลลอฮฺให้พ่อแม่ครอบครัวเรา แต่ถ้ารูปแบบที่เอาเหรียญบาทไปโปรยที่ก้นหลุมอย่างนี้ไม่ใช่อิสลาม

เมื่อปลูกบ้านเสร็จแล้วก็จะมีการขอพร ดังนั้นบางคนก็มีการทำบุญชุโกรขอบคุณที่อัลลอฮฺให้เนี๊ยะมัตกับเรา (ไม่ใช่ทำบุญขึ้นบ้านใหม่) ให้เราเชิญพี่น้องที่อยู่ในละแวกนั้นมาร่วมงานเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนตรงนั้น

และเมื่อเข้าไปอาศัยเราควรอ่านกุรอานในบ้าน หะดีษบอกว่า “บ้านไหนก็ตามที่มีการอ่านซูเราะห์อัลบากอเราะห์ และซูเราะห์อาลาอิมรอน 2 ซูเราะห์จะทำให้บ้านนั้นชัยตอนจะหายไปส่วนหนึ่ง” จะอ่านหรือเปิดเป็นเสียงอัลกุรอานก็ได้ เพื่อขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺให้บ้านหลังนี้ปลอดภัย อย่างน้อยชัยตอนก็หายไปจากมากก็จะเป็นน้อย”

ทำอย่างไรให้บ้านเป็น “สวรรค์ในบ้าน”

“บ้านเป็นความสุขที่เกิดขึ้น สิ่งแรกเราจะต้องมีการวางกฎกติกาในบ้าน เช่น ถ้าบ้านอยู่ใกล้มัสยิด พ่อและลูกชายก็ควรไปละหมาดที่มัสยิด แต่ถ้าบ้านอาจจะอยู่ไกลจากมัสยิด เราก็วางกฎกติกากันว่าเราจะมี 1 เวลาที่ละหมาดร่วมกัน บางบ้านก็จะใช้ละหมาดมักริบและหลังจากละหมาดแล้วก็จะมีการตั้งวงฮาลาเกาะห์เป็นการเรียนรู้ในเรื่องของอัลกุรอาน เช่น อ่านกุรอาน 1 ซูเราะห์ หรือ 1 อายะห์สั้นๆ และก็มีการตัฟซีรอรรถาธิบายอัลกุรอาน

ทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมมือ เช่น ลูกคนโตอ่านกุรอานคล่อง คนเล็กอ่านความหมายภาษาไทย และคนเป็นแม่ก็คอยให้กำลังใจ คนเป็นพ่อฟังและสรุป หรือถ้าหากเด็กโตเป็นวัยรุ่น เราอาจจะเอาเหตุการณ์ที่เป็นข่าวในทุกวัน หรือเรื่องแชทที่หลอกสาว คนเป็นพ่อต้องทำการบ้านเอากุรอานที่ตรงกับเหตุการณ์นั้นๆ มาเตือนลูกก็สามารถที่จะทำได้แต่ต้องดูบริบทด้วยว่าเด็กอายุเท่าไหร่

สำหรับสามีภรรยาที่ยังไม่มีบุตร ก็ทำให้บ้านมีความสุขได้โดยอาจจะผลัดกันอ่านกุรอาน อีกคนนึงคอยบอกในเรื่องของตัจวีดก็ได้ แต่ที่สำคัญควรจะมีการพูดคุยเรื่องศาสนาในบ้าน ถ้าได้ทุกวันนั้นประเสริฐ ถ้าไม่ได้คืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง อ่านกุรอานพร้อมกัน

สำคัญที่สุดคือน่าจะเป็นการบังคับครอบครัวให้รับประทานอาหารพร้อมกัน แม้จะไม่ใช่บทบัญญัติของศาสนา แต่การทานข้าวพร้อมกันก็เป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีอีกวิธีระหว่างคนในครอบครัว ไม่ใช่ใครมาถึงกินก่อนหยิบกินก่อน อาหารทุกมื้อควรทานร่วมกัน การละหมาดถ้าไปมัสยิดได้ก็ไปมัสยิด แต่ถ้าไม่สะดวกควรละหมาดพร้อมกันที่บ้าน เมื่อละหมาดเสร็จแล้วควรที่จะมีการสลับกันนาซีฮัต และร่วมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน คนเป็นพ่อก็ต้องฟังลูกว่าลูกจะมีอะไรเสนอแนะ”

ฝากถึงพี่น้องมุสลิม

“การมีบ้านที่จะทำให้เกิดความสุขนั้น ท่านนบีกล่าวและเตือนไว้คือว่า “เราต้องนึกเสมอว่าเพื่อนบ้านเขาคือบุคคลที่เหมือนจะรับมรดกเราได้” ดังนั้นถ้าเรายึดแบบนี้เหมือนนบีบอกว่า “จงให้เกียรติต่อเพื่อนบ้าน” หมายความว่าไม่ว่าเราจะเลือกซื้อบ้านแบบไหน จะเป็นหมู่บ้าน ชุมชน หรือที่วะกัฟ บ้านหลังละหลายสิบล้าน ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญคือเพื่อนบ้าน

เมื่อเรามีเพื่อนบ้านแล้ว ทำอย่างไรให้เขารักเรา คือต้องให้เกียรติเขาก่อน และก็ต้องพอประมาณ บางครอบครัวเราไปให้เขามากๆ บางคนเคยตัว เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเดินมาขอ เดินมายืม มารอของจากเราตลอด มันก็ดูไม่ดี

การที่เราให้เกียรติเขาในที่นี้คือคำนึงถึงความรู้สึกตลอด เช่น ถ้าเราจะปลูกต้นไม้ ควรดูว่าเวลามันโตแล้วจะล้ำไปในที่เขาไหม เราต้องกะให้พอดี เรียกว่านึกถึงความรู้สึกให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้าน ทั้งๆ ที่เป็นบ้านเรา หรือถ้าบ้านที่อยู่ติดกันเหมือนเป็นห้องเช่าหรือบ้านวะกัฟที่บ้านติดกัน เราก็ต้องคำนึงว่าเวลาเราจะตอกตะปู ซ่อมอะไร ตัดกิ่งไม้ เลื่อยไม้ มันจะส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้านหรือไม่ ฉะนั้นเราควรพูดคุยกับเพื่อนบ้านก่อนนี่คือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี

อีกประเด็นหนึ่ง ในสังคมมุสลิมส่วนใหญ่บ้านพี่น้องมักจะอยู่ในรั้วเดียวกัน ที่ผมเห็นในสังคมคือพี่น้องไม่คุยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอาย กั้นรั้วไม่พูดกันอย่างนี้มันจะทำให้บ้านเราไม่มีบารอกัตและจะทำให้ความมีเราะห์มัดในบ้านนั้นหายไป”

 

สุดท้ายขอฝากว่าบ้านทุกบ้านโดยเฉพาะบ้านที่เป็นญาติพี่น้องนามสกุลเดียวกัน หรือมาจากพ่อแม่เดียวกันคือพี่น้องอย่ากั้นรั้วแบบมิดชิดแบบไม่คุยกันเลย อย่าเจอกันแล้วไม่สลามกัน เพราะในทัศนะของอุลามาอฺ เพื่อนบ้านที่อิสลามวางไว้มี 40 หลังคาเรือนที่เราจะต้องนับเสมือนญาติ

  1. เพื่อนบ้านในฐานะที่เป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน
  2. เพื่อนบ้านในฐานะที่เป็นพี่น้องมุสลิมด้วยกัน
  3. เพื่อนบ้านในฐานะที่อยู่ในจำนวน 40 หลังคาเรือน ถึงแม้ไม่ใช่มุสลิม นบีสอนว่าถ้ามันอยู่ในจำนวน 40 หลังคาเรือนเราต้องให้ความสำคัญเขา

 

ขอขอบคุณ : อ.อับดุลฮามิด ดาราฉาย นักวิชาการอิสลาม

www.thaimuslim.com