ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

บังกลาเทศยืนยันแผนเดิม ส่ง “มุสลิมโรฮิงญา” จากค่ายผู้อพยพทางใต้ ไปรวมกลุ่มบนเกาะที่ไม่มีมนุษย์อาศัย

 

เอเจนซีส์ – ธากายืนยันไม่เปลี่ยนแผน ส่งผู้อพยพชาวโรฮิงญาลี้ภัยหนีความตายจากพม่า ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัยที่แน่นขนัดทางใต้ของบังกลาเทศ ออกไปอาศัยบนเกาะที่น้ำท่วมถึง และไม่มีความเหมาะสมที่มนุษย์จะสามารถอาศัยอยู่ได้ สร้างความวิตกให้กับองค์การสหประชาชาติ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และบรรดาผู้อพยพโรฮิงญาเหล่านี้

เอบีซีนิวส์ สื่อสหรัฐฯรายงานวันนี้(6 ก.พ)ว่า แผนการย้ายผู้อพยพมุสลิมโรฮิงญาสร้างความวิตกไปทั่ว เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจุดที่ทางรัฐบาลธากาได้เสนออกไป ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศบังกลาเทศ เอ เอช มาห์มูด อาลี(A.H. Mahmood Ali) ได้แถลงในรายงานสรุปให้กับตัวแทนจากองค์กรต่างๆและเจ้าหน้าที่การทูตประเทศต่างร่วม 60 คนซึ่งรวมไปถึงองค์การสหประชาชาติ

โดยทางอาลีได้ร้องขอความช่วยเหลือในการช่วยย้ายกลุ่มผู้อพยพโรฮิงญาไปยังเกาะที่เพิ่งเกิดใหม่ เดนการ์ ชาร์(Thengar Char)  ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งผู้อพยพที่จะถูกโยกย้าย ปัจจุบันอาศัยอยู่ภายในค่ายต่างๆที่ตั้งอยู่ในเขตค็อกซ์ส บาซาร์( Cox’s Bazar)ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางใต้ของบังกลาเทศ

ในแถลงการณ์ได้ระบุว่า “การโยกย้ายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการพัฒนาต่างๆได้เสร็จสิ้นลงแล้ว” ซึ่งแถลงการณ์ได้หมายความรวมไปถึง บ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาลต่างๆ

เอบีซีนิวส์รายงานว่า ในขณะนี้มีประชากรชาวโรฮิงญาอยู่ในบังกลาเทศไม่ต่ำกว่า 300,000  คนเป็นเวลาหลายสิบปี และมีจำนวนร่วม 66,000 คนเพิ่งอพยพข้ามพรมแดนเข้าสู่บังกลาเทศเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางมาตรการดำเนินคดีทางกฎหมาย รวมไปถึงการตกเป็นเป้าต่อกองกำลังทหาร และการโจมตีจากกลุ่มชาวพุทธในรัฐยะไข่ พม่า

สื่อสหรัฐฯชี้ว่า แถลงการณ์ของบังกลาเทศกล่าวต่อว่า “ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันนั้นคับแคบเกินไป และการต้องจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่เดินทางมาใหม่ ได้กลายเป็นความท้าทายของธากา”

นอกจากนี้รัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศยังได้ประกาศต่อตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศและนักการทูตต่างชาติว่า จำนวนผู้อพยพที่ทะลักเข้าสู่บังกลาเทศเป็นจำนวนมหาศาลนั้นเป็นงานยากสำหรับทางเจ้าหน้าที่รัฐในการให้ความสะดวกสบายและการช่วยเหลือต่างๆอย่างเหมาะสม และยังทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยตามมา

ดังนั้น เอ เอช มาห์มูด อาลีได้ประกาศในที่ประชุม ขอความช่วยเหลือจากนานาชาติในการพัฒนาเกาะร้างแห่งนี้ เพื่อที่จะสามารถย้ายผู้ลี้ภัยมุสลิมโรฮิงญาเข้าไปอาศัยได้ และรวมไปถึงการเดินทางกลับไปยังประเทศพม่า บ้านเกิดของคนเหล่านั้นในท้ายที่สุด

สื่อสหรัฐฯรายงานว่า สำหรับเกาะ เดนการ์ ชาร์ นั้นตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเมกห์นา (Meghna ) และโผล่พ้นจากทะเลเมื่อ 8 ปีก่อนหน้านี้เท่านั้น และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่เกาะแห่งนี้จะถูกน้ำท่วมเมื่อใดก็ตามที่เกิดพายุที่ทำให้เกิดคลื่นสูงตามมา และจากปัญหาใหญ่นี้ส่งผลทำให้ทั้งยูเอ็นและหน่วยงานต่างๆวิจารณ์ถึงแผนการโยกย้ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาของธากา

โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มฮิวแมนไรท์วอชที่มีฐานอยู่ในนิวยอร์กได้ออกมาเปิดเผยว่า กองทัพทหารพม่า และเจ้าหน้าที่ควบคุมพรมแดนพม่าอยู่ร่วมในกลุ่มรุมโทรมหญิงและละเมิดทางเพศเกิดขึ้นอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 9 หมู่บ้านในเขตมองดอ (Maungdaw )รัฐยะไข่ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค จนถึงกลางเดือนธันวาคมล่าสุด


ที่มา:Manager Online