ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

ประเด็นโรฮิงญาบานปลายเมียนมาระงับส่งแรงงานไปมาเลเซีย

 ประเด็นโรฮิงญาบานปลายเมียนมาระงับส่งแรงงานไปมาเลเซีย  

เมียนมาระงับการส่งแรงงานไปมาเลเซียหลังจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมา ด้านอินโดนีเซียเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมชนกลุ่มน้อยมุสลิม

ความขัดแย้งที่รัฐยะไข่เกิดขึ้นหลังจากตำรวจเมียนมา 9 นายเสียชีวิตในเหตุโจมตีด่านตรวจบริเวณชายแดนด้านที่ติดกับบังกลาเทศ ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา จากนั้นกองทัพเมียนมาได้เข้าปราบปรามผู้ก่อเหตุในพื้นที่ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 86 คน และไร้ที่อยู่อาศัยอีกราว 30,000 คน

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย ออกไปชุมนุมประท้วงและระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่เป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” กับเรียกร้องให้ชาติอื่นเข้ามาแทรกแซง ขณะที่เมียนมาได้เรียกทูตมาเลเซียเข้าพบเมื่อวันอังคารเพื่อหารือถึงข้อกล่าวหาของนายนาจิบดังกล่าว

ในวันนี้นายหม่อง หม่อง คะยอ รองปลัดกระทรวงแรงงานของเมียนมา กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าได้ระงับการส่งแรงงานพม่าไปยังมาเลเซียชั่วคราวเนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ดี นายคะยอไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเมียนมาดำเนินการดังกล่าวเพื่อตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์ของนายนาจิบหรือไม่

รองปลัดกระทรวงแรงงานเมียนมากล่าวด้วยว่าได้แจ้งให้สำนักจัดหางานในต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการเมียนมา ระงับการส่งแรงงานไปมาเลเซียตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยยังไม่ได้กำหนดว่าอนุญาตให้แรงงานเมียนมาเดินทางไปทำงานในมาเลเซียอีกเมื่อใด

ที่ผ่านมาทางการเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของชาวโรฮิงญาและกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การข่มขืนผู้หญิง เผาบ้านเรือน และสังหารชีวิตพลเรือน

รอยเตอร์รายงานอ้างข้อมูลจากทางการเมียนมาว่า ในปัจจุบันมีแรงงานชาวเมียนมาทำงานในมาเลเซีย ประมาณ 147,000 คน แต่ในเวลาเดียวกันก็มีแรงงานที่ทำงานโดยปราศจากเอกสารที่ถูกต้องอีกจำนวนมาก ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุว่ามีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาอาศัยอยู่ในมาเลเซียกว่า 135,000 คน รวมทั้งชาวโรฮิงญา 55,000 คน

ด้านนางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนเมียนมากล่าวในแถลงการณ์ว่าได้แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่กับนางออง ซาน ซู จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาแล้ว และเมียนมาได้อนุญาตให้อินโดนีเซียส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังรัฐยะไข่ได้

ที่มา:บีบีซีไทย