ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

ความอัศจรรย์กับร่างกาย และผลดีต่อสุขภาพ เมื่อเราถือศีลอด

25 เม.ย. 2020
91

แต่ละปี ชาวมุสลิมหลายล้านคน รวมทั้งชาวมุสลิมในไทย ร่วมถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกเป็นเวลา 29-30 วันในช่วงรอมฎอน

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เดือนรอมฎอน ตรงกับช่วงหน้าร้อนในซีกโลกเหนือ ทำให้กลางวันยาวนานขึ้น และสภาพอากาศร้อนขึ้น นั่นหมายความว่า คนที่อยู่ในบางประเทศ อย่างเช่นนอร์เวย์ จะต้องถือศีลอดนานถึง 20 ชั่วโมงต่อวันในปีนี้

การอดอาหารเช่นนี้เป็นผลดีต่อสุขภาพหรือไม่ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของคุณ หากคุณถือศีลอดเป็นเวลา 30 วัน

2-3 วันแรก คือ ช่วงที่ยากลำบากที่สุด

ตามหลักการแล้ว ร่างกายไม่ได้เข้าสู่ ‘ภาวะอดอาหาร’ จนกว่าจะครบ 8 ชั่วโมงหลังกินอาหารมื้อสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ดูดสารอาหารต่าง ๆ จากอาหารเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ไม่นานหลังจากนั้น ร่างกายของเราก็จะเปลี่ยนกลูโคสที่เก็บสะสมไว้ในตับและกล้ามเนื้อมาให้พลังงาน เมื่อกลูโคสหมด ไขมันก็จะกลายเป็น แหล่งพลังงานสำหรับร่างกายแทน

เมื่อร่างกายเริ่มเผาผลาญไขมัน ก็จะช่วยทำให้น้ำหนักลดลง ลดระดับคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม การลดลงของระดับน้ำตาลในเลือด จะทำให้เกิดความอ่อนเพลียและเซื่องซึม คุณอาจจะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ และหายใจลำบาก เมื่อมีอาการหิวเพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับรุนแรง

วันที่ 3-7 ระวังเรื่องการขาดน้ำ

ขณะที่ร่างกายเริ่มชินกับการอดอาหาร ไขมันจะถูกนำมาแปลงเป็นน้ำตาลในเลือด การที่คุณไม่ได้รับของเหลวเข้าสู่ร่างกายในช่วงถือศีลอด ก็ต้องชดเชยในช่วงหลังจากเลิกถือศีลอดในแต่ละวัน ไม่เช่นนั้น ก็อาจทำให้เกิดอาการขาดน้ำได้

อาหารที่คุณรับประทานควรจะมี ‘อาหารที่ให้พลังงาน’ ในระดับเหมาะสม อย่างเช่น คาร์โบไฮเดรต และไขมันบางอย่าง เป็นเรื่องสำคัญมากในการควบคุมการกินอาหารให้ได้สารอาหารอย่างสมดุล รวมถึง โปรตีน เกลือ และน้ำ

วันที่ 8-15 เริ่มชิน

ก่อนที่จะเข้าขั้นที่ 3 นี้ คุณน่าจะเห็นพัฒนาการทางอารมณ์ ในช่วงที่ร่างกายปรับตัวกับการอดอาหารได้อย่างสมบูรณ์แล้ว

ดร. ราซีน มาห์รูฟ ที่ปรึกษาในหน่วยผู้ป่วยหนักและยาชา ที่โรงพยาบาลแอดเดินบรูกส์ ในเมืองเคมบริดจ์ กล่าวว่า มีข้อดีหลายอย่างจากการอดอาหารเช่นกัน

“ในชีวิตประจำวัน เรามักกินมากเกินไป และอาจส่งผลให้ร่างกายไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเท่าที่ควร เช่น การซ่อมแซมตัวเอง”

“การปรับสภาพของร่างกายจะเกิดขึ้นในช่วงถือศีลอด ทำให้ร่ายกายได้หันไปทำหน้าที่อื่น ๆ”

ดังนั้น การถือศีลอดอาจจะเป็นผลดีต่อร่ายกาย ด้วยการทำให้เกิดการซ่อมแซม และยังช่วยป้องกันและต้านทานการติดเชื้อด้วย

วันที่ 16-30 ถอนพิษ

ในช่วงครึ่งหลังของการถือศีลอด ร่างกายจะปรับตัวเข้ากับกระบวนการอดอาหารได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ในช่วงนี้ ลำไส้ใหญ่, ตับ, ไต และผิวหนัง จะเข้าสู่ช่วงของการถอนพิษ

“ในด้านสุขภาพ ขั้นนี้ การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ น่าจะกลับไปสู่ระดับเต็มศักยภาพอีกครั้ง ความจำและสมาธิอาจจะดีขึ้น และคุณอาจมีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้น” ดร. มาห์รูฟ กล่าว

“ร่างกายคุณไม่น่าจะหันไปใช้พลังงานจากโปรตีน ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ภาวะ ‘อดอยาก’ ที่ต้องดึงกล้ามเนื้อมาสร้างพลังงาน ภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการอดอาหารยาวนานต่อเนื่องกันนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์”

“เนื่องจากการถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนดำเนินไปตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก เราจึงมีช่วงเวลามากพอที่จะเติมพลังให้ร่างกายด้วยอาหารและน้ำ ช่วยรักษากล้ามเนื้อไว้ แต่ยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย”

สรุปแล้ว การถือศีลอดมีผลดีต่อสุขภาพหรือไม่?

ดร. มาห์รูฟ กล่าวว่า มี แต่มีเงื่อนไข

“การถือศีลอดเป็นผลดีต่อสุขภาพของเรา เพราะมันช่วยให้เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรากินและเวลาที่เรากิน อย่างไรก็ตาม ขณะที่การถือศีลอดนาน 1 เดือนอาจจะไม่เป็นไร แต่ก็ไม่แนะนำให้อดอาหารต่อเนื่อง”

“การอดอาหารต่อเนื่องไม่เป็นวิธีที่ดีสำหรับการลดน้ำหนักในระยะยาว เพราะสุดท้ายแล้ว ร่างกายของคุณจะหยุดเปลี่ยนไขมันมาเป็นพลังงาน และจะหันไปใช้กล้ามเนื้อแทน นี่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะนั่นจะทำให้ร่างกายเริ่มเข้าสู่ภาวะ ‘อดอยาก'”

เขาแนะนำว่า (นอกเหนือเดือนรอมฎอน) การอดอาหารเป็นช่วง ๆ หรือการควบคุมการกินแบบ 5:2 (อดอาหาร 2-3 วันต่อสัปดาห์ ส่วนเวลาที่เหลือก็กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ) น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าการอดอาหารต่อเนื่องครั้งหนึ่งนานหลายเดือน

“การถือศีลอดอย่างถูกวิธีในช่วงเดือนรอมฎอน น่าจะทำให้คุณได้เติมพลังงานในแต่ละวัน ซึ่งหมายความว่าคุณอาจลดน้ำหนักลงโดยที่ร่างกายไม่เสียกล้ามเนื้อที่มีคุณค่า”

ramadan.muslimthaipost.com