ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันอังคาร, 19 มีนาคม 2567

วิธีละหมาดย่อและรวม ในระหว่างการเดินทาง

อธิบายเรื่องการละหมาดย่อ-รวม ระหว่างเดินทาง อย่างละเอียด

ย่อและรวมละหมาด – ละหมาดย่อรวม ในระหว่างการเดินทาง

คำนำ : อัลลอฮฺ ตรัสว่า :

“และพระองค์ไม่ได้กำหนดให้เกิดความลำบากเหนือพวกท่านในศาสนา” (อัลฮัจย :

อัลลอฮฺไม่ได้บัญญัติข้อกำหนดต่าง ๆ ของศาสนาที่จะทำให้เกิดความยุ่งยากและสับสนวุ่นวายแก่พวกท่านขณะที่มุสลิมตกอยู่ในความคับแคบ อัลเลาะห์ตาอาลาจะเปิดทางที่กว้างขวางให้แก่พวกเขา เพื่อให้ข้อกำหนดต่าง ๆ ของศาสนาเป็นที่ยอมรับและสามารถที่จะปฏิบัติได้

การเดินทางถือเป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษ ขณะเดินทางอยู่นั้นมนุษย์จะสูญเสียความสงบและความสุขสบายไป ไม่ว่าจะใช้พาหนะชนิดใดในการเดินทางก็ตาม และไม่ว่าจะเดินทางไปเพื่อกิจการใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้อัลเลาะห์ตาอาลาจึงยอมผ่อนผันข้อกำหนดต่าง ๆ ของศาสนาแก่ผู้เดินทางอย่างมากมาย อาทิเช่น ละหมาดเป็นต้น ดังนั้นในบทนี้เราจะได้ศึกษาวิธีการผ่อนผัน เงื่อนไขในการผ่อนพันและวิธีการที่จะได้รับประโยชน์จากการผ่อนผันนั้น

ละหมาดของคนเดินทางเป็นอย่างไร?

อัลลอฮฺ ได้ผ่อนผันแก่คนเดินทางในเรื่องละหมาดของเขาสองประการ คือ…

หนึ่ง : ย่อมจำนวนรอกาอัตของละหมาด เรียกว่า “กอสร์”

สอง : รวมสองละหมาดมาปฏิบัติในเวลาละหมาดเดียวกัน เพื่อให้คนเดินทางมีเวลาในการเดินทางและมีเวลาว่างมากขึ้น เรียกว่า “ญัมอฺ”

หนึ่ง : ย่อละหมาด

คือการย่อละหมาดชนิดที่มีสี่รอกาอัต เช่น ดุห์ริ , อัสริ , และอิชาอฺ เหลือเพียงสองรอกาอัต ดังจะได้อธิบายต่อไป

หลักฐานในการบัญญัติกอสร์ คือ คำดำรัสของอัลเลาะห์ตาอาลาที่ว่า :

“และเมื่อท่านทั้งหลายเดินทางไปใหนหน้าแผ่นดิน จะไม่มีบาปใด ๆ ตกอยู่กับพวกท่าน การที่ท่านทั้งจะย่อละหมาด” ( อันนิซาอฺ : 101)

มุสลิม (686) และผู้อื่น ได้รายงาน จากยะอฺลา บุตร อุมัยยะห์ ได้กล่าวว่า : ฉันได้ถามอุมัร บุตร ค๊อตต๊อบ (ร.ด.) ว่า : (ที่อัลกุรอานกล่าวว่า : ) “จะไม่มีบาปใด ๆ ตกอยู่กับพวกท่าน การที่ท่านทั้งหลายจะย่อละหมาด ถ้าหากพวกท่านกลัวว่า พวกผู้ไร้ศรัทธาจะสร้างความปั่นป่วนกับพวกท่าน” และบัดนี้ประชาชนมีความปลอดภัยดีแล้ว? อุมัรตอบว่า ฉันก็แปลกใจเช่นเดียวกับที่ท่านแปลกใจ ฉันได้ถามท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.) ถึงเรื่องดังกล่าว และท่านก็ตอบว่า : “เป็นซอดาเกาะห์ (ทาน) ที่อัลเลาะห์มอบให้พวกท่านดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงรับซอดาเกาะห์ของพระองค์เถิด”

ฮะดิษนี้ชี้ว่าการย่อละหมาดไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงในกรณีที่กลัวเท่านั้น และเพื่อให้การย่อละหมาดใช้ได้จำเป็นจะต้องรักษาเงื่อนไขต่าง ๆ ต่อไปนี้ :

1. ละหมาดนั้นตกหนักอยู่กับตัวเขาขณะเดินทาง , และเขาจะต้องนำละหมาดนั้นมาปฏิบัติในขณะเดินทางอีกด้วย :

ดังนั้นจะไม่เข้าอยู่ในเงื่อนไขดังกล่าว ละหมาดที่เข้าเวลาแล้วก่อนที่จะเดินทาง และเขาได้เดินทางไปก่อนจะทำละหมาดนั้น , ดังนั้นจะไม่ยินยอม ให้ผู้เดินทางย่อละหมาดดังกล่าว เพราะเขายังไม่ได้เป็นผู้เดินทาง ขณะที่ละหมาดนั้นวาญิบเหนือตัวเขาและขณะที่ละหมาดนั้นตกหนักอยู่กับตัวเขา

และไม่เข้าอยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวอีกเช่นกัน ละหมาดที่เข้าเวลาแล้วขณะที่เขาเป็นผู้เดินทาง แต่เขาไม่ได้ทำละหมาดนั้น จนกระทั่งกลับสู่ภูมิลำเนาของเขา ก็ไม่ยินยอมให้เขาย่อละหมาดนั้น เพราะขณะที่นำละหมาดนั้นมาปฏิบัติเขาไม่ใช่เป็นผู้เดินทางแล้ว และเพราะการย่อละหมาดนั้นยินยอมให้แก่ผู้ที่เดินทางเท่านั้น

2. เขาจะต้องพ้นเขตกำแพงเมืองที่เขาเดินทางออกไป หือพ้นเขตชุมชน ถ้าหากเมืองนั้นไม่มีกำแพง

เพราะถือว่าผู้ที่ยังอยู่ในกำแพงหรืออยุ่ในเขตชมชนไมใช่เป็นผู้เดินทาง หมายความว่า การเดินทางจะเร่มต้นตั้งแต่พ้นเขตดังกล่าว เช่นเดียวกับการสิ้นสุดการเดินทาง เมื่อผู้เดินทางกลับมาถึงเขตดังกล่าว เขาก็จะย่อละหมาดไม่ได้ นอกจากละหมาดที่ตกหนักอยู่กับตัวเขา แต่ต้องกระทำในช่วงนี้

บุคอรี ( 1039) และมุสลิม (690) ได้รายงานจากอะนัส (ร.ด.) ว่า : ฉันได้ละหมาดดุห์ริกับท่านนบี (ซ.ล.) ที่มะดีนะฮ์สี่รอกาอัต และละหมาดอัสริที่ซุ้ลฮุลัยฟะห์สองรอกาอัต” ซุ๊ลฮุลัยฟะห์อยู่นอกเขตชุมชนของมะดีนะห์

3. ผู้เดินทางจะต้องไม่ตั้งเจตนาพำนักอยู่เป็นเวลาสี่วัน นอกจากวันที่เดินทางเข้าและเดินทางออก ในถิ่นที่เขาเดินทางไป

ถ้าหากเขาตั้งเจตนาเช่นนั้น เมื่อที่เขาเดินทางไปนั้นก็จะกลายเป็นภูมิลำเนาและถิ่นพำนักของเขาที่จะไม่ยินยอมให้เขาย่อละหมาดในเมืองนั้น สิทธิการย่อละหมาดสำหรับเขาจะคงอยู่เฉพาะขณะเดินทางเท่านั้น

สำหรับกรณีที่ผู้เดินทางตั้งเจตนาจะพำนักอยู่น้อยกว่าสี่วัน หรือเขาไม่รู้จะพำนักอยู่ในเมืองนั้นกี่วัน เพื่อทำงานบางอย่างที่เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำเสร็จเมื่อไหร่ ให้เขาย่อละหมาดได้ในกรณีแรกจนกว่าเขาจะกลับเข้าเขตชุมชนในถิ่นเดิมของเขา และย่อละหมาดได้ในกรณีที่สองเป็นเวลาสิบแปดวันนอกจากวันที่เขาเดินทางเข้าและเดินทางออก

อบูดาวูด (1229) ได้รายงาน จากอิรอน บุน อุซอยน์ (ร.ด.) ได้กล่าวว่า : “ข้าพเจ้าได้ออกไปทำสงครามร่วมกับท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.) และได้มาปรากฏตังพร้อมกับท่นในการเข้าพิชิตมักกะห์ (อัลฟัตฮ์) ท่านได้พำนักที่มักกะห์เป็นเวลาสิบแปดคืน โดยท่านไม่ได้ละหมาดใดนอกจากละหมาดสองรากาอัต” เพราะท่านนบี (ซ.ล.) ได้พำนักในเวลาดังกล่าวนี้ที่มักกะฮ์ในปีที่เข้าพิชิตมักกะฮ์ เพื่อรบกับพวกฮาวาซิน ท่านจึงย่อละหมาด โดยท่านไม่รู้กำหนดเวลาที่จะต้องอยู่ที่มักกะห์ว่าเป็นเวลากี่วัน

4. จะต้องไม่ละหมาดตามผู้ที่ไม่ได้เดินทาง

ดังนั้นถ้าหากผู้ที่เดินทางละหมาดตามผู้ไม่ได้เดินทาง เขาก็จำเป็นจะต้องละหมาดให้ครอบสมบูรณ์จะย่อละหมาดไม่ได้

ส่วนในกรณีกลับกัน ไม่มีข้อห้ามที่เขาจะย่อละหมาด คือผู้เดินทางเป็นอิมามนำละหมาดผู้ไม่ได้เดินทาง ยินยอมให้ผู้เดินทางย่อละหมาดได้และสุนัตให้ผู้เดินทางที่เป็นอิหม่าม เมื่อได้สลามในรอกาอัตที่สองแล้ว รีบบอกแก่ผู้ที่ตามโดยกล่าวแก่พวกเขาว่า : “พวกท่านจงละหมาดให้ครบสมบูรณ์เถิด เพราะฉันเป็นคนเดินทาง”

หลักฐานในเรื่องนี้ก็คือฮะดิษที่อะห์มัด ได้รายงานด้วยสายรายงานที่ซอเฮียะห์ จากอิบนุอับบาส (ร.ด.) ว่าเขาถูกถามว่า : “ทำไมคนเดินทางจึงละหมาดสองรอกาอัต เมื่อละหมาดคนเดียวและสี่รอกาอัตเมื่อละหมาดตามผู้ที่ไม่ได้เดินทาง? เขาตอบว่า : “นั่นคือซุนนะห์”

และได้ปรากฏในฮะดิษ อิมรอน (ร.ด.) ที่ผ่านมาแล้ว และท่านนบีจะกล่าวว่า : “ชาวเมืองเอ๋ย พวกท่านจงละหมาดสี่รอกาอัตเถิด เพราะพวกเราเป็นพวกที่เดินทาง”

สอง : รวมละหมาด

ซึ่งความหมายของการรวมละหมาดได้กล่าวมาแล้ว

บุคอรี (1056) ได้รายงานจาก อิบนิอับบาส (ร.ด.) ได้กล่าวว่า : ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.) ได้รวมละหมาดดุห์ริ กับละหมาดอัสริเมื่อท่านอยู่ระหว่างเดินทาง และรวมละหมาดมัฆริบกับอิชาอฺ”

และมุสลิม (705) ได้รายงานจากเขา (อิบนุอับบาส) ว่า : ท่านนบี (ซ.ล.) ได้รวมละหมาดในการเดินทางครั้งที่พวกเราได้เดินทางในสงครามตะบูก และท่านได้รวมละหมาดดุห์ริกับละหมาดอัสริ , และมัฆริบกับอีชาอ์ , สะอีด บุตร ญุบัยร์ รอฮิมะฮุ้ลลลอฮ์ได้กล่าวว่า : ข้าพเจ้าได้ถามอิบนุอับบาสว่า : อะไรทำให้ท่านกระทำเช่นนั้น? เขาตอบว่า “ท่านนบีปรารถนา ไม่ให้เกิดความคับแคบกับประชากรของท่าน”

การละหมาดแบ่งออกเป็นสองแผนก :

รวมก่อน คือ นำละหมาดที่อยู่ในเวลาถัดไปมารวมไว้ในเวลาแรก

และรวมหลัง คือ นำละหมาดที่อยู่ในเวลาแรกไปรวมละหมาดไว้ในเวลาที่สอง

อบูดาวูด (1208) ติรมีซี (553) และผู้อื่น ได้รายงาน จากมุอ๊าซ (ร.ด.) ว่า : ท่านนบี (ซ.ล.) ขณะอยู่ในสงครามตะบูก , เมื่อท่านออกเดินทางก่อนตะวันขึ้น ท่นาจะร่นละหมาดดุห์ริออกไป จนนำไปรวมกันกับละหมาดอัสริ และท่านได้ละหมาดทั้งอัสริรวมในเวลาเดียวกัน และเมื่อท่านจะออกเดินทางหลังจากตะวันคล้อย ท่านได้ละหมาดดุห์ริและอัสริรวมในเวลาเดียวกัน แล้วจึงออกเดินทาง และเมื่อท่านจะเดินทางก่อนมัฆริบ ท่านจะร่วมมัฆริบออกไปจนนำไปละหมาดรวมกับละหมาดอิชาอฺ และเมื่อได้เดินทางหลังละหมาดมัฆริบ ท่านได้รีบนำละหมาดอิชาอฺมา และได้นำอิชาอฺมาละหมาดรวมในเวลามัฆริบ

ละหมาดที่นำมารวมในเวลาเดียวกันได้ :

เป็นที่ทราบก่อนแล้วว่า ละหมาดที่จะนำมารวมในเวลาเดียวกันได้ก็คือ ละหมาดดุห์ริกับอัสริ , มัฆริบกับอิชาอฺ ดังนั้นจะนำละหมาดซุบฮิไปรวมกับละหมาดที่อยู่ก่อน (คืออิชาอฺ) หรือกับละหมาดที่อยู่หลัง (คือละหมาดดุห์ริ) ไม่ได้ เช่นเดียวกับที่จะรวมละหมาด อัสริกับมัฆริบไม่ได้

ในการละหมาดรวม ไม่ว่าจะเป็นรวมก่อน และรวมหลัง มีเงื่อนไขหลายประการที่จะต้องรักษาดังต่อไปนี้

เงื่อนไขของรวมก่อน :

หนึ่ง : ต้องเรียบเรียงระหว่างละหมาดทั้งสองตามลำดับ :

โดยต้องเริ่มที่ละหมาดประจำเวลาก่อน , แล้วจึงนำอีกละหมาดหนึ่งมารวม

สอง : ต้องรวมละหมาดที่สองกับละหมาดแรกก่อนละหมาดแรกเสร็จ แต่สุนัติให้เหนียตรวมพร้อมกับตักบีรร่อตุ้ลเอียะห์รอม

สาม : ต้องปฏิบัติละหมาดทั้งสองติดต่อกัน

โดยต้องรีบละหมาดที่สองทันทีที่ละหมากแรกเสร็จ และสลามจากละหมาดแรกแล้ว , จะต้องไม่ให้มีสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นซิเกร หรือละหมาดสุนัต หรืออื่น ๆ มาคั่นระหว่างละหมาดทั้งสอง และถ้าหากมีสิ่งหนึ่งที่ยาวนานตามประเพณีมาคั่นระหว่างละหมาดทั้งสอง หรือร่นละหมาดที่สองออกไป โดยตัวเองไม่ได้ยุ่งพะวงอยู่กับสิ่งใดก็ถือว่าเสียการรวมนั้น และจำเป็นต้องร่นละหมาดที่สองไปปฏิบัติในเวลาของมัน ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นการปฏิบัติตามท่านนบี (ซ.ล.)

บุคอรี (1041) ได้รายงาน จากอิบนุอุมัร (ร.ด.) ได้กล่าวว่า : ฉันเห็นท่านนบี (ซ.ล.) ขณะที่ท่านต้องเร่งรีบในการเดินทาง ท่านร่นละหมาดมัฆริบออกไป และนำไปละหมาดสามรอกาอัต หลังจากนั้นท่านจะสะลาม , นิ่งอยู่ไม่นานท่านจะหยุด แต่จะอิกอมะห์ละหมาดอิชาอฺ และท่นาก็จะละหมาดอชาอฺสองรอกาอัต แล้วท่านจึงให้สลาม

สี่ : การเดินทางจะต้องยังคงมีอยู่ จนกว่าจะได้ปฏิบัติละหมาดที่สอง , หมายความว่า จะไม่มีผลเสียถ้าหากเขาเข้าเขตเมือง ขณะที่กำลังละหมาดที่สองอยู่

เงื่อนไขการรวมหลัง :

หนึ่ง : จะต้องเหนียตเอาละหมาดแรกไปรวมไปเวลาหลัง โดยการเหนียตนั้นจะต้องอยู่ในเวลาแรก ถ้าหากหมดเวลาดุห์ริโดยที่เขาไม่ได้เหนียตเอาละหมาดดุห์ริไปรวมกับละหมาดอิสริในเวลาอิสริแล้ว ละหมาดดุห์ริก็จะตกหนักอยู่บนเขา และต้องนำมาปฏิบัติเป็นละหมาดกอดออฺ และมีบาปที่ทำให้ละหมาดออกนอกเวลาของมัน

สอง : การเดินทางจะต้องยังมีอยู่จนกว่าจะเสร็จละหมาดทั้งสองโดยสมบูรณ์ ถ้าหากเขาหมดสภาพการเป็นคนเดินทางก่อนเสร็จละหมาดทั้งสอง ละหมาดที่สองนั้นตกเป็นละหมาดกอดออฺ

สำหรับในกรณีของการรวมหลังนี้ ไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องปฏิบัติเรียบเรียงกันไป แต่เขาจะเริ่มด้วยละหมาดใดก่อนก็ได้ และเช่นเดียวกับการกระทำอย่างต่อเนื่อง – ในที่นี้ – ก็ถือว่าเป็นสุนัต ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้การรวมละหมาดใช้ได้

เงื่อนไขการเดินทางที่อนุญาตให้ย่อและรวมละหมาด :

เงื่อนไขที่หนึ่ง :

การเดินทางจะต้องเป็นการเดินทางไกลถึงระยะทาง 81 กิโลเมตร หรือเกินกว่านั้นจะไม่พิจารณาระยะทางที่ต่ำกว่านั้น

บุคคอรีได้รายงานเป็นหะดิษ มุอัลลัก (ในเรื่องการย่อละหมาด , ในบทที่ว่าด้วย : ระยะทางเท่าไหร่จึงย่อละหมาด) ว่า : อิบนุอุมัร และอิบนุอับบาส (ร.ด.) ได้ย่อละหมาดและได้ละศีลอด ในระยะทางสี่บะรีด คือสิบหกฟัรซัค ซึ่งเท่ากับ 81 กิโลเมตร โดยประมาณ และการกระทำของบุคคลเช่นคนทั้งสองนั้น เป็นการกระทำตามความรู้ที่ได้รับมาจากท่านนบี (ซ.ล.)

เงื่อนไขที่สอง :

การเดินทางนั้นจะต้องมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน ดังนั้นจะไม่พิจารณาการเดินทางของคนที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง และไม่พิจารณาการเดินทางของผู้ที่ติดตามผู้นำ ซึ่งไม่รู้ว่าผู้นำจะไปที่ใหน
และที่กล่าวนี้หมายความว่า ก่อนที่เขาจะเดินทางในระยะทางที่ไกล แต่ถ้าหากเขาเดินทางได้ระยะทางที่ไกลแล้ว เขาก็ย่อละหมาดได้ เพราะมั่นใจแล้วว่าเป็นการเดินทางไกล

เงื่อนไขที่สาม :

การเดินทางนั้นจะต้องไม่มีเป้าหมายในทางที่เป็นความชั่ว ถ้าหากเป็นการเดินทางเพื่อเป้าหมายดังกล่าว ก็ไม่ถือเป็นการเดินทางที่อนุญาตให้รวมและย่อละหมาด เช่น คนที่เดินทางเพื่อค้าขายสุรา หรือเพื่อกิจการที่มีดอกเบี้ย (ริบา) หรือเพื่อปล้นสดมภ์ตามทาง เพราะการย่อละหมาดนั้นเป็นข้อผ่อนผันและข้อผ่อนผันนั้นบัญญัติขึ้นมาเพื่อการภักดี ด้วยเหตุนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับความชั่วต่าง ๆ

การรวมละหมาดในขณะฝนตก

ยินยอมให้รวมสองละหมาด กระทำในเวลาแรก ในขณะฝนตก

บุคอรี (518) และมุสลิม (705) ได้รายงาน จากอิบนุอับบาส (ร.ด.) ว่า : ท่านนบี (ซ.ล.) ได้ละหมาดที่มะดีนะฮ์ เจ็ดและแปด : ดุห์ริกับอัสริ , และมัฆริบ กับอิชาอฺ มุสลิมได้รายงานเพิ่มเติมว่า โดยไม่อยู่ในยามหวาดกลัว และไม่ใช่อยู่ในการเดินทาง และที่บุคอรี : อัยยูบ ผู้รายงานคนหนึ่ง ได้กล่าวว่า อาจเป็นไปได้ว่าเป็นคืนที่มีฝนตก? เขาตอบว่าเป็นไปได้ และที่มุสลิม : อิบนุอับบาส (ร.ด.) ได้กล่าวว่า : ท่านประสงค์ไม่ให้คนใดจากประชากรของท่านตกอยู่ในความคับแค้น

และไม่ยินยอมให้การรวมละหมาดในเวลาของละหมาดที่สอง เพราะฝนอาจจะหยุดตกก็ได้ ก็จะเป็นว่าเขาทำให้ละหมาดนอกเวลาโดยไม่มีความจำเป็นใด ๆ

และเงื่อนไขในการรวมละหมาด มีดังต่อไปนี้

1. ต้องเเป็นละหมาดญะมาอะฮ์ ในมัสยิดที่อยู่ห่างไกลตามประเพณีที่มุสลิมจะต้องได้รับความเดือนร้อน ด้วยน้ำฝนขณะเดินตามทางไปมัสยิด

2. ฝนจะต้องตกอยู่ในตอนเริ่มต้นของละหมาดทั้งสอง และขณะที่สลามจากละหมาดแรก

อ้างอิงจากหนังสือ อัลฟิกห์ อัลมันฮะญีย์ แปลโดย ท่านอาจารย์อรุณ บุญชม

sunnahstudent.com