ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันอังคาร, 19 มีนาคม 2567

ชาวเขากับการเข้ารับอิสลามในพื้นที่ล้านนา จากกลุ่มนักเผยแผ่อิสลาม จ.ชายแดนใต้

ชาวเขากับการเข้ารับอิสลามในพื้นที่ล้านนา จากกลุ่มนักเผยแผ่อิสลาม จ.ชายแดนใต้ ปี 2531

#สำนักข่าวมุสลิมเชียงใหม่ : ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เรียกว่าชาวเขาอาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 10 ชนเผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง, ม้ง (แม้ว), เมี่ยน (เย้า), ลีซู (ลีซอ), ลาหู่ (มูเซอ), อาข่า (อีก้อ), ลัวะ, ถิ่น, ขมุ และมลาบรี (ผีตองเหลือง) มีประชากรรวม 923,257 คน

กลุ่มชาวเขาที่มีประชากรมากที่สุดคือเผ่ากะเหรี่ยง มีประชากร 438,131 คน ในอดีตชาวเขาส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาใด ๆ แต่มีความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิญญาณและที่มีอยู่ในธรรมชาติรวมถึงบรรพบุรุษของพวกเขา

การเข้ารับอิสลามของชาวเขาในพื้นที่ภาคเหนือของไทยเริ่มขึ้นเมื่อชาวเขาเผ่าม้ง ที่บ้านแม่เปา ตำบลพญาเม็งราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลามกันทั้งหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2531 ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ได้มีกลุ่มนักเผยแผ่ศาสนาอิสลามประมาณ 70 คนจากปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนชาวเขาเหล่านี้

หลังจากนั้นข่าวคราวของชาวเขาเข้ารับอิสลามก็แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทำให้มีชาวมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ทั้งจากภาคกลางและภาคใต้เข้ามาสานต่อภารกิจเผยแพร่ศาสนาในจังหวัดต่างๆของภาคเหนือเป็นประจำทุกปี มัสยิดแห่งแรกสำหรับมุสลิมชาวเขาถูกสร้างขึ้นที่บ้านเวียงหมอก อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายในปี 2536

หลังจากนั้นมัสยิดอื่นๆ ก็ถูกสร้างขึ้นในหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านปางสา บ้านห้วยมะหินฝน อำเภอแม่จัน และจังหวัดเชียงราย และที่บ้านแสงไทร อำเภอปง จังหวัดพะเยา เป็นต้น

มุสลิมชาวเขาในภาคเหนือของไทยมาจากทุกเผ่าแต่ยังไม่มีการสำรวจสถิติอย่างเป็นทางการเพราะทางราชการยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของสถิติของชนกลุ่มน้อยในการนับถือศาสนาต่างๆและยังมีปัญหาเรื่องสถานะพลเมืองของชาวซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์หรืออาจมีเพียงแค่สถานะเป็นคนต่างด้าวเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิมจากเชื้อชาติต่างๆอีกมากมายที่ไม่ได้นำเสนอในที่นี้ อาทิเช่น ชาวมุสลิมจากอินเดียบางกลุ่ม คือ ชาวกุจราตี, ชาวปันจาบี, ชาวทมิฬ และอื่นๆ บางครั้งเรียกรวมกันว่าชาวฮินดูสตานี หรืออีกบางส่วนก็มีการแบ่งย่อยออกไปตามลัทธิความเชื่อในศาสนาเช่น กลุ่มดาวูดีโบราห์ เป็นต้น ผู้คนเหล่านี้ต่างร่วมกันสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมและศาสนาที่เป็นของตัวเองและเป็นสีสันของชุมชนมุสลิมแห่งล้านนามาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

วัลลอฮุอะอฺลัม
วันอิดรีส ปะดุกา
13 พฤศจิกายน 2022
เชียงใหม่

ขอบคุณ : ข่าวมุสลิมเชียงใหม่
#ขุนคมคำ

White news