
ผู้ปกครองไม่มีสิทธิ์บังคับลูกสาวให้เเต่งงาน
ในหะดีษระบุว่า :
إِذَا أَرَادَ الرَّجُلُ أَنْ يُزَوِّجَ ابْنَتَهُ فَلْيَسْتَأْذِنْهَا.
ท่านรอซูลลุลอฮฺﷺกล่าวว่า :
“เมื่อผู้ชายประสงค์ที่จะแต่งงานบุตรสาวของเขา เขาจงขออนุญาตนางเสียก่อน”
(บันทึกโดยอบูยะอฺลา เเละชัยคฺอัลบานียฺให้สถานะศ่อฮีหฺ ใน อัซซิลซิละฮฺ อัศศ่อฮีฮะหฺ : 1206)
ชัยคฺ มุฮัมหมัด บิน ศอลิหฺ อัลอุษัยมีน รอหิมาฮุลลอฮฺ กล่าวว่า :
“นี่เป็นหลักฐานที่ปรากฏชัดว่า ผู้ใดก็ไม่มีสิทธิ์ แม้คนผู้นั้นจะเป็นพ่อ
ที่จะบังคับลูกสาวของเขาให้แต่งงานกับคนที่นางไม่ชอบ
แม้ว่าชายผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีศาสนา และมีมารยาทที่ดีก็ตาม เพราะนางนั้นรู้จักตัวนางดีกว่าใคร
(นูรอะลัดดัรฺบ : 154)
ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ รอหิมาฮุลลอฮฺ กล่าวว่า :
“พ่อแม่นั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะบังคับให้ลูกแต่งงานกับผู้ที่เขาไม่ปรารถนา และหากว่าเขาปฏิเสธ
ก็ไม่นับว่าเป็นการอกตัญญูแต่อย่างใด มันเสมือนการบังคับให้ลูกรับประทานในสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบ”
(อัลอิคติยารอต : 344)
การห้ามบังคับในที่นี้ ครอบคลุมทั้งลูกชายและลูกสาว
และหากมีคนถามว่า ถ้าลูกสาวต้องการแต่งงานกับคนไม่ดีผู้ปกครองจะทำอย่างไร ?
คำตอบ : วาญิบสำหรับผู้ปกครองที่จะต้องห้ามปรามนาง
หากมีคนถาม ทำไมจะบังคับลูกไม่ได้ ในเมื่อเราเตรียมคนดีไว้ให้ ?
คำตอบ : เพราะท่านนบีﷺห้าม นบีﷺสั่งให้ขออนุญาตนางก่อน
แต่นบีﷺไม่ได้ห้ามที่ผู้ปกครองจะแนะนำคนดี ๆ ให้แก่ลูก หากนางพอใจ ก็แต่งให้นาง
หากนางปฏิเสธ ก็อย่าได้บังคับ ทั้งหมดเพื่อประโยชน์สำหรับตัวของลูกเอง เพราะคนแต่งคือลูกไม่ใช่ผู้ปกครอง
และผู้ปกครองที่รักลูกของเขาจริง ๆ เขาจะไม่บังคับให้ลูกของเขาแต่งงานอย่างเด็ดขาด
แต่เขาจะแนะนำบรรดาคนดีให้แก่ลูกของเขาอยู่เรื่อย ๆ แม้ลูกจะปฏิเสธก็ตาม
ชัยคฺ อับดุลอะซีซ บินบาซ รอหิมาฮุลลอฮฺ ตอบว่า :
“ผู้ปกครองที่บังคับบรรดาลูก ๆ ของเขาให้แต่งงาน จำเป็นที่เขาจะต้องกลับเนื้อกลับตัวเตาบะฮฺกลับไปหาอัลลอฮฺ”
และชัยคฺก็กล่าวอีกว่า “การแต่งงานที่เกิดขึ้นด้วยกับการบังคับนั้น
ถือว่าการแต่งงานนั้นเป็นบาฏิล ใช้ไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ได้”
(อ้างอิง : นูรอะลัดดัรบฺ , เว็บไซต์อิบนุบาซ)
ข้อควรระวังสำหรับคนเป็นลูก :
ไม่อนุญาตให้ลูกใช้ถ้อยคำที่รุนแรงในการปฏิเสธพ่อแม่ของเขา เพราะนั่นคือการอกตัญญู
มันเป็นการกระทำที่ชั่วช้า แต่ให้ใช้ถ้อยคำที่นิ่มนวล และอ่อนโยนต่อท่านทั้งสอง
นี่คือสิ่งศาสนาได้สอนเอาไว้ ผู้เป็นลูกจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ดังดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า :
فَلَا تَقُل لَّهُمَا أُفٍّ وَلَا تَنْهَرْهُمَا وَقُل لَّهُمَا قَوْلًا كَرِيمًا
ความว่า : ดังนั้นอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ ! และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง
และจงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน
(ซูเราะฮฺ อัลอิสรออฺ : 23)
เพิ่มเติม
การเเต่งงานจะต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายหญิงหรือไม่ ?
เเบ่งเป็น 3 สภาพด้วยกัน ซึ่งในเเต่ละสภาพก็จะมีหุก่มที่เเตกต่างกันไป ดังนี้ :
สภาพที่หนึ่ง : ผู้หญิงที่ยังไม่เคยผ่านการเเต่งงาน (โสด) เเละยังเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ
: กรณีนี้ไม่มีข้อขัดเเย้งใด ๆ เลยว่าบิดาของนางสามารถเเต่งงานนางให้เเก่ชายอื่นโดยไม่ต้องรับอนุญาตจากนาง
เนื่องจากนางไม่มีกรรมสิทธิ์ในการให้อนุญาตในสภาพนี้ (ยังเป็นเด็กเล็ก) เพราะท่านอบูบักรฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ
ได้เเต่งงานท่านหญิงอาอิชะฮฺให้เเก่ท่านนบีﷺในขณะที่มีอายุได้ 6 ขวบโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากท่านหญิงเลย
เเละท่านนบีﷺได้ใช้ชีวิตร่วมกับท่านหญิงในตอนที่มีอายุ 9 ขวบ
สภาพที่สอง : ผู้หญิงที่ยังไม่เคยผ่านการเเต่งงาน (สาวโสด) ที่บรรลุศาสนภาวะเเล้ว
: การเเต่งงานในกรณีนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับอนุญาตจากนางเสียก่อน เเละการให้อนุญาตของนาง คือ การเงียบของนาง
ดังวจนะของท่านนบีﷺที่ว่า :
“สาวโสดจะยังไม่ถูกเเต่งงานจนกว่าจะขออนุญาตจากนางเสียก่อน”
บรรดาศอหาบะฮฺถามว่า : โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ ! การอนุญาตของนางเป็นเช่นไร ?
ท่านตอบว่า : “คือการที่นางนิ่งเงียบ”
(หะดีษมุตตะฟะกุลอลัยฮิ)
ดังนั้นจำเป็นที่นางจะต้องอนุญาตเสียก่อน ถึงเเม้ผู้ที่จะเเต่งงานให้นางจะเป็นบิดาของนางก็ตามดังทรรศนะที่ถูกต้อง
สภาพที่สาม : ผู้หญิงที่ผ่านการเเต่งงานมาเเล้ว
: กรณีนี้นางจะไม่ถูกเเต่งงานเว้นเเต่ด้วยกับการอนุญาตของนาง
เเละการอนุญาตของนางจะต้องเกิดขึ้นโดยการเอ่ยปากพูดของนางเท่านั้น
ซึ่งต่างกับสาวโสดที่การอนุญาตของนางคือการนิ่งเงียบ
(อ้างอิง : ตันบีฮาต อะลา อะหฺกาม ตัคตัซษุ บิลมุอฺมินาต ของอัลอัลลามะฮฺ อัลเฟาซาน หน้าที่ : 90)
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ผู้ปกครองไม่มีสิทธิ์บังคับลูกสาวให้เเต่งงาน "