
เครื่องดื่มมอลต์ยี่ห้อ “บาร์บิคัน” ที่เขียนระบุบนขวดว่า “ปราศจากแอลกอฮอลล์” ถือเป็นสิ่งต้องห้ามหรือไม่ ??
ตอบโดย ศาสตราจารย์ ดร.มุหัมมัด รอติบ อัล-นาบุลซีย์ หะฟิซอฮุลลอฮ์
ตอบ..
BARBICAN เป็นเครื่องดื่มมอลต์ยี่ห้อหนึ่ง ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ โดยบริษัทผู้ผลิตได้เขียนระบุไว้บนขวดว่า “ปราศจากแอลกอฮอลล์” ซึ่งจัดจำหน่ายโดยบริษัท Aujan Coca-Cola Beverages Company (ACCBC) เครื่องดื่มชนิดนี้จะมีจำหน่ายในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นหลัก เพื่อเจาะตลาดกลุ่มประเทศมุสลิมเป็นส่วนใหญ่
ท่านศาสตราจารย์ ดร.มุหัมมัด รอติบ อัล-นาบุลซีย์ หะฟิซอฮุลลอฮ์ บรมปราชญ์อิสลามแห่งประเทศซีเรีย ได้ระบุว่า..
จากประเด็นคำถามเกี่ยวกับเครื่องดื่มบาร์บิคันนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงไว้สองมุมมอง ดังนี้ :
มุมมองแรก : ในด้านนิติศาสตร์อิสลาม แท้จริงมีทัศนะที่เห็นต่างกันเกี่ยวกับหุก่มของเครื่องดื่มชนิดนี้ และมีนักวิชาการมากมายระบุว่า หลังจากที่ได้นำตัวอย่างของเครื่องดื่มบาร์บิคันชนิดนี้ไปทำการศึกษาวิเคราะห์ในศูนย์วิจัยเฉพาะทางแล้ว ปรากฏว่า มันยังคงมีแอลกอฮอลล์หลงเหลืออยู่ ซึ่งท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า “สิ่งที่ปริมาณมากของมันทำให้มึนเมาได้ ดังนั้น การเสพมันแม้เพียงน้อยนิด ก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน”.
มุมมองที่สอง : การบริโภคเครื่องดื่มชนิดนี้ ถือว่าเป็นของชุบฮาต(ไม่มั่นใจในความหะล้าลหรือหะรอมของมัน) นี่คือมุมมองที่ดีที่สุด มีนักนิติศาสตร์อิสลามบางท่านได้ตัดสินห้ามกินเนื้อสัตว์บางชนิด และบางท่านก็ติดสินว่ามักรูฮ์ในการกินเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น เนื้อปลาโลมา (เนื่องจากปลาโลมาในภาษาอาหรับ จะเรียกว่า “หมูทะเล خنزير البحر”) เป็นต้น ซึ่งเหตุผลที่พวกเขาตัดสินว่าห้ามกินมัน หรือตัดสินว่ามักรูฮ์ในการกินเนื้อปลาโลมา(หมูทะเล) แค่เพียงเพราะชื่อของมันไปเหมือนกับหมูที่อยู่บนบกเท่านั้นเอง (ซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาอุศูลุลฟิกฮ์ของปราชญ์แต่ละคน)
เมื่อย้อนกลับมาดูเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอลล์ประเภทนี้ เราจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่แล้วบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มประเภทนี้ จะทำออกมาคล้ายกับขวดเหล้าหรือขวดเบียร์ที่หะรอม เสมือนกับว่าบริษัทผู้ผลิตต้องการที่จะกล่อมให้ผู้คนค่อยๆ ดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายแล้วผู้คนก็จะเคยชิน แล้วจะค่อยๆ ดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นที่หะรอมเข้าไป
แท้จริงแล้ว อัลลอฮ์ ตะอาลา ได้มอบเครื่องดื่มเป็นร้อยๆ ชนิดที่มาจากธรรมชาติให้แก่พวกเรา แต่ทำไมพวกเรากลับไม่สนใจเครื่องดื่มที่ดีต่างๆ เหล่านั้น แต่กลับมาถามถึงหุก่มของเครื่องดื่มชนิดนี้ ดังนั้น ท่านจงละทิ้งทุกอย่างที่ท่านไม่มั่นใจสะ แล้วหันหน้ากลับไปยังสิ่งที่ท่านมั่นใจว่ามันถูกต้องเสียเถิด.
ที่มา : https://nabulsi.com/web/article/10600
และสถาบันชี้ขาดปัญหาศาสนาดาอิเราะตุลอิฟตาอฺ แห่งประเทศจอร์แดน ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ยี่ห้อบาร์บิคัน และยี่ห้อมุสซีย์ นี้ว่า..
شراب الشعير على ثلاثة أنواع:
النوع الأول: شراب شعير مُسكر: فهذا خمر يحرم شربه وتناوله، كما يحرم بيعه وشراؤه.
النوع الثاني: شراب شعير خال تماما من المُسكر: فهذا يجوز شربه ولا حرج في ذلك.
النوع الثالث: شراب شعير يشتمل على نسبة قليلة جدا من الكحول، لا تؤدي إلى الإسكار، وهذه النسبة لا تظهر إلا من خلال الفحوص المخبرية الدقيقة، وفي كثير من الأحيان التي تكتب فيها بعض الشركات المنتجة لهذه الأشربة عبارة: (خال من الكحول) تظهر بالفحوص المخبرية نسبة ضئيلة من الكحول في ذلك الشراب: فهذا النوع اختلف فيه أهل العلم المعاصرون، ما بين مبيح لشربه وبين محرم لشربه، والورع يقتضي من المسلم اجتناب شربه. والله تعالى أعلم.
เครื่องดื่มมอลต์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ :
1. เครื่องดื่มมอลต์ที่ทำให้มึนเมา สิ่งนี้คือเหล้า ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในการนำมาดื่มกิน และห้ามนำมาซื้อขายด้วยเช่นกัน
2. เครื่องดื่มมอลต์ธรรมดา(มอลต์น้ำหวาน) ที่ไม่ได้ทำให้มึนเมาแน่นอน ดังกล่าวนี้ถือว่าอนุญาตให้ดื่มได้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
3. เครื่องดื่มมอลต์ที่ยังคงมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ในปริมาณเล็กน้อยมากๆ ซึ่งไม่ได้ทำให้เมา โดยแอลกอฮอล์ที่หลงเหลืออยู่ในน้ำชนิดนี้มีอยู่เพียงน้อยนิดมากๆ และเราไม่สามารถรับรู้ได้จากการดื่ม
นอกจากจะต้องนำน้ำชนิดนี้ไปตรวจในห้องแลปเฉพาะทางอย่างละเอียด ซึ่งก็มีการตรวจพบอยู่หลายครั้ง ที่บางบริษัทได้เขียนระบุบนผลิตภัณฑ์ของตนเองว่า “ปราศจากแอลกอฮอล์” แต่เมื่อนำไปตรวจสอบอย่างละเอียด กลับพบว่ายังมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งเครื่องดื่มประเภทนี้บรรดาปวงปราชญ์ร่วมสมัยมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยปราชญ์บางส่วนบอกว่าดื่มได้ แต่ปราชญ์บางส่วนบอกว่าหะรอม
ดังนั้น ผู้ศรัทธาที่มีความเคร่งครัดต่อบทบัญญัติของอัลลอฮ์ ตะอาลา ก็ควรหลีกห่างจากเครื่องดื่มประเภทนี้.
วัลลอฮุ ตะอาลา อะลัม.
ที่มา : https://www.aliftaa.jo/ShortAnswer.aspx?QuestionId=217771…
และท่านเชค อับดุลฟัตตาห์ กุดัยช์ อัล-ยาฟิอีย์ หะฟิซอฮุลลอฮ์ เจ้าของตำรา مواهب الكريم الفتاح ได้ตอบข้อสงสัยในประเด็นนี้มาทางข้อความเมสเซนเจอร์ส่วนตัวของกระผม(ผู้แปล) ว่า..
إذا كان مسكرا فحرام
وكذلك إذا كثيره مسكرا.
“ถ้าเป็นสิ่งที่ทำให้มึนเมา ก็ถือว่าหะรอม และเช่นนั้นแหละ หากว่าดื่มมันเข้าไปมากๆ แล้วมันทำให้มึนเมา(ก็ถือว่าหะรอม)”.
สรุป : เครื่องบาร์บิคันชนิดนี้ ไม่อนุญาตให้มุสลิมนำมาดื่ม เนื่องจากมันยังคงมีแอลกอฮอลล์หลงเหลืออยู่ แม้จะเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยมากๆ ก็ตาม และถือว่ามันเป็นเครื่องดื่มที่ชุบฮาต (ไม่มั่นใจในความหะล้าลหรือหะรอมของมัน) ซึ่งผู้ศรัทธาควรหลีกห่างจากสิ่งดังกล่าวนี้ โดยท่านนบี(ซ.ล.) ได้เคยเตือนเรื่องนี้เอาไว้ว่า “และถ้าผู้ใดถลำเข้าไปในสิ่งที่เป็นชุบฮาต ก็เท่ากับว่าเขาได้ถลำเข้าไปในสิ่งที่หะรอม” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์และมุสลิม).
วัลลอฮุ ตะอาลา อะลัม.
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " บาร์บิคัน ที่เขียนระบุบนขวดว่าปราศจากแอลกอฮอลล์ต้องห้ามหรือไม่? "