
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
«الرَّحِمُ مُعَلَّقَةٌ بِالْعَرْشِ تَقُولُ مَنْ وَصَلَنِي وَصَلَهُ اللهُ، وَمَنْ قَطَعَنِي قَطَعَهُ اللهُ»
“ (การเป็น) เครือญาติ จักถูกแขวนไว้ที่บัลลังก์ (ของอัลลอฮฺ) ซึ่ง (ความเป็นเครือญาตินั้น) จะกล่าวขึ้นว่า[1]
บุคคลใดเชื่อมสัมพันธ์กับฉัน (เชื่อมเครือญาติ) พระองค์อัลลอฮฺจักทรงเชื่อมสัมพันธ์กับเขา
และใครตัดสัมพันธ์กับฉัน (ตัดเครือญาติ) พระองค์อัลลอฮฺจักทรงตัดขาดสัมพันธ์กับเขาเช่นกัน” [2]
สิ่งที่ได้รับจากหะดีษ
เหนืออื่นใด เราทุกคนย่อมมีญาติพี่น้องด้วยกันทั้งสิ้น จะมีญาติน้อยหรือมาก
ก็มีญาติอยู่วันยังค่ำ ศาสนาอิสลามเรากำชับเรื่องการเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติไว้อย่างมากมาย
เอะอะอะไรก็ให้พิจารณาเครือญาติก่อนเป็นลำดับแรก จะจ่ายซะกาต จะให้เศาะดะเกาะฮฺ หรือจะช่วยเหลือใครก็ช่าง
ศาสนาก็กำชับให้เลือกพิจารณาเครือญาติก่อนเสมอ
สังคมปัจจุบันทำลายความเป็นเครือญาติไปทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งเราไม่ใคร่ปฏิสัมพันธ์
กับเครือญาติของเราเอาเสียเลย ขนาดเรามีมือถือซึ่งใช้ติดต่อซึ่งกันและกัน ยังไม่ค่อยจะโทรหากัน
มีเรื่องธุระกันจริงๆ เราจึงจะโทรหากัน หากไม่มีไร เราก็ไม่คิดว่าจะโทรหา
หรือไปเยี่ยมเยียนพี่น้องเครือญาติของเราหรอก อิสลามกำชับโดยเน้นหนักถึงการเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติเป็นเรื่องใหญ่เอาการ,
กล่าวคือ เครือญาติ (เห็นเป็นรูปธรรม) ณ วันกิยามะฮฺจะแขวนที่บัลลังก์ของอัลลอฮฺ แล้วประกาศก้องว่า ใครที่เชื่อมสัมพันธ์กับฉัน
(สัมพันธ์ในระหว่างเครือญาติ) ขณะอยู่บนโลกดุนยา พระองค์อัลลอฮฺจักทรงช่วยเหลือ,ดูแลใกล้ชิดเขา และหากบุคคลใดตัดขาดการเป็นเครือญาติ
ต่างคนต่างอยู่ ไม่ปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันนั้น พระองค์จักทรงตัดขาดเขา ไม่ช่วยเหลือเขา ไม่ใกล้ชิดเขา
ถามตรงๆ ว่า หากอัลลอฮฺไม่ช่วยเหลือเรา ไม่ใกล้ชิดเรา เราจะอยู่ได้อย่างไร?
กลับมาทบทวนให้ดีๆ ว่า วันนี้เราละทิ้งเครือญาติคนใดหรือไม่? เราตัดขาดญาติสนิทของเราคนไหนไปบ้าง?
หากมีเราต้องกลับไปผูกสัมพันธ์โดยเร็ว อย่าอ้อยอิ่ง หรือเพิกเฉยโดยเด็ดขาด
เพราะนั่นจะทำให้เราห่างไกลจากความเมตตาของอัลลอฮฺ และห่างไกลจากการช่วยเหลือของพระองค์
ซึ่งคงไม่มีใครปรารถนาให้เป็นเยี่ยงนั้นอย่างแน่นอน
[1] อัลลอฮฺให้สิทธิพิเศษแก่สิ่งซึ่งเป็นนามธรรมให้กลายรูปธรรม และสามารถพูดได้อีกต่างหาก
[2] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 2555
Mureed Timasen
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ผลบุญของการเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ "