วันเสาร์ 10 พฤษภาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ความรู้อิสลาม > ซูเราฮฺอัลฟาติหะฮฺพร้อมความหมาย

ซูเราฮฺอัลฟาติหะฮฺพร้อมความหมาย

หมวดหมู่ : ความรู้อิสลาม เปิดอ่าน 102 ครั้ง

ซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ

ซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺนั้นเป็นซูเราะฮฺแรกในคัมภีร์อัลกุรอาน หากพิจารณาในด้านการเรียงลำดับในอัลกุรอาน ซึ่งมันเป็นซูเราะฮฺมักกียะฮฺ มีเจ็ดอายะฮฺโดยรวมบัสมะละฮฺ (รวมบิสมิลลาฮฺ)

بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ (١)
ความว่า : ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ (1)
ตัฟซีร : ฉันเริ่มการอ่านอัลกุรอานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ โดยที่ฉันขอความช่วยเหลือด้วยกับพระนามของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ส่งเสริมให้เรากล่าวบิสมิลลาฮฺเสมอในตอนที่เราต้องการทำบางสิ่ง เช่น กินข้าว ถอดเสื้อ เขียนหนังสือ และอื่น ๆ ซึ่งอัลลอฮฺนั้น คือพระผู้อภิบาลที่คู่ควรอย่างแท้จริงที่จะได้รับการสักการะอิบาดะฮฺ และอัลลอฮฺนั้นเป็นพระนามเฉพาะสำหรับพระองค์เท่านั้น ดังนั้น ไม่อนุญาตให้เรียกผู้อื่นว่าอัลลอฮฺ.

อัรเราะฮฺมาน แปลว่าผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาทุกสรรพสิ่งที่ซึ่งความเมตตาของพระองค์ครอบคลุมทุก ๆ สิ่งถูกสร้าง.
อัรรอฮีม แปลว่าผู้ทรงเมตตา ซึ่งทั้งอัรเราะฮฺมาน และอัรรอฮีมนั้นเป็นพระนามที่บ่งบอกถึงความเมตตาของอัลลอฮฺทั้งคู่ ซึ่งความแตกต่างของความเมตตาของทั้งสองพระนามนั้นคือ อัรเราะฮฺมานนั้น พระองค์จะทรงเมตตาทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นมุสลิม กาฟิร ต้นไม้ สัตว์ และอื่นๆ แต่อัรรอฮีมนั้นเป็นการเมตตาเฉพาะ และพิเศษสำหรับมุมินผู้ศรัทธาเท่านั้น (1)

الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ (٢)
ความว่า : การสรรเสริญทั้งหลายนั้น เป็นสิทธิของอัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลก (2)
ตัฟซีร : มวลการสรรเสริญนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้ที่ทรงมีคุณลักษณะอันสมบูรณ์ และมีการกระทำที่สมบูรณ์ที่ซึ่งการกระทำของพระองค์นั้นมีความโปรดปรานและมีความยุติธรรม ดังนั้นสำหรับพระองค์คือมวลการสรรเสริญที่สมบูรณ์ที่ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน และพระองค์คือผู้ทรงดูแลกิจการของทุกสิ่ง พระองค์เป็นผู้ที่ตระเตรียมเสบียง ตระเตรียมความพร้อมให้แก่สิ่งทุกสร้างทั้งมวล และพระองค์ก็ทรงโปรดปรานพวกเขาอย่างมากมาย ซึ่งหากไม่มีความโปรดปรานของพระองค์ แน่นอนว่าทุก ๆ สิ่งก็ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้ (2)

الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ (٣)
ความว่า : ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ (3)
ตัฟซีร : อัรเราะฮฺมานคือ ผู้ทรงเมตตาทุกสรรพสิ่งที่ซึ่งความเมตตาของพระองค์ครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะผู้ศรัทธา ผู้ปฏิเสธศรัทธา ต้นไม้ พืช สัตว์ต่าง ๆ และอื่น ๆ และอัรรอฮีมคือ ผู้ทรงเมตตาที่เป็นการเมตตาเฉพาะสำหรับผู้ศรัทธาเท่านั้น ซึ่งพระนามทั้งสองนั้นเป็นพระนามที่บ่งบอกถึงความเมตตาของพระองค์

مَالِكِ يَوْمِ الدِّينِ (٤)
ความว่า : ผู้ทรงอภิสิทธิ์แห่งวันตอบแทน (4)
ตัฟซีร : มาลิก แปลว่าผู้มีกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครอง ผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งพระองค์มีกรรมสิทธิ์ในการสั่งใช้ การห้าม การตอบแทน และการลงโทษ พระองค์มีกรรมสิทธิ์ในการจัดการทุกสรรพสิ่ง ซึ่งวันแห่งการตอบแทนนั้น หมายถึงวันกิยามะฮฺ มันเป็นวันที่มนุษย์จะถูกชั่งการงานของพวกเขา ทั้งการงานที่ดีและการงานที่ชั่ว เนื่องด้วยวันดังกล่าวจะปรากฏอย่างชัดแจ้งถึงกรรมสิทธิ์ของพระองค์ ความยุติธรรมของพระองค์ และความปรีชาญาณของพระองค์ และทุกการครอบครองของมนุษย์และสิ่งถูกสร้างอื่น ๆ จะถูกตัดขาดทั้งหมด จนกระทั่งในวันนั้นพวกเขามีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะกษัตริย์ ผู้เป็นนายทาส ผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ที่เป็นทาส หรือเป็นไท พวกเขาทั้งหมดจะนอบน้อมต่อพระองค์ เนื่องด้วยความยิ่งใหญ่ และความสูงส่งของพระองค์ ซึ่งพวกเขาจะรอคอยการตัดสินของพระองค์ และหวังในการตอบแทนของพระองค์ และสั่นกลัวในการลงโทษของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ โองการนี้จึงเจาะจงการมีกรรมสิทธิ์ของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ แม้ว่าพระองค์ก็เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองในวันอื่น ๆ ด้วยก็ตาม (4)

إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ (٥)
ความว่า : เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกข้าพระองค์เคารพอิบาดะฮฺ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกข้าพระองค์ขอความช่วยเหลือ (5)
ตัฟซีร : เราขอเจาะจงพระองค์เท่านั้นในการเคารพอิบาดะฮฺ เราจะไม่เคารพอิบาดะฮฺต่อสิ่งอื่น และเราก็ขอเจาะจงการขอความช่วยเหลือต่อพระองค์เท่านั้น โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากสิ่งอื่น ซึ่งการที่อิบาดะฮฺอยู่นำหน้าการขอความช่วยเหลือในโองการนี้นั้น เป็นการให้ความสำคัญต่อสิทธิ์ของอัลลอฮฺเหนือสิทธิ์ของปวงบ่าวของพระองค์ ซึ่งอิบาดะฮฺนั้นคือคำนามที่ครอบคลุมทุกสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรักและพอพระทัย ไม่ว่าจะเป็นอิบาดะฮฺในด้านของการกระทำ หรือคำพูด ทั้งภายนอกและภายใน ส่วนการอิสติอานะฮฺนั้น (การขอความเหลือ) คือการพึ่งพาอัลลอฮฺในสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และพึ่งพาพระองค์ในการขจัดสิ่งที่เป็นภัยสิ่งที่เป็นอันตราย ซึ่งในโองการนี้เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไม่อนุญาตให้ทำอิบาดะฮฺต่อสิ่งอื่น เช่น ขอดุอาอฺต่อต้นไม้ ก่อนหิน หรือคนตาย ขอความช่วยเหลือจากพวกเขา เชือดสัตว์ให้พวกเขา เดินฏอวาฟรอบหลุมศพของพวกเขา และอื่น ๆ เว้นแต่จะทำไปเพื่ออัลลอฮฺเพียงผู้เดียวเท่านั้น และการทำอิบาดะฮฺพร้อมทั้งขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺนั้น จะเป็นสื่อที่จะนำพาไปสู่ความผาสุกอันเป็นนิรันดร์ และรอดพ้นจากความชั่วทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ ไม่มีหนทางใดที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้ เว้นแต่จะต้องดำรงอยู่กับมันทั้งสอง (หมายถึงการอิบาดะฮฺ และการขอความช่วยเหลือต่อพระองค์) และการอิบาดะฮฺจะเป็นการอิบาดะฮฺที่แท้จริงได้นั้น ก็ต่อเมื่ออิบาดะฮฺดังกล่าวถูกนำมาจากท่านนบี ﷺ มีแบบอย่างมาจากท่าน และมีเจตนาในการกระทำดังกล่าวเพื่ออัลลอฮฺ ดังนั้น ด้วยกับสองประการดังกล่าว (การงานที่ตรงตามท่านนบี และทำไปเพื่ออัลลอฮฺ) อิบาดะฮฺถึงจะเป็นการอิบาดะฮฺอย่างแท้จริง

اهْدِنَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ (٦)
ความว่า : ขอพระองค์ทรงแนะนำพวกข้าพระองค์ซึ่งทางอันเที่ยงตรง (6)
ตัฟซีร : ขอพระองค์ชี้แนะ นำทางเราไปสู่หนทางอันเที่ยงตรง มันคือหนทางอันชัดแจ้ง มันคือหนทางที่จะนำพาไปสู่พระองค์ และสวรรค์ของพระองค์ ซึ่งมันคือการรู้จักสัจธรรม และปฏิบัติในสิ่งที่เป็นสัจธรรม โปรดชี้นำ แนะนำ และบอกทางแก่เราอยู่เสมอซึ่งหนทางที่ทำให้เรามั่นคงอยู่กับศาสนาอิสลาม และละทิ้งศาสนาอื่น ๆ ซึ่งโองการนี้เป็นหนึ่งในดุอาอฺที่ครอบคลุมที่สุด และมีประโยชน์มากที่สุดสำหรับบ่าวของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ เป็นสิ่งวาญิบเป็นภาคบังคับสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องขอต่ออัลลอฮฺในทุก ๆ ร็อกอะฮฺที่เขาละหมาด เพราะสิ่งดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขา (6)

صِرَاطَ الَّذِينَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلَا الضَّالِّينَ (٧)
ความว่า : (คือ) ทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปรานแก่พวกเขา มิใช่ในทางของพวกที่ถูกกริ้ว และมิใช่ทางของพวกที่หลงผิด (7)
ตัฟซีร : ซึ่งหนทางอันเที่ยงตรงนั้น คือหนทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้โปรดปรานแก่พวกเขา ได้แก่ บรรดารอซูล บรรดานบี บรรดาผู้ที่เชื่อโดยดุษฎี บรรดาผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม และบรรดาผู้ที่ประพฤติดี ไม่ใช่หนทางของผู้ที่ถูกกริ้วที่ซึ่งพวกเขารู้ถึงสัจธรรม แต่พวกเขากลับละทิ้งสัจธรรมดังกล่าว อาทิ บรรดายะฮูด (ย ิ ว) และผู้ที่เจริญรอยตามพวกเขา และไม่ใช่หนทางของผู้ที่หลงผิดที่ซึ่งพวกเขาละทิ้งสัจธรรมด้วยความเขลา และความหลงผิดของพวกเขา อาทิ บรรดานะศอรอ (คริส เตียน) และผู้ที่เจริญรอยตามพวกเขา (7)

ที่มา ซุนนะฮ์

เปิดอ่าน 102 ครั้ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ซูเราฮฺอัลฟาติหะฮฺพร้อมความหมาย "

ปิดการแสดงความคิดเห็น