
ทุกการถามหมอดูทำให้ละหมาดไม่ถูกตอบรับหรือไม่
【ชนิดต่าง ๆ ของการถามหมอดู】
ท่านนบีﷺกล่าวว่า :
مَنْ أَتَى عَرَّافًا فَسَأَلَهُ عَنْ شَيْءٍ ؛ لَمْ تُقْبَلْ لَهُ صَلَاةٌ أَرْبَعِينَ لَيْلَةً.
“ผู้ใดก็ตามที่ไปหาหมอดู เเละได้ถามเขาถึงสิ่งใด การละหมาดจะไม่ถูกตอบรับสำหรับเขาเป็นเวลา 40 วัน”
(บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม : 2230)
ชัยคฺ อิบนุอุษัยมีน รอหิมาฮุลลอฮฺ กล่าวว่า :
“ถ้าพิจารณาตามผิวเผินของหะดีษนั้น เข้าใจได้ว่าเพียงเเค่การถามเขาอย่างเดียวทำให้การละหมาดไม่ถูกตอบรับ 40 วัน เเต่มันไม่ใช่ไม่มีข้อยกเว้นเลย ซึ่งการถามหมอดูนั้นเเบ่งออกเป็นหลายชนิดด้วยกัน
1.ถามเขาเพียงอย่างเดียว(ถามเฉย ๆ) ซึ่งชนิดนี้เป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) ดังคำกล่าวของท่านนบีﷺ : “ผู้ใดก็ตามที่ไปหาหมอดู…” ดังนั้น การยืนยันบทลงโทษต่อการถามเขานั้น บ่งชี้ถึงการห้ามมัน เพราะจะไม่มีบทลงโทษใด ๆ เว้นเเต่สำหรับการกระทำสิ่งต้องห้ามเท่านั้น
2.การถามเขาเเละเชื่อสิ่งที่เขาบอก เเละรับพิจารณาคำพูดของเขา เช่นนี้เป็นการปฏิเสธศรัทธา(กุฟรฺ) เพราะการเชื่อเขาในเรื่องเร้นลับนั้น นับเป็นการปฏิเสธต่ออัลกุรอาน
ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า
قُل لَّا يَعْلَمُ مَن فِى ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلْأَرْضِ ٱلْغَيْبَ إِلَّا ٱللَّهُ.
ความว่า : จงกล่าวเถิด(มุฮัมหมัด) “ไม่มีผู้ใดในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินจะรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย(สิ่งเร้นลับ) นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น”
(อันนัมลฺ : 65)
3.ถามเพื่อที่จะทดสอบเขาว่าเขาพูดจริงหรือโกหก ไม่ใช่เพื่อที่จะยึดเอาคำพูดของเขา ชนิดนี้ไม่มีปัญหาเเต่อย่างใด เเละไม่เข้าอยู่ในใจความของหะดีษบทนี้
4.ถามเขาเพื่อที่จะเผยความไร้ความสามารถเเละการโกหกของเขาออกมา จึงได้ทำการทดสอบเขาในเรื่องต่าง ๆ ที่มันจะทำให้การโกหกเเละความอ่อนด้อยของเขาเป็นที่ปรากฏชัด ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องกระทำ เเละบางทีอาจจะถึงขั้นวาญิบ(จำเป็น)ด้วยซ้ำไป เเละการเปิดเผยความเป็นเท็จของคำพูดของพวกหมอดูนั้น มันไม่เป็นที่สงสัยเลยว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ เเละบางทีอาจจะเป็นวาญิบก็ได้
ดังนั้น การถามหมอดูในหะดีษบทนี้จึงไม่ใช่ทุก ๆ การถามโดยไม่มียกเว้น เเต่จะต้องชี้เเจงรายละเอียดด้วยการชี้เเจงอันนี้ ตามที่มีตัวบทหลักฐานอื่น ๆ ของศาสนาได้บ่งชี้ไว้
(อัลเกาลุลมุฟีด : 341)
ที่มา อิสลามตามแบบฉบับ
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ทุกการถามหมอดูทำให้ละหมาดไม่ถูกตอบรับหรือไม่? "