วันเสาร์ 10 พฤษภาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ความรู้อิสลาม > คำอธิบายเรื่องรอยสักในมุมมองของอิสลาม

คำอธิบายเรื่องรอยสักในมุมมองของอิสลาม

หมวดหมู่ : ความรู้อิสลาม เปิดอ่าน 440 ครั้ง

หลายท่านอยากทราบถึงประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับการสัก

จากการศึกษาพบว่าการสักตามร่างกายเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของมนุษย์สมัยโบราณ เกิดขึ้นเมื่อ 5,300 กว่าปีมาแล้ว สมัยกรีก โรมัน อียิปต์ จีน ญี่ปุ่น โดยมีความเชื่อที่แตกต่างกัน นักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้กล่าวถึงรอยสักเอาไว้อย่างน่าสนใจ บางคนกล่าวว่า ลายสักและความนิยมในการสักมีขึ้นในหมู่มนุษยชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4,000 ปี นอกจากนั้นแล้วความเชื่อเกี่ยวกับรอยสักของมนุษย์แต่ละซีกโลกต่างก็มีความแตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละภูมิภาค และในยุคปัจจุบันการสักไม่ใช่เป็นแค่ความเชื่อแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ว่าการสักยังมีการพัฒนากลายเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นที่ชื่นชอบลวดลายและสีสันต่างๆทั่วทุกมุมโลก

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ถ้าเราลองย้อนกลับไปศึกษาตัวบทอัลหะดีษต่างๆอย่างพินิจพิเคราะห์ เราก็จะพบว่าเรื่องราวของการสักเป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในตัวบทอัลหะดีษ ในภาษาอาหรับคำว่าการสักจะใช้คำว่า ( اَلْوَشْمُ ) ในรูปคำนามเอกพจน์ และคำว่า ( وِشَامٌ ، وُشُوْمٌ ) จะถูกใช้ในรูปคำนามพหูพจน์ ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่สักในภาษาอาหรับจะใช้คำว่า ( وَاشِمٌ ) และผู้ที่ถูกสักจะใช้คำว่า ( مَوْشُوْمٌ ) ส่วนผู้ที่ร้องขอให้มีการสักในภาษาอาหรับจะใช้คำว่า ( مُسْتَوْشِمٌ )

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายคำว่า ” สัก ” เอาไว้ว่า ” สักคือ การเอาของแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ต่างๆ กัน เช่น สักปลาไหล สักหาของในน้ำ สักรอยช้ำเพื่อรีดเอาเลือดที่คลั่งออก, ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระเครื่องหมายหรือลวดลาย ถ้าใช้หมึกเรียกว่าสักหมึก ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่า สักน้ำมัน เมื่อใช้เหล็กจุ้มหมึกแทงที่ผิวหนังเพื่อแสดงเป็นหลักฐาน เช่น สักข้อมือแสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์หรือเป็นผู้มีสังกัดกรมกองแล้ว สักหน้าแสดงว่า เป็นผู้ต้องโทษปาราชิก เป็นต้น

ในปัจจุบันการสัก หรือ แทททู (Tattoos) เป็นเทคนิคการใส่เม็ดสีหรือน้ำหมึกคือโลหะหนัก เช่น ไอออนออกไซด์ เข้าไปฝังใต้ผิวหนัง อุปกรณ์ที่ใช้อาจจะเป็นเข็มขนาดเล็ก หรืออาจเป็นอุปกรณ์อีเลคโทรนิคคล้ายปืนยิงมีเข็มอยู่ที่ปลาย เม็ดสีจะถูกปลายเข็มเจาะฝังเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนัง ขั้นตอนและเทคนิคการทำต้องถูกสุขลักษณะตั้งแต่เข็ม อุปกรณ์ สถานที่ และความชำนาญของผู้ที่จะลงมือสักให้ลูกค้า การฝังเข็มลงไปแต่ละครั้งก็ต้องทำให้เกิดการเจ็บปวด มีเลือดออก
ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสักนั้น พบได้ร้อยละ 75 ของผู้สักทั้งหมด โดยจะเป็นอาการตั้งแต่หลังสัก แบ่งเป็นอาการทางผิวหนังร้อยละ 68 คือ ตกสะเก็ด มีอาการคัน เลือดออก บวม ตุ่มน้ำ เป็นหนอง ส่วนอาการทั่วไป ได้แก่ มีอาการมึนงง ปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดเมื่อย พบได้ร้อยละ 7 และพบภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากการสัก พบได้ร้อยละ 6 จากผู้สักทั้งหมด เช่น แผลเป็น บวมเป็นๆ หายๆ ไวต่อแสง คัน รอยสักนูน สิว ตุ่ม ชา ปัญหาทางจิตประสาท เป็นต้น

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ออกมาเตือนภัยผู้ชอบนิยม “การสัก” ให้ระวังภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสัก เผยส่วนประกอบของสีที่นำมาสัก มีส่วนประกอบของสารก่อมะเร็ง หรือหากเกิดการเจ็บป่วยและต้องเข้าตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ อาจเกิดอาการข้างเคียง นอกจากนี้หากต้องการลบรอยสักก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนสาเหตุที่เกิดภาวะแทรกซ้อนและติดเชื้อเกิดได้จาก 5 ปัจจัย ได้แก่

1. เกิดจากสี ที่ใช้สัก และการปนเปื้อนของสี และน้ำที่มาเจือจางสีปนเปื้อนเชื้อ

2. เกิดจากเทคนิคการสักที่ไม่ดี

3. สถานที่สักไม่ปลอดเชื้อ

4. เครื่องมือที่ใช้สักไม่ได้มาตรฐาน

5. จากปัจจัยของแต่ละบุคคลเอง

จากการศึกษาข้อมูลต่างในเชิงลึกพบว่า นักวิชาการอิสลามในสังกัดมัสฮับมาลีกี และชาฟีอียฺบางท่านมีความเห็นว่าการสักร่างกายนั้นถือได้ว่าเป็นบาปใหญ่ อีกทั้งนักวิชาการอิสลามส่วนใหญ่ยังมีความเห็นสอดคล้องกันอีกว่า การสักร่างกายโดยทั่วไปนั้นถือว่า ” หะรอม ” ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงร่างกายที่พระองค์อัลลอฮฺทรงสร้างสรรค์ และมอบให้กับเรามาโดยไม่มีเหตุจำเป็น อีกทั้งยังมีความสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลร้ายต่อร่างกายของเราได้ และนอกจากนั้นแล้วยังมีหลักฐานจากอัลหะดีษมากมายหลายต่อหลายบทห้ามการสักร่างกายเอาไว้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น หะดีษบทหนึ่งซึ่งรายงานโดยท่านอับดุลเลาะฮฺ บุตรของอุมัร ( ร.ฏ. ) ท่านได้กล่าวว่า

عن عبد الله بن عمر رضي الله عنهما قال: قال رسول الله صلى الله عليه وآله وسلم: ” لعن الله الواصلة والمستوصلة والواشمة والمستوشمة.” رواه البخاري

ความว่า ” ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล ( ซ.ล. ) ได้เคยกล่าวว่า พระองค์อัลลอฮฺ ( ซบ.) พระองค์จะทรงสาปแช่งสตรีที่ทำการต่อผม และสตรีที่ร้องขอให้มีการต่อผม และพระองค์ก็จะทรงสาปแช่งสตรีที่ทำการสัก รวมถึงสตรีที่ร้องขอให้ทำการสักนางอีกด้วย ” รายงานโดยบุคอรียฺ

นอกจากนั้นยังมีรายงานจากท่านอับดุลเลาะฮฺ บุตรมัสอูดอีกว่า

عن عَبْدِ اللَّهِ بن مسعود رضي الله عنه قَالَ : ( لَعَنَ اللَّهُ الْوَاشِمَاتِ وَالْمُوتَشِمَاتِ وَالْمُتَنَمِّصَاتِ وَالْمُتَفَلِّجَاتِ لِلْحُسْنِ ، الْمُغَيِّرَاتِ خَلْقَ اللَّهِ فَبَلَغَ ذَلِكَ امْرَأَةً مِنْ بَنِي أَسَدٍ يُقَالُ لَهَا أُمُّ يَعْقُوبَ ، فَجَاءَتْ فَقَالَتْ : إِنَّهُ بَلَغَنِي عَنْكَ أَنَّكَ لَعَنْتَ كَيْتَ وَكَيْتَ ، فَقَالَ : وَمَا لِي أَلْعَنُ مَنْ لَعَنَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم َ) رواه البخاري ومسلم

ความว่า ” พระองค์อัลลอฮฺ ( ซบ. ) จะทรงสาปแช่งหญิงที่สัก หญิงที่ขอให้สัก หญิงที่ขอให้ถอนขนบนใบหน้า และหญิงที่ขอให้เซาะร่องฟัน เพื่อความสวยงาม ซึ่งเป็นพวกที่เปลี่ยนแปลงการสร้างของพระองค์อัลลอฮฺ ดังนั้นข่าวคราวดังกล่าวก็แพร่สะพัดไปถึงสตรีท่านหนึ่งแห่งเผ่าบะนีอะสัด เธอมีชื่อว่า ” อุมมุยะอฺกูบ ” ทันใดนั้นเธอได้มาหาท่านอับดุลเลาะฮฺ บินมัสอูดทันที และเธอก็ได้กล่าวว่า ฉันได้ทราบข่าวมาว่าท่านได้สาปแช่งอย่างโน้นอย่างนี้หรือ หลังจากนั้นท่านอับดุลเลาะฮฺ บินมัสอูดได้กล่าวตอบเธอไปว่า ฉันสมควรไม่สาปแช่งบุคคลที่ร่อซู้ลสาปแช่งหรือ ? ” บันทึกโดย บุคอรียฺ และ มุสลิม

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ จากการที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ผู้เขียนพบว่านักวิชาการอิสลามได้แบ่งแยกระหว่างการสักกับการเพนท์ออกจากกันอย่างชัดเจน ในกรณีที่เป็นการสักแบบถาวรโดยใช้วิธีการสักแบบดั้งเดิมที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ หรือเป็นการสักที่ใช้สารเคมีบางชนิด หรือการสักแบบชั่วคราวที่ต้องใช้เวลานานนับปีกว่ารอยสักจะเลือนหายไป เช่น สักคิ้ว สักริมฝีปาก นักวิชาการอิสลามส่วนใหญ่มีความเห็นว่ารูปแบบการสักที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่ ” หะรอม ” ไม่สามารถกระทำได้ หากผู้ใดฝืนปฏิบัติย่อมมีความผิดตามหลักนิติบัญญัติแห่งอิสลาม ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็น เช่น สักเพื่อรักษาโรคตามคำวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ที่มา http://www.thaimuslim.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A1/

เปิดอ่าน 440 ครั้ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " คำอธิบายเรื่องรอยสักในมุมมองของอิสลาม "

ปิดการแสดงความคิดเห็น