
การให้อภัยนั้นดีที่สุด
ในเมื่ออิสลามได้ยืนยันสิทธิของผู้ถูกละเมิดด้วยการลงโทษผู้ที่ละเมิดอย่างสาสมกัน ตรงตามนัยของความยุติธรรม ดังนั้น การให้อภัยและการไม่ถือโทษที่ไม่ใช่เป็นการยั่วยุให้เกิดการละเมิด จึงเป็นสิ่งที่มีเกียรติและเป็นความเมตตาอย่างยิ่ง อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า
“และบรรดาผู้ที่เมื่อมีความอธรรมเกิดขึ้นแก่พวกเขา พวกเขาก็แก้แค้นตอบแทน และการตอบแทนความชั่วคือความชั่วที่เสมอกัน ดังนั้น ผู้ใด้ให้อภัยและไกล่เกลี่ยให้คืนดีกัน รางวัลตอบแทนพวกเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ไม่โปรดบรรดาผู้อธรรม
ชนเหล่านั้นจะไม่มีทางตำหนิแก่พวกเขา ส่วนที่จะเกิดโทษนั้น ได้แก่ บรรดาผู้ที่อธรรมต่อมนุษย์ และก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน โดยปราศจากความเป็นธรรม ชนเหล่านี้ พวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด และแน่นอน ผู้ที่อดทนและให้อภัย แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่นมั่นคง”
(อัชชูรอ : 39-43)
การให้อภัยเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีจิตใจที่งดงาม
♦ คนที่ให้อภัยผู้อื่นย่อมเป็นผู้ที่มีจิตใจสูงส่งและงดงาม มีความมุ่งมั่นสูง มีขันติธรรม และมีความอดทน มุอาวิยะฮฺได้กล่าวว่า :
“พวกท่านจงมีความขันติธรรมและอดทน จนกว่าพวกท่านจะมีโอกาส และเมื่อพวกท่านมีโอกาสพวกท่านจงให้อภัยและให้ความกรุณา”
♦ ขณะเมื่ออับดุลมาลิก บุตรมัรวาน ได้นำเชลยศึกมา อับดุลมาลิก ได้ถามท่านรอญาอฺ ว่า ท่านมีความเห็นเป็นอย่างไร? ท่านรอญาอฺกล่าวว่า :
“ความจริงอัลลอฮฺได้มอบสิ่งที่อัลลอฮฺรักให้แก่ท่านแล้ว นั่นคือ ชัยชนะ ดังนั้น ท่านจงมอบสิ่งที่อัลลอฮฺรักให้แก่พระองค์เถิด นั่นคือ การให้อภัย”
ดังนั้นเขาจึงให้อภัยแก่เชลยศึกนั้นทั้งหมด
♦ การให้อภัยเป็นจรรยาของผู้ที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งเมื่อพวกเขามีความสามารถ และอัลลอฮฺให้ความสามารถแก่เขาที่จะจัดการกับผู้ที่ละเมิดพวกเขาได้ แต่พวกเขายอมให้อภัย
♦ ท่านอิหม่ามบุคอรีได้กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วย การแก้แค้นผู้ละเมิดว่า คำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “และบรรดาผู้ที่เมื่อมีความอยุติธรรมเกิดขึ้นแก่พวกเขา พวกเขาก็แก้แค้นตอบแทน”
♦ อิบรอฮีม อันนะคออีย์ ได้กล่าวว่า : พวกเขารังเกียจที่จะเป็นผู้ที่ต่ำต้อย ดังนั้น เมื่อพวกเขามีความสามารถล้างแค้นพวกเขาจะให้อภัย
การให้อภัยจะทำให้ผู้ให้อภัยมีเกียรติ
มนุษย์บางคนอาจคิดว่า การไม่ดำเนินการตามสิทธิ์แก่ผู้ที่ละเมิดตนนั้นเป็นความตกต่ำ และไร้เกียรติ ความจริงแล้วมีบทบัญญัติที่ชัดเจนบ่งชี้ว่าการให้อภัยจะทำให้ผู้ให้อภัยสูงส่งและจะทำให้เขามีเกียรติ ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺได้รายงานว่า ท่านรอซูล ได้กล่าวว่า
“การทำทานจะไม่ทำให้ทรัพย์ลดหย่อนลง บ่าวของอัลลอฮฺที่ให้อภัยจะได้รับเกียรติสูงขึ้น ผู้ที่นอบน้อมถ่อมตน อัลลอฮฺจะทรงยกย่องเขาให้สูงขึ้น”
(รายงานโดยมุสลิม)
ผู้ที่สมควรได้รับการให้อภัยจากท่าน คือ ผู้ที่อยู่ร่วมกับท่าน ได้แก่ ภรรยา บุตร และคนรับใช้ ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺตะอาลา จึงได้บรรยายเรื่องภรรยาและบุตรไว้เป็นพิเศษว่า
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงในหมู่คู่ครองของพวกเจ้าและลูกหลานของพวกเจ้านั้น มีบางคนเป็นศัตรูของพวกเจ้า ดังนั้น จงระมัดระวังในการปฏิบัติกับพวกเขา และถ้าหากพวกเจ้าอภัยและยกโทษ (ให้พวกเขา) แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
(อัตตะฆอบุน : 14)
โดยปกติแล้ว หัวหน้าครอบครัวย่อมเริ่มทำความดีและปฏิบัติอย่างสุภาพอ่อนโยนแก่ภรรยาและบุตรของเขา และเมื่อพบว่าคนในครอบครัวของเขากระทำความผิดจนทำให้เขาโกรธอย่างรุนแรงและลำบากที่จะให้อภัยและยกโทษให้ได้ เพราะเขาจะถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการไม่ให้ความเคารพ ไม่เชื่อฟัง และเนรคุณ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการอบรมสั่งสอนเป็นพิเศษในเรื่องนี้ให้เขายกโทษและให้อภัย เพื่อทำให้เขาได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺตะอาลา
สำหรับคนรับใช้นั้นได้มีผู้เรียนถามท่านนบี ว่า “พวกเราจะให้อภัยแก่คนรับใช้สักกี่ครั้ง? ท่านนิ่งไม่ตอบ มีผู้ถามท่านอีก แต่ท่านก็นิ่ง ไม่ตอบ จนถูกถามเป็นครั้งที่สาม ท่านจึงตอบว่า พวกท่านจงให้อภัยเขา วันละเจ็ดสิบครั้ง”
(รายงานโดยอบูดาวูด)
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " การให้อภัย ทำให้มีจิตใจงดงาม "