วันเสาร์ 10 พฤษภาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ความรู้อิสลาม > 7 จำพวกที่จะได้อยู่ใต้ร่มเงาของอัลลอฮฺ

7 จำพวกที่จะได้อยู่ใต้ร่มเงาของอัลลอฮฺ

หมวดหมู่ : ความรู้อิสลาม เปิดอ่าน 174 ครั้ง

บุคคคล 7 จำพวกที่จะได้อยู่ใต้ร่มเงา(อะรัช)ของอีลลฮฺในวันกิยามะฮฺ

ผู้คนจะประสบกับความเหน็ดเหนื่อยตรากตรำอย่างหนักหน่วง ดวงอาทิตย์เข้ามาใกล้พวกเขาเพียงไมล์เดียว แล้วความอึดอัดความคับอกคับใจมีมากถึงขั้นที่ไม่มีใครล่วงรู้ได้ นอกจากอัลลอฮฺ แต่ในสภาพการณ์แบบนี้ ยังมีผู้คนที่ได้อยู่ในร่มเงาของพระผู้ทรงเมตตาอย่างผ่อนคลายและปลอดภัย และในหมู่พวกเขานั้นมีคน 7 จำพวกดังที่ได้ถูกกล่าวในหะดีษนี้ พวกเขามีลักษณะที่เหมือนกันคือมีความกลัวต่ออัลลอฮฺ และบริสุทธิ์ใจในการประกอบคุณงามความดีเพื่ออัลลอฮฺทั้งๆ ที่มีสิ่งยั่วยุอย่างหนักให้ทำในสิ่งตรงข้าม ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวถึงพวกเขาเพื่อเป็นการกระตุ้นให้พวกเราอยากทำการงานของพวกเขา และเพื่อส่งเสริมให้เราทำมัน

สภาพของวันกิยามะฮฺ ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะของเราแค่เอื้อมมือ บางรายงานบอกว่า ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะเราระยะหนึ่งไมล์ เพราะฉะนั้นมนุษย์ตั้งแต่ในยุคของท่านนบีอาดัม จนถึงยุคสุดท้ายนั้น ไม่ว่าจะมีจำนวนมากมายขนาดไหน ทุกคนจะถูกต้อนมาอยู่ ณ ทุ่งแห่งเดียวกัน ยืนอยู่ท่ามกลามความร้อนจากดวงอาทิตย์ โดยที่ในวันนั้นจะเป็นวันที่ไม่มีร่มเงาใด ๆ ที่จะให้ความร่มเย็นได้ นอกจากร่มเงาของอัลลอฮฺ ที่จะทรงมอบให้แก่บุคคลเจ็ดกลุ่มเท่านั้น ดังหะดีษบันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีและอิมามมุสลิม รายงานจากท่าน อบีฮุรอยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า
ในวันกิยามะฮฺจะมีมนุษย์ 7 กลุ่ม ที่อัลลอฮฺ จะทรงให้ร่มเงาของพระองค์แก่พวกเขาในวันซึ่งไม่มีร่มเงาใด ๆ นอกจากร่มเงาของพระองค์
ร่มเงาที่ทรงให้แก่บุคคล

กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มของอิมามหรือผู้นำที่ทรงคุณธรรม อยู่ในหลักการ มีความเที่ยงธรรม

กลุ่มของอิมาม ผู้นำ ผู้ปกครองที่มีความยุติธรรม ซึ่งผู้นำในยุคก่อนกับผู้นำในยุคปัจจุบันจะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้นำในยุคก่อนจะมีอำนาจ เพราะปกครองด้วยระบอบอิสลาม เขาจึงมีความสามารถที่จะชี้ถูกชี้ผิด เขาสามารถที่จะเอาบุคคลที่ทำผิดต่อหลักการศาสนา มีความประพฤติที่เป็นปรปักษ์กับอิสลาม สามารถที่จะเอามาลงโทษได้ แต่ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทย เราเป็นมุสลิมที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น บริบทของคำว่าผู้นำของบ้านเรานั้นก็ถูกตัดทอนลงมา ไม่มีสิทธิที่จะทำอะไรได้มาก ใครทำซินา อิมามก็ไม่สามารถที่จะเอาตัวคนทำผิดมาเฆี่ยนได้ ใครพูดโกหก อิมามก็ไม่สามารถที่จะลงโทษได้ ทำได้เต็มที่ก็เพียงแค่ตักเตือน การปกครองในสังคมมุสลิมยุคปัจจุบันนี้มันกลายเป็นเรื่องของกรรมการมัสยิดที่มีหน้าที่ช่วยอิมามเรื่องต่างๆ เพราะฉะนั้นกรรมการมัสยิดนี้เองก็คือส่วนหนึ่งของผู้นำเมื่อมีการปรึกษาหารืออะไรกันแล้ว ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะที่เป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกมา

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มเยาวชนหรือชายหนุ่มที่ตลอดชีวิตวัยหนุ่มของเขานั้นเติบโตมาในเรื่องของการทำอิบาดะฮฺ

เรื่องของการศึกษาหาความรู้ในเรื่องราวของศาสนา
เยาวชนทั้งชายและหญิงที่เติบโตมาในสภาพที่ทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ศึกษาหาความรู้ในเรื่องราวของศาสนา ซึ่งในอดีตเคยมีชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่เติบโตตั้งแต่วัยเด็กจนวัยหนุ่ม พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในครรลองของอัลอิสลาม จึงได้รับคำชมเชยจากอัลลอฮฺ เรื่องของพวกเขาปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟฺ อายะฮฺที่ 13 อัลลอฮฺ ตรัสว่า

“คือ บรรดาเยาวชนที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เมื่อศรัทธาและปฏิบัติความดีแล้ว พระองค์ก็จะทรงเพิ่มทางนำให้กับเยาวชนกลุ่มนั้น”

ฮะดีษบันทึกโดยท่านฮากิม และท่านอัลบัยฮากีย์ ท่านนบี กล่าวว่า
นั่นคือ ให้เรียนรู้เรื่องราวของศาสนา และให้ปฏิบัติอะมัลศอและฮฺอย่างมากในวัยหนุ่มสาว บางคนวัยหนุ่มสาวไม่ได้ใช้ไปในเรื่องราวของอิบาดะฮฺ แต่มาสำนึกตัวได้เมื่ออายุเข้าสู่วัย 40-50-60 ปี แต่เมื่อจะลงมือทำ สังขารร่างกายก็ไม่อำนวย ไม่แข็งแรงเหมือนวัยหนุ่มสาว ท่านนบี จึงบอกว่าให้ฉวยโอกาส 5 สิ่งก่อนที่อีก 5 สิ่งจะคืบคลานเข้ามาหา

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มของชายที่จิตใจของเขาผูกพันอยู่กับมัสยิด

บุคคลที่จิตใจของเขานั้นผูกพันอยู่กับมัสยิด ตรงนี้ชี้วัดได้ แค่เราเดินมาละหมาดมัสยิด เราถามใจเราว่า เรามามัสยิดเพื่ออะไร เราคิดถึงมัสยิด หรือเรามาละหมาดเพื่อให้มันครบ 5 เวลา หากเราหันกลับมาดูการใช้ชีวิตของสะละฟุศศอและฮฺนั้น เราจะทราบว่า ทุก ๆ ครั้งที่บุคคลเหล่านั้นได้ยินเสียงอะซานใจของเขาก็คิดถึงมัสยิดแล้ว ชาวสะลัฟท่านหนึ่งได้บอกว่า

“ไม่ว่าจะเข้าละหมาดเวลาใดก็ตาม จิตใจความรู้สึกของเขานั้นคิดถึงมัสยิดคิดถึงการละหมาดแล้ว”

เราจะเห็นว่าต้นเวลาของการละหมาดของคนในยุคสะละฟุศศอและฮฺนั้น จะเต็มไปด้วยคนที่มีจิตใจผูกพันอยู่กับมัสยิด ชาวสะลัฟอีกท่านหนึ่งเล่าว่า

“ตลอดระยะเวลา 70 ปี เขาไม่เคยคลาดการตักบีร่อตุล อิหฺรอมเลย” นั่นแสดงว่าเขาต้องอยู่ในมัสยิดก่อนที่จะมีการอิกอมะฮฺ

กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มของบุคคลที่รักกันเพื่ออัลลอฮฺรวมกัน เป็นมิตรกัน เป็นสหายกันในหลักการของอัลลอฮฺ แล้วก็จากกัน แยกกันในเรื่องของศาสนา มิใช่เรื่องของทรัพย์สินเงินทอง

ชายสองคนที่รักกันเพื่ออัลลอฮฺ และเกลียดกัน จากกันเพื่ออัลลอฮ ถ้าเรามองเนื้อหาของฮะดีษจะเห็นว่า คนสองคนไม่ได้รักกันเพราะว่ามีบุญคุณต่อกัน ไม่ได้เกลียดกันเพราะเรื่องราวของดุนยา แต่รักกันในแนวทางของอัลลอฮฺ เห็นว่าเป็นคนดี เป็นคนมีศาสนาก็คบเป็นเพื่อน เป็นสหายติดต่อด้วย ตราบใดที่เขาไม่ทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อหลักการ แต่เมื่อใดที่เขาทราบว่า เพื่อนคนนั้น สหายคนนี้ผิดต่อหลักการ เขาก็ตีตนออกห่าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขากระทำเช่นนั้น เพราะว่าเขารักกันในเรื่องของศาสนา เมื่อเห็นแล้วว่ามันไม่ชอบมาพากล มันไม่ถูกต้องกับเรื่องราวของศาสนา ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะหันห่างออกไป นี่คือบุคคลที่อัลลอฮฺ ทรงบอกว่าเป็นบุคคลที่จะได้รับร่มเงาในวันกิยามะฮฺ

กลุ่มที่ 5 คือ ชายที่มีหญิงผู้มีความสวยงามมาชักชวนเขา (ให้ทำซินา) แต่เขากล่าวว่า “แท้จริงฉันกลัวอัลลอฮฺ”
ชายหนุ่มที่มีสตรีรูปงามมาชวนให้เขาทำซินา มาชวนให้ทำสิ่งที่ผิดหลักการศาสนา แล้วชายหนุ่มคนนั้นมีจิตสำนึกว่า ฉันเกรงกลัวอัลลอฮฺ ไม่ยอมร่วมหลับนอนกับนาง เพราะตระหนักดีว่า ถ้าทำไปแล้วก็จะต้องได้รับบาปใหญ่ จึงหลีกห่างจากบาปนั้น อันเนื่องมาจากเกรงกลัวอัลลอฮฺ เราก็ลองพิจารณาดูว่า ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น เราจะทำอย่างไร ?

ซึ่งในฮะดีษบอกว่าหญิงสาวสวยและ มียศถาบรรดาศักดิ์ได้เชิญชวนท่านนบียูซุฟ ให้ทำซินา แต่ท่านนบียูซุฟ ก็สามารถที่จะนำตัวออกมาให้พ้นจากฟิตนะฮฺตรงนั้นได้ ถึงแม้จะโดนทอดกาย แต่ท่านนบียูซุฟ ก็สามารถที่จะพูด สามารถที่จะเอาศาสนามาบังคับตัวเองออกมาได้ บุคคลประเภทนี้ อัลลอฮฺ จะทรงให้ร่มเงาของพระองค์แก่เขาใน วันกิยามะฮฺ

กลุ่มที่ 6 คือ กลุ่มของคนที่ทำทาน บริจาคทานโดยเขาปกปิดมันไว้จนกระทั่งมือซ้ายไม่รู้ว่ามือขวาได้บริจาค ได้ทำบุญอะไรไปบ้าง
กลุ่มคนที่ทำทาน ทำศ่อดาเกาะฮฺ ฮะดีษนี้ไม่ได้พูดถึงซะกาตนะครับ เพราะซะกาตเป็นเรื่องที่จำเป็น ถ้าไม่ทำเราจะถูกลงโทษ แต่ฮะดีษนี้พูดถึงการทำทาน ทำศ่อดาเกาะฮฺ ทำด้วยความสมัครใจ ทำมากมายจนจำไม่ได้ว่าทำอะไรไปบ้าง ดังกล่าวนี้บ่งบอกว่า ทำด้วยความอิคลาส ทำโดยมีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ

กลุ่มที่ 7 คือ กลุ่มของคนที่เมื่อเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ อยู่เพียงลำพังแล้ว ดวงตาของเขาก็หลั่งน้ำตาเอ่อออกมา”
กลุ่มบุคคลที่เมื่อเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ เมื่อใด น้ำตาของเขาก็ไหลรินออกมาจากดวงตา ขอถามว่ามีกี่คนในยุคปัจจุบัน และกี่คนในยุคสะลัฟ ที่เมื่อโองการต่าง ๆ อายะฮฺต่าง ๆ คำสอนต่าง ๆ คำซิกรุลลอฮฺต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ถูกกล่าวออกมา แล้วเขานึกขึ้นได้ว่า เขาสมควรที่จะให้ความยิ่งใหญ่ ให้ความเกรงกลัวพระองค์ จนกระทั่งน้ำตาของเขาไหลรินออกมา ถ้าใครก็ตามที่มีคุณลักษณะดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นบ่าวที่มีความใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ อย่างยิ่ง ดังฮะดีษในบันทึกของท่านอัตติรมิซีย์ รายงานโดยท่านอิบนุอับบาส เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า

“ดวงตาสองดวง (หมายถึง บุคคลสองประเภท) ที่ไฟนรกไม่สามารถจะมาแผ้วพานได้ ไม่สามารถที่จะมาย่างกรายเข้าใกล้ได้ คือ ดวงตาที่ร้องไห้ออกมา อันเนื่องมาจากความเกรงกลัวอัลลอฮฺ
และดวงตาหนึ่งที่อดหลับอดนอนคอยเฝ้าไม่ให้ศัตรูของอิสลามมาย่ำกรายขอบเขตของมุสลิม คือ บรรดาทหาร บรรดาผู้ที่เฝ้ายามใหนทางของอัลลอฮฺ ไม่ให้ศัตรูนั้นเข้ามาทำลายล้างอิสลาม”

ที่มา https://www.islammore.com/view/3745

เปิดอ่าน 174 ครั้ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " 7 จำพวกที่จะได้อยู่ใต้ร่มเงาของอัลลอฮฺ "

ปิดการแสดงความคิดเห็น