
เลือดสตรี มี 3 ชนิด สิ่งที่หญิงมุสลิมต้องใส่ใจเเละสังเกตุ
1. เลือดประจำเดือน หรือภาษาอาหรับ เรียกว่า เฮด อย่างน้อย 1 วัน ปกติ ก็ 7 วัน และอยากมากไม่เกิน 15 วัน (จำนวนวันนี้ เป็นการกำหนดของนักวิชาการแพทย์) สตรีแต่ละท่านต้องสังเกตดูว่าปกติในแต่ละเดือนนั้นกี่วัน หมดแล้วก็อาบน้ำยกฮะดัส หากเกินกว่า ปกติ ก็พิจารณาได้ว่า มิใช่ประจำเดือน แต่เป็นเลือดเสีย
จากท่านอุมมุสะละมะฮฺ ซึ่งเป็นภรรยาคนหนึ่งของท่านร่อซูลลุลลอฮฺ (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ,นางถามท่านร่อซูลตอบว่า: “นางจงพิจารณาจำนวนวันและคืนซึ่งนางเคยมีเลือดประจำเดือน โดยพิจารณาจำนวนคืนวันดังกล่าวนั้นของเดือน (ในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน) นางจงละทิ้งการละหมาด จากนั้น (ภายหลังที่เกลี้ยงจากเลือดประจำเดือนแล้ว) ให้นางอาบน้ำ(ยกฮะดัส) และให้ชับเลือด (ด้วยผ้าอนามัยเพื่อความรอบคอบ) จากนั้นให้นางปฏิบัติละหมาดได้”
(บันทึกโดยนะสาอีย์ หะดีษที่ 208,อบูดาวูด หะดีษที่ 240 และอิบนุมาญะฮฺ หะดีษที่ 610)
ปกติประจำเดือนนั้นสีเหมือนเลือดปกติ สีเข้ม ถึงสีดำ
ท่านร่อซูลลุลลอฮฺ(ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)บอกว่า “ปรากฏว่าเลือดประจำเดือนเป็นสีดำ ซึ่งเป็นสีที่ถูกรู้จักกันดี (ในหมู่ของสตรี)”
(บันทึกโดยนะสาอีย์ หะดีษที่ 215)
ในอิสลามผู้หญิงจะเริ่มถูกจดบันทึกความดีเเละความชั่วโดยดูจากการเริ่มมีประจำเดือน (บรรนิติภาวะ)
2. เลือดหลังคลอดบุตร น้ำคาวปลา หรือในภาษาอาหรับ เรียกว่า นิฟาส แม้จะแท้งบุตรมีเลือดก็ตาม ก็เรียกเลือดนิฟาสเช่นกัน ปกติทั่วไป จะมีระยะเวลาประมาณ 40 วัน หมดระยะเวลาแล้วก็อาบน้ำยกฮะดัสได้ แม้จะมีเลือดมาหลัง 40 วันแล้ว ก็ต้องอาบน้ำยกฮะดัส
เลือดนิฟาส (نفاس) คือ เลือดหลังคลอดบุตรนั้นศาสนาระบุว่าต้องไม่เกิน 40 วัน นางอุมมุสสะละมะฮฺเล่าว่า “ปรากฏว่าสตรีที่มีเลือดหลังคลอดบุตรในสมัยของท่านร่อซูลลุลลอฮฺนั้น นางจะพัก 40 วันเท่านั้น” (บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 129 และท่านอื่นๆ)
ในกรณีที่เลือดนิฟาสมีเกิน 40 วัน ดังนั้นเมื่อครบ 40 วันแล้วยังมีเลือดอยู่อีก เลือดนั้นถือว่าเป็นเลือดอิสติฮาเดาะฮฺ (เลือดเสีย) เช่นนี้ก็ให้เราอาบน้ำญะนาบะฮฺ(ยกฮะดัส)ได้เลย
3. เลือดเสีย หรือในภาษาอาหรับ เรียกว่า อิสติฮาเดาะฮฺ คือ เลือดที่ต่างจาก 2 ข้อข้างบน คือเลือดที่เกินกว่าระยะปกติ สตรีที่มีสภาพเช่นนี้ให้อาบน้ำยกฮะดัสและปฏิบัติศาสนกิจได้เลย ละหมาดครั้งก็ไปก็อาบน้ำละหมาดปกติ ถึงจะมีเลือดอยู่ก็ตาม แค่ระมัดระวังอย่าให้เปื้อนเสื้อผ้านั่นเอง สตรีผู้ที่มีสภาพเช่นนี้ สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามปกติเหมือนมุสลิมทั่วไป
การสังเกตว่าประจำเดือนหมดหรือไม่?
โดยทั่วไปถ้าประจำเดือนหมดก็จะไม่มีเลือดมาแล้ว แต่บางคนนั้น อาจจะมาน้อยมาก ถ้าเห็นร่องรอยว่ามีเลือดอยู่แม้เพียงหยด สองหยด ก็ยังถือว่าเป็นเลือดประจำเดือน ให้รอจนกว่าจะหยุดมา และไม่พบเลือดแล้ว หรือมาน้อยมากจนสังเกตด้วยตาไม่เห็นให้ดูว่า สีของน้ำที่ออกมานั้นเป็นสีอะไร หากพบว่าเป็นสีขาวขุ่นหรือสีเหลืองก็แสดงว่าหมดประจำเดือนแล้ว
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อดิยัลลอฮุอันฮา เคยสอนเหล่าสตรี กล่าวว่า “พวกเธอจงอย่ารีบ จนกว่าเธอจะเห็นน้ำสีขาวขุ่นเป็นก้อน”
และอีกตัวอย่าง อุมมุอะตียะฮฺ ร่อดิยัลลอฮุอันฮา ที่กล่าวว่า
” เราไม่เคยถือว่าสีเหลืองและสีขุ่นที่พบมีสิ่งใดหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว (คือถือว่าไม่มีความหมายอะไรและไม่ใช่เลือดประจำเดือนแล้ว)”
บางคนอาจพบว่า แห้งสนิท ไม่มีอะไรออกมาเลยก็แสดงว่าหมดเลือดเฮด (เลือดประจำเดือน) ก็จำเป็นที่ต้องอาบน้ำยกฮะดัส เพื่อปฏิบัติศาสนกิจ
เมื่อแน่ใจว่าหมดแล้วก็ให้รีบอาบน้ำยกฮะดัสเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ อย่าเพิกเฉยละทิ้ง บางคนปล่อยผ่านไปหลายวัน จนเป็นเดือนก็ยังไม่อาบน้ำยกฮะดัส เพราะเท่ากับละเลยอิบาดะฮฺหลักนั่นคือ ละทิ้งการปฏิบัติศาสนกิจ โดยเฉพาะการละหมาดที่สำคัญมากๆ
ข้อห้ามของผู้มีเฮด หรือประจำเดือน เเละนิฟาส
1. ห้ามละหมาด ทั้งฟัรฺดูและสุนัต ห้ามถือศีลอด
2. ห้ามอ่าน และสัมผัสกุรอาน (นักวิชาการมีทรรศนะว่า อนุโลมในกรณีให้อ่านสำหรับผู้เรียน และผู้ที่ต้องสอนกุรอาน)
3. ห้ามมีเพศสัมพันธ์
4. ห้ามเวียน(ตอว๊าฟรอบบัยตุลอฮฺ(กะฮบะฮฺ))
5. ห้ามเข้าไปหยุดพักในมัสยิด
6. ห้ามสามีหย่าภรรยาขณะนางมีประจำเดือน แต่ต้องรอให้นางหมดประจำเดือนและอาบน้ำยกอะดัสเสียก่อน
นอกจากนั้นก็สามารถ อ่านตำราศาสนาได้ตามปกติ สามารถซิกรุ้ลลอฮฺ (การรำลึกถึงอัลลอฮฺ)ได้
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " เลือดของสตรีกับวิธีการสังเกตุที่มุสลิมะฮฺต้องรู้ "