
ท่านบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า: การนอน (ในสภาพที่คว่ำหน้านั้น) เป็นท่านอนของชาวนรก และท่านยังกล่าวอีกว่า เป็นท่านอนที่พระองค์ทรงรังเกียจ
เลี้ยงลูกให้นอนคว่ำได้หรือไม่ ?
เรามักได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดแตกต่างกันไป บ้างมีทฤษฎีรองรับ บ้างใช้ประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งไม่ว่าจะมาจากอะไรการได้รับคำแนะนำในช่วงเวลาที่คนเป็นแม่สับสน และต้องการที่พึ่งที่สุดย่อมเป็นสิ่งที่มีค่าและสร้างความอุ่นใจ สบายใจมากกว่าการคำนึงถึงผลลัพท์ของการเลี้ยงดูทารกในระยะนั้นๆ
ท่านอนทารกเป็นอีกประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาช้านาน สมัยก่อนรุ่นปู่รุ่นย่าจับทารกนอนหงายกันมาตั้งแต่แรกเกิด ถัดมาอีกรุ่นก็เปลี่ยนมาประโคมให้ลูกนอนคว่ำ ถัดมาอีกยุคก็งัดทฤษฎีบทวิจัยต่างๆ นานา เพื่อเปลี่ยนลูกให้กลับไปนอนหงายอีก สรุปแล้วทารกควรหรือไม่ควรนอนท่าไหน คุณแม่มือใหม่จะตัดสินใจอย่างไร อิสลามมีคำตอบในเรื่องนี้หรือไม่ ?
เหตุผลที่นิยมให้ทารกนอนคว่ำ โดยตะแคงหน้าออกนั้นเป็นเพราะ
1. ทำให้ทารกนอนหลับได้นานมากขึ้น
2. ทำให้ศีรษะทารกไม่กดทับไปกับเบาะ หัวเด็กจึงทุยแลดูสวยงาม
3. ทำให้เด็กไม่นอนผวาตกใจตื่นบ่อย
4. ปอดจะทำงานได้ดีกว่าท่านอนหงายเพราะไม่ถูกหัวใจกดทับ ส่งผลให้ปอดขยายตัวได้ดีเวลาที่เด็กหายใจ และทำให้มีออกซิเจนในเลือดสูง
5. เด็กที่มีอาการสำรอกนมบ่อยๆ จะแหวะนมออกมาได้ง่ายไม่ย้อนเข้าสู่หลอดลม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปอดอักเสบ
ข้อเสียของท่านอนคว่ำ คือ
รายงานทางการแพทย์พบว่า อุบัติการณ์การเกิดโรค sudden infant death syndrome (SIDS) หรือที่เรียกว่า “โรคไหลตาย” นั้น พบมากในเด็กนอนคว่ำ และพบต่ำสุดในเด็กนอนหงาย ตั้งแต่ช่วงอายุ 0-6เดือน และยังไม่พบบทสรุปสาเหตุที่แน่ชัดของการเสียชีวิตในทารกจากสภาวะดังกล่าว
ข้อดีของการนอนหงาย คือ
1. ลดความเสี่ยงของภาวะ SIDS (หลับไม่ตื่น,ไหลตาย) ในทารก
2. ลดปัญหาในเด็กที่มีอาการขาบิด ขาเก
ข้อเสียของการนอนหงาย คือ
อาจเสี่ยงต่อการที่อาหารไหลย้อนเข้าหลอดลม หรือเข้าไปอุดตันหลอดลม (สำหรับเด็กที่มีอาการกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ หรือระบบทางเดินหายใจไม่ปกติ)
ข้อดีของการนอนตะแคงขวา คือ
1. หัวใจทำงานได้สะดวก
2. อาหารจากกระเพาะ ถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ทำให้ไม่คั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานเกินไป
สำหรับมุมมองอิสลามแล้ว ท่านร่อซู้ล ได้ห้ามการนอนคว่ำไว้ในหลายหะดีษด้วยกัน ซึ่งเป็นการห้ามในลักษณะของมั๊กรู๊ฮฺ (ไม่ชอบให้กระทำ) ไม่ใช่การห้ามที่หมายถึงหะรอม (ห้ามกระทำโดยเด็ดขาด)
ท่านฏิคฟะฮฺ อัลฆิฟารีย์ رضي الله عنه กล่าวว่า : ขณะที่ฉันนอนเอกเขนกอยู่ในมัสยิดโดยนอนทับท้อง (นอนคว่ำ) ก็มีชายคนหนึ่งมาสกิดฉันด้วยขาของเขา แล้วกล่าวว่า : “ท่านอนนี้เป็นท่าที่อัลลอฮฺทรงกริ้ว” ชายผู้นั้นคือ ท่านร่อซู้ล
(หะดีษบันทึกโดยอิมาม อบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่ศ่อเฮี๊ยะฮฺ )
อีกรายงานหนึ่ง ระบุว่า:
” هَذِهِ ضَجْعَةُ الشَّيْطَانِ ” “นี่คือท่านอนของชัยฏอน”
อีกหะดีษซึ่งรายงานโดย ท่านอบูหุรอยเราะห์ رضي الله عنه บันทึกอยู่ในสุนันอัตติรมีซีย์ ระบุว่า:
” إن هذا ضجعة لا يحبها الله” “แท้จริงแล้ว ท่านอนนี้เป็นท่าที่อัลลอฮฺไม่พอพระทัย”
และในหะดีษของอบูซัร رضي الله عنه ในบันทึกของอิมาม อิบนิ มาญะฮฺ ระบุว่า: “ แท้จริงแล้ว มันคือท่านอนของชาวนรก ”
ในหนังสือ “มุฆนีย์ อัลมุฮฺตาจ” เชค อัชชิรบีนีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ระบุว่า ชอบให้ปลุกคนที่นอนคว่ำ (โดยเจตนา) ให้ตื่น เพราะเป็นท่าที่อัลลอฮฺทรงกริ้ว ดังกล่าวเป็นการสนับสนุนว่า การนอนคว่ำเป็นท่านอนที่รับทราบโดยทั่วกันว่า “มั๊กรูฮ” (น่ารังเกียจ ไม่ชอบให้กระทำ)
อนึ่ง ผู้ที่หลับไปโดยไม่ได้เจตนานอนคว่ำตั้งแต่ต้น แล้วพบว่าภายหลังตนนอนคว่ำอยู่นั้นก็ถือว่าไม่เป็นไร เพราะคนนอนหลับสนิทจะไม่ถูกนับเอาความผิดจนกระทั่งเขาตื่น เช่นเดียวกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยการนอนคว่ำ ก็ไม่ถือเป็นความผิดแต่ประการใด เพราะเข้าอยู่ในขอบข่ายที่ว่า “ความจำเป็น (ฎ่อรูเราะห์) สามารถทำให้ข้อจำกัดทางศาสนาเป็นที่อนุมัติ”
ที่มา <a href="https://www.muslimthaipost.com/
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ท่านอนต้องห้ามในอิสลาม "