
ลิง หรือ วานร เป็นชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดในอันดับ Primates ลักษณะท่าทางคล้ายคน ตีนหน้าและตีนหลังใช้จับเกาะได้ ที่มีหาง เช่น วอก (Macaca Mulatta) ที่ไม่มีหาง เช่น กอริลลา (Gorilla gorilla) ในภาษาอาหรับเรียกลิงว่า กิรดุน (قِرْدُ ) มีรูปพหูพจน์ว่า อักร๊อด, กุรู๊ด และกิร่อดะฮฺ เป็นต้น ชาวอาหรับระบุว่า ลิงเป็นสัตว์เดรัจฉาน หัวเราะได้ ชอบส่งเสียงร้อง เข้าใจอะไรๆ ได้รวดเร็ว เรียนรู้ง่าย บางทีคนทั่วไปเรียกลิงว่า ซะอฺดาน บางทีก็หมายถึง มารร้าย
ในอัลกุรอานได้ระบุคำว่า “ลิง” ในรูปพหูพจน์ คือ กิร่อดะตุน (قِرَدَةٌ ) อันหมายถึง ฝูงลิง ระบุไว้ 3 แห่งด้วยกัน กล่าวคือ ในบทอัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 65 , บทอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 60 และบทอัลอะอฺร๊อฟ อายะฮฺที่ 166 สำหรับอายะฮฺที่ 60 จากบทอัลมาอิดะฮฺนั้น ได้กล่าวถึงมาแล้วในเรื่องสุกรที่ผ่านมา
ส่วนอายะฮฺที่ 65 จากบทอัลบะกอเราะฮฺ ซึ่งมีใจความว่า :
“และแน่แท้พวกท่านได้รับรู้แล้วถึงบรรดาผู้ที่ละเมิดในวันเสาร์จากหมู่พวกท่าน แล้วเราได้กล่าวกับพวกเขาว่า พวกเจ้าจงเป็นฝูงวานรที่อัปยศ ต่ำต้อย”
และอายะฮฺที่ 166 จากบทอัลอะอฺร๊อฟ ซึ่งมีใจความว่า :
“ครั้นเมื่อพวกเขาแข็งขืนยืนกรานจากสิ่งที่พวกเขาถูกห้ามปรามจากสิ่งนั้น เราจึงกล่าวแก่พวกเขาว่า พวกเจ้าจงเป็นฝูงวานรที่อัปยศต่ำต้อยเถิด”
ทั้งสองอายะฮฺกล่าวถึงเรื่องราวของชาวเมืองอัยละฮฺ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอัลกุลซุม (คือส่วนของคลองสุเอซที่ติดกับทะเลแดง) ชาวเมืองได้ละเมิดบัญญัติห้ามทำประมงในวันเสาร์ (วันสะบะโต) เนื่องจากในทุกวันเสาร์จะมีปลามาขึ้นหน้าน้ำชุกชุม ส่วนในวันอื่นๆ กลับไม่มีปลาแต่อย่างใด อิบลีส พญามารจึงได้ล่อลวงชาวเมืองให้ทำหลุมเพื่อดักปลา พอถึงวันศุกร์ก็ล่อปลาเข้าหลุมโจรและกักปลาเอาไว้ และจับปลาในวันอาทิตย์
การทำประมงเช่นนี้ถือว่าเป็นการเลี่ยงบาลีและใช้เล่ห์เพทุบายในการทำความผิด ชาวเมืองฝ่ายที่เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นผิดต่อบัญญัติ จึงห้ามปรามว่ากล่าวตักเตือน พวกที่เหลือก็ไม่ฟังและแข็งขืน พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) จึงสาปผู้กระทำผิดให้กลายเป็นฝูงลิง ส่วนฝ่ายที่ห้ามปรามนั้นรอดพ้นจากการลงทัณฑ์ นักอรรถาธิบายอัลกุรอานระบุว่า พลเมืองที่เป็นคนหนุ่มถูกสาปให้เป็นลิง ส่วนคนแก่ถูกสาปเป็นฝูงสุกร ทั้งหมดเมื่อถูกสาปก็จะสูญพันธุ์ ไม่กิน ไม่ดื่ม และอยู่ได้ไม่เกิน 3 วันก็ตายหมดสิ้น
ที่มา: www.thaimuslim.com
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ลิง หรือ (วานร) สัตว์ที่ถูกระบุถึงในคัมภีร์อัลกุรอาน "