
⭐️ Part 1 : ความสำคัญของเวลาและความสอดคล้องกับซูเราะฮ์อัลอัศร์
1. เวลาก็คือชีวิต
2. เวลาเป็นสิ่งที่ผ่านอะไรไปแล้ว สิ่งนั้นจะมีการสูญเสีย เช่น เวลาผ่านในขนมปัง ก็จะมีการหมดอายุ เราก็เช่นกันที่กำลังถอยหลังในทุกวัน
3. เวลาเป็นหนึ่งสิ่งที่ท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) บอกเราว่า เป็นหนึ่งใน 2 เนียะมัตที่เราใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายมากที่สุด (2 เนียะมัต นั้นคือ “สุขภาพและเวลา”)
4. ไม่ว่าจะเป็นยุคของท่านนบีหรือยุคไหนก็ตาม ธรรมชาติของมนุษย์ คือ การไม่เห็นคุณค่าของเวลา ในแง่ที่เราไม่ได้ใช้ไปในฐานะที่เราเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ (ซ.บ.)
5. คำว่า “ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์” ต้องดูว่าเป็นประโยชน์ในแง่ของอะไร ในการเติบโตแบบไหน เราเชื่อมต่อกับการพัฒนาตัวเองเพื่อให้เป็นคนที่น่ารักกับอัลลอฮ์หรือเปล่า ?
6. คนเรามีต้นทุน 24 ชั่วโมงเท่ากัน แสดงว่าคนที่ได้กำไรมากที่สุดไม่ใช่คนที่มีเวลา 25 ชั่วโมงเพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่คือ “คนที่ทำให้ 24 ชั่วโมงของเขามีคุณภาพมากที่สุด”
7. อัลลอฮ์คือ กาลเวลา เพราะพระองค์คือ ผู้กำหนดเช้า-เย็น และการงานทั้งหมดอยู่ที่ระหว่างกาลเวลา จากฮะดีษของท่านนบี สิ่งที่อัลลอฮ์วิเคราะห์มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้เวลาอย่างสุรุ่ยสุร่าย เผาผลาญเวลา และจากซูเราะฮ์อัลอัศร์ มนุษย์ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนั้น ตกอยู่ในกลุ่มคนที่ขาดทุน แล้วเราจะทำอย่างไรให้เป็นคนที่มีทางรอด
8. เป็นวาระที่เราต้องทำอะไรบางอย่างกับ “เวลา – ชีวิต – ความขาดทุน” ซึ่งกล่าวอยู่ในซูเราะฮ์อัลอัศร์ หมายถึง ความฉุกเฉินของชีวิตที่เราจะนิ่งดูดายไม่ได้แล้ว เพราะสิ่งที่ไล่ล่าเราทุกวันคือ “ความตาย” เราไม่รู้ว่าวันของเราคือเมื่อไหร่ ถ้าเราจะบอกว่า ค่อยเติมเต็มทุกอย่างก่อน แล้วจะมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง มันคงไม่ใช่ทางที่ฉลาด
อ
9. เราจะทำอย่างไรให้เวลาที่เหลือของชีวิต เมื่อเอามาใส่ในกระบวนการแล้ว ทำให้เราได้ผลบุญมากที่สุด ดังนั้นเราต้องรู้ว่า “เวลา” เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ให้มานั้นมีความสำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร ?
10. หนึ่งสิ่งที่ทำให้ดีดขึ้นมาทำอิบาดะฮ์และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้มากที่สุด นั่นคือ “ความตาย” มันเป็นความแน่นอนที่จะเดี๋ยวไม่ได้แล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพรุ่งนี้ มะรืนนี้ อัลลอฮ์เก็บความตายไว้ ณ พระองค์เท่านั้น มันทำให้เรารู้สึกว่า “ฉันต้องทำอะไรบางอย่างกับชีวิต !!”
11. “ใช้ชีวิตเหมือนใกล้จะปิดเทอม” เราอยู่กับการสอบ เราอยู่กับการเตรียมตัวจริงจัง ฉันต้องทำอะไรบางอย่างกับตัวเองในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เคลียร์งาน ขาดอะไรไปบ้าง อ่านหนังสือ เด็กที่เข้าใจ เด็กที่ฉลาด จะไม่มีเวลานั่งเอ้อระเหยแล้ว ช่วงเวลาที่สอบเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยมาก รู้สึกเครียด และอยากให้ผ่านไปเร็ว ๆ เป็นธรรมชาติ (ฟิตเราะห์) เป็นสัจธรรมของดุนยา เป็นบททดสอบที่มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันทำให้เราไม่มีเวลามาก ถ้าเราไม่เตรียมตัวเราอาจจะพลาด และรู้สึกเสียดายที่หลังที่เราไม่ได้เตรียมตัวในวันสอบจริง / ครูฟาร์
12. วันที่เราปิดเทอมจริง ๆ คือวันที่เราจากโลกนี้ไปแล้ว ตอนนั้นจะเป็นช่วงเวลาตรวจข้อสอบ ในระหว่างนั้นเป็นช่วงกุโบร์ ก็เป็นอีกบททดสอบหนึ่ง ก่อนที่จะไปหาอัลลอฮ์เราจะได้รับเฉลยว่า เราจะได้เป็นชาวสวรรค์หรือชาวนรก จากการตรวจข้อสอบ ซึ่งเราจะกลับไปแก้ไข ไปทำอะไรตรงนั้นไม่ได้อีกแล้ว
13. สิ่งที่เราบอกตัวเองช่วงเวลาใกล้จะปิดเทอม นั่นคือ “ฉันจะจริงจังวันนี้ เต็มที่ตอนนี้ เดี๋ยวก็ได้สบายแล้ว” ชีวิตฉันจะมีความสุขหลังจากที่ฉันเสียชีวิต ไม่ต้องมานั่งพะวงอะไรอีกแล้ว นี่คือ Sense ของความ Urgency ที่เราจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้แล้ว
•••••••••••
⭐️ Part 2 : การปรับMindsetให้เห็นความสำคัญของเวลา
1. การปรับ Mindset ให้เราเป็นคนที่เอาเวลาที่เหลือของชีวิตมาประมวลและทำให้ตัวเองได้สิ่งที่ดี ๆ มากที่สุด นั่นคือ การบอกตัวเองว่า “ความตายใกล้เข้ามาทุกที” ถ้าเราจะตายพรุ่งนี้ เราพร้อมแค่ไหน ? มันจะทำให้เราอยากทำวันที่เหลือให้ดีที่สุด เราจะเต็มที่กับทุกอย่าง เพราะเรารู้สึกว่าจะกลับมาแก้ไม่ได้แล้ว
“ถ้าวันพรุ่งนี้ฉันจะกลับไปหาอัลลอฮ์ ฉันจะไม่เสียดายว่าฉันทำเต็มที่ที่สุดแล้ว”
2. ฮะดีษของท่านนบี : จงปลูกอินทผาลัม แม้ว่ามันจะเป็นวันกิยามะฮ์ แม้ว่ามันจะเป็นเมล็ดสุดท้ายให้เราปลูก
3. เวลาที่มนุษย์ทำอะไรให้สุด นั่นเพราะว่า “ฉันไม่มีโอกาสอีกแล้ว” คำนี้มันจะช่วยดันให้เราทำทุกอย่าง อย่างเต็มที่และดีที่สุด เราจะไม่รีรอ เราจะเอาทรัพยากรเวลาที่อัลลอฮ์ให้มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เป็นช่วงเวลาที่เหลืออยู่ที่เราจะได้ทบทวนตัวเองและถามตัวเองอยู่ตลอดว่า..
– ทำสิ่งนี้จะเพิ่มพูนอะไร ?
– ช่วยอะไรในวันที่ฉันจากโลกนี้ไปแล้วบ้าง ?
– เจ้าของเวลาที่ให้ เขา Happy มั้ย กับเวลาที่เป็นทรัพยากรที่อัลลอฮ์ให้ แล้วเราเอาไปใช้ในหนทางใด ?
4. สิ่งที่เป็นตัวสะท้อน ปัจจัยที่เป็นตัวชี้วัดว่าเรา “ใส่ใจกับเวลา” มากแค่ไหน ให้ดูตอนที่เราว่าง เราให้ใจกับอะไร ? เราเอาเวลาไปให้ความสุขกับตัวเองหรือเอาเวลาที่เรามีไปเติมเต็ม เพื่อให้เรากลายเป็นบ่าวที่น่ารักของอัลลอฮ์มากยิ่งขึ้น
5. พอเรามี Mindset แบบนี้ เราจะไม่กล้าเอาเวลาไปใช้สะเปะสะปะ เพราะเรารู้ว่าเวลาเป็นทรัพยากรที่มีเจ้าของ และเจ้าของก็คือ อัลลอฮ์
“พระองค์จะถามทุกวินาทีที่เราเอาไปใช้ ว่าเราเอาไปใช้จ่ายในหนทางของพระองค์ หรือเพื่อตัวเองเป็นหลัก”
6. คุณค่าของเวลาในซูเราะฮ์อัลอัศร์ แค่ลำพังอัลลอฮ์ “สาบานด้วยกาลเวลา” นั่นก็ไม่ธรรมดาแล้ว
7. ใน 24 ชั่วโมง เราจะเห็นความเหลื่อมล้ำของคุณภาพเวลาของแต่ละคนที่ห่างกันมาก ๆ ซึ่งเราเป็นคนกำหนด เลือกจัดสรรเวลาด้วยตัวเราเอง ดังนั้นคุณค่าของเวลา อยากให้ตัวเราเป็นคนที่อยู่ข้างหน้าหรืออยู่ข้างหลัง เป็นสิ่งที่อยู่ในมือ สิ่งที่เรามีอำนาจควบคุม แล้วตรงนี้เราทำอะไรกับมันบ้าง นี่คือสิ่งที่เราต้องถามตัวเอง
8. ความแตกต่างอยู่ที่การบริหารเวลาของแต่ละคน เราจะต้องปักหมุดว่าในช่วงชีวิตที่เรามีเวลาไม่มาก ก่อนเราจะตายเราอยากทำอะไร ? เราจะต้องทำอะไร ?
9. หมุดที่หนึ่ง : “อย่าตายจนกว่าจะเป็นคนที่ศิโรราบ” [ซูเราะฮ์อาละอิมรอน : 102]
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنتُم مُّسْلِمُونَ
โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงยำเกรงอัลลอฮ์อย่างแท้จริงเถิด และพวกเจ้าจงอย่าตาย เป็นอันขาดนอกจากในฐานะที่พวกเจ้าเป็นผู้นอบน้อมเท่านั้น
10. หมุดที่สอง : “อย่าตายจนกว่าเราจะปรับ Mindset เป็นคนที่คิดดีกับอัลลอฮ์ (ซ.บ.)”
11. ถ้าเราจะบอกว่า ค่อยเอาไว้ทำบั้นปลายชีวิต ตอนนี้อาจจะเป็นบั้นปลายชีวิตเราแล้วก็ได้ มันจึงเป็นสิ่งที่รีรอไม่ได้
12. ความท้าทาย คือ เราไม่รู้ว่า..เราจะตายเมื่อไหร่ ? แสดงว่าทุกวินาทีเป็นช่วงปลายของชีวิตเสมอ หมุดที่เราจะต้องปัก นั่นคือ ทำอย่างไรก็ได้เหมือนที่ท่านนบีฝากฝังและในอัลกุรอานได้บอกเอาไว้ (ตามข้อที่ 22, 23)
13. ภารกิจที่มนุษย์ต้องทำมีมากมาย มีความรับผิดชอบ ก่อนจะไปถึงจุดสิ้นสุดในโลกดุนยานี้ที่เป็นความตาย คนที่ใช้เวลาไม่คุ้มค่าคือ คนที่ลืมภารกิจต่าง ๆ แล้วปล่อยให้เวลาผ่านไป
“อย่าปล่อยให้เวลาชีวิตผ่านไป โดยที่การงานไม่ถูกเพิ่มพูน”
14. เวลามันควรเดินไปพร้อมกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น ที่สามารถทำให้เราตอบคำถามได้ว่า เวลาที่หายไปจากชีวิตเราไม่ได้สูญเปล่า ล่องลอย ไม่ได้ไร้ประโยชน์ เช่น เวลาที่หายไปของปี 2564 ที่มีแค่ครั้งเดียวในชีวิต ไม่สามารถมีปีนี้ได้อีก
– เราทำอะไรไปบ้าง ?
– มันดีกว่าปีก่อนยังไงบ้าง ?
– เรามีผลงานที่ดีเด่นที่เราจะไปตอบอัลลอฮ์ได้หรือเปล่า ?
เพราะเมื่อความตายมาถึง นั่นคือจุดสิ้นสุดภารกิจของชีวิต
16. ในเรื่องของการตักตวงผลบุญ ความตายจึงเป็นตัวเตือนสติที่ดีมาก ๆ ว่า “เวลามีจุดสิ้นสุด”
17. เหมือนเราซื้อขนมปังมา แล้วเราเห็นว่า หมดอายุวันที่เท่าไหร่ จึงทำให้เรารู้ว่า เราต้องกินในเวลาที่จำกัด ชีวิตของเรา..เราแค่เป็นคนที่ซื้อขนมปัง แล้วลืมไปว่ามันมีวันหมดอายุ เราก็เลยปล่อยทิ้งไว้จนมันขึ้นรา หรือเน่าเสียใช้งานไม่ได้ เราก็อาจเป็นประเภทนี้ หรือเราอาจเป็นขนมปังที่มันขึ้นราไปแล้วก็ได้ ดังนั้นให้ความตายเป็นตัวเตือนสติ ว่าเรามีภารกิจที่ต้องทำอีกเยอะแยะมากมาย และอย่าได้ตายเป็นอันขาด จนกว่าจะได้เป็นคนที่นอบน้อมและศิโรราบต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) / คุณครูขนมปัง
⭐️ Part 3 : How to ทำยังไงให้เวลาที่เหลือในชีวิตมีคุณภาพและเกิดประโยชน์มากที่สุด
1. เทคนิคการลงมือทำแล้วได้อะไรที่มากขึ้น ในสภาพที่ลงทุนน้อยกว่า เป็นทางลัดของชีวิตในการตักตวง เพื่อให้เวลา 24 ชั่วโมงของเราได้มากกว่าการลงทุนธรรมดา
2. ชีวิตเรามีเนียะมัตหลายประการที่เราไม่เคยขอบคุณและไม่รู้ตัว หนึ่งในเนียะมัตที่อัลลอฮ์ให้กับประชาชาติของท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) คือ “การมีอายุขัยที่ไม่ได้ยืนยาวเหมือนประชาชาติก่อนหน้า” (เพื่อช่วยให้เราไม่ยึดติดดุนยา)
3. อะไรที่เราอยู่กับมันนาน ๆ เราจะยิ่งผูกพัน ลำพังเราอยู่กับดุนยาไม่กี่ปี เรายังผูกพันเลย แล้วประชาติหนึ่งที่อยู่กับมันเป็นร้อยปีพันปี จะผูกพันมากขนาดไหน
4. การมีอายุขัยที่ไม่ยืนยาว ทำให้ความผูกพันระหว่างเรากับดุนยาไม่ได้เข้มแข็งหรือแข็งแกร่งเท่ากับคนยุคก่อนหน้า (ประชาชาติของท่านนบีมีอายุขัย 60-70 ปี)
5. บททดสอบที่ใหญ่และสาหัสมาก ๆ คือ “บททดสอบของการยึดติดกับดุนยา” เพราะคนที่คุ้นเคยกับอะไรบางอย่าง เขาก็ยากที่จะทิ้งสิ่งนั้น แล้วอัลลอฮ์ก็ช่วยให้ระยะเวลาที่เราคลุกคลี หรือยึดติดอยู่กับมันสั้นนิดเดียว
6. ถ้าเราอายุสั้น การงานความดีเราจะน้อยกว่าคนที่อายุยาวมั้ย ตอบเลยว่า..ไม่ใช่ เพราะหนึ่งในเนียะมัตที่อัลลอฮ์ให้กับประชาชาติของท่านนบีมูฮัมมัด(ซ.ล.) คือ “การงานหนึ่งได้ผลบุญประหนึ่งอีกหลายเท่าตัว”
7. การละหมาดเป็นบทบัญญัติที่ท่านนบีขึ้นไปรับเองบนฟากฟ้า ที่เหลือท่านนบีอยู่บนพื้นดินและโองการถูกประทานลงมา นี่คือความสูงส่งของการละหมาด เราได้การละหมาดในตอนแรก 50 เวลา แต่ท่านนบีมูซาให้ท่านนบีมูฮัมมัดไปขอต่ออัลลอฮ์ จนเรามีการละหมาด 5 เวลา โดยได้ผลบุญเทียบเท่า 50 เวลา ไม่ได้ถูกลดทอนผลบุญเลย
8. เคล็ดลับการใช้เวลาให้คุ้มค่า
????เทคนิคที่ 1.) การหาโปรโมชั่น : โปรโมชั่นที่อัลลอฮ์ให้กับประชาชาติของท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) ที่มีเวลาสั้นในโลกดุนยา โดยที่อัลลอฮ์ให้เราได้ผลบุญมหาศาล เทียบเท่าประชาชาติก่อนหน้า ด้วยกับการทำความดีในช่วงเวลาพิเศษและได้ผลบุญที่คูณทวี
– ใน 1 ปี อัลลอฮ์ให้ความดีเพิ่มพูนใน “เดือนรอมฎอน”
– พิเศษมากขึ้นที่เดือนรอมฎอน ใน 10 คืนสุดท้าย มี 1 คืนพิเศษ “ลัยละตุลก็อดร์” ที่ทำความดีแล้วได้ผลบุญเท่ากับ 1000 เดือน
– ในหนึ่งคืน มีช่วงเวลาหนึ่งในสามสุดท้ายของค่ำคืน “ช่วงเวลาตะฮัจญุด” เป็นช่วงเวลาพิเศษ เป็นเวลาที่อัลลอฮ์ลงมาด้วยตัวของพระองค์เอง
– ในช่วงเวลาพิเศษของค่ำคืนนี้ ก็มีความพิเศษย่อยลงไปอีก คือ “ช่วงที่สุญูด” เป็นท่วงท่าที่ประเสริฐที่สุด
– การทำความดีใน “วันศุกร์” ก็จะถูกคิดคำนวณมากกว่าวันอื่น ๆ ของสัปดาห์ เพราะเป็นวันสำคัญและมีเกียรติมากกว่าวันอื่น
– คนที่อยู่ในสภาพสุญูด ในช่วงเวลาหนึ่งในสามของค่ำคืน ในเวลาตะฮัจญุด ในค่ำคืนลัยละตุลก็อดร์ ในเดือนรอมฎอน โปรโมชั่นนี้ !! เขาจะได้ผลบุญมากขนาดไหน
– ภารกิจของความดีไม่ได้มีแค่ “ช่วงเวลา” ยังมีเรื่อง “สถานที่” เช่น ผู้ชายละหมาดที่มัสยิด ได้ผลบุญมากกว่าละหมาดที่บ้าน และเรื่องของ “บุคคล” เช่น คนที่พูดจาดีกับพ่อแม่ ได้ผลบุญมากกว่าคนที่พูดจาดีกับเพื่อนพ้อง เพราะมาตรฐานของกลุ่มคนที่เป็นพ่อแม่สูงกว่า
ดังนั้นในเรื่องของศาสนาเราสามารถเก็บโค้ดและหาโปรโมชั่น ด้วยการทำความดีให้เป็น “เหนื่อยเท่าเดิม แต่ได้ผลบุญมากขึ้น” ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเวลา
สถานที่ บุคคล
ความดี x เวลา
ความดี x สถานที่
ความดี x บุคคล
ศึกษาหาความรู้ว่าเวลานี้ควรใช้การงานไหน วางการงานไว้ให้ “ถูกที่ ถูกเวลา” ก็จะทำให้เรามีโบนัสพิเศษในเรื่องของผลบุญ
9. เคล็ดลับการใช้เวลาให้คุ้มค่า
????เทคนิคที่ 2.) การขอความบารอกัต : ให้ความดีที่เราทำถูกคำนวณเพิ่มพูน ทั้งเวลา ทรัพย์สิน เงินทอง ชีวิต อายุขัย ความรู้ที่เรามี ฯลฯ ด้วยการขอดุอาอ์
10. เคล็ดลับการใช้เวลาให้คุ้มค่า
????เทคนิคที่ 3.) การแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความประเสริฐของการงาน : การรู้ประโยชน์ของการงานที่เหมือนเล็กน้อย ใช้เวลาน้อยนิด ตอนที่เรามีเวลาว่างกับชีวิต
– การอ่านซูเราะฮ์อัลอิคลาส 3 ครั้ง เราได้ผลบุญเทียบเท่าการอ่านอัลกุรอานจบ 1 รอบ
– ความประเสริฐ : อ่านสามครั้งเทียบเท่ากับการอ่านซิกรุลลอฮ์ตั้งแต่ยามเช้าถึงยามสาย
سُبْحَانَ اللهِ وَبِحَمْدِهِ عَدَدَ خَلْقِهِ، وَرِضَا نَفْسِهِ، وَزِنَةِ عَرْشِهِ، وَمِدَادِ كَلِمَاتِهِ
อ่านว่า : ซุบฮานัลลอฮิวะบิฮัมดิฮี อะดะดะค็อลกิฮี วะริฎอนัฟซิฮี วะซินะติอัรชิฮี วะมิดาดิกะลิมาติฮฺ
ความว่า : มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮ์ และการสรรเสริญเป็นของพระองค์ เท่ากับจำนวนสิ่งถูกสร้างของพระองค์ เท่ากับที่ทรงพอพระทัยต่อพระองค์เอง เท่ากับน้ำหนักของบัลลังก์ของพระองค์ เท่ากับน้ำหมึกเขียนดำรัสของพระองค์
[ดุอาอ์นี้มาจากฮะดีษ เศาะเฮียะห์ บันทึกโดย: มุสลิม(2726)]
– การมีความรู้ทำให้เรารู้เคล็ดลับบางอย่าง ว่ามันมีบางความดี บางผลบุญที่เราสามารถตักตวงได้ ด้วยกับการเข้าใจฮะดีษของท่านนบี
– พยายามสรรหาการงานที่เราทำเพียงน้อยนิด ใช้เวลาสั้น ๆ ของชีวิต แต่ได้ผลบุญมหาศาล พยายามผูกหัวใจของเรา และเอาเรื่องราวเหล่านี้เข้าไปในชีวิตของเราอยู่บ่อย ๆ อยู่ซ้ำ ๆ จนทำให้ตาชั่งของเราเต็ม
Meeting พิเศษ “ เวลาและชีวิต ”
วันที่ : 3 มกราคม 2565
เวลา : 20.00 – 21.15 น.
วิทยากร : ครูฟาร์ & คุณครู ขนมปัง
จัดโดย : สมาคมสตรีไทยมุสลิมปัตตานี : PMA
บันทึกการสรุปโดย : Kanchala Jaisamoot
•••••••••••
ญาซากุมุ้ลลอฮฺฮุคอยร็อนค่ะ????
#Hadeeyah #Kanchala????????
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ความสำคัญของเวลาและความสอดคล้องกับซูเราะฮ์อัลอัศร์ "