วันศุกร์ 4 กรกฎาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ความรู้อิสลาม > วิธีทำให้ชีวิตมีบารอกัต (ความจำเริญ)

วิธีทำให้ชีวิตมีบารอกัต (ความจำเริญ)

หมวดหมู่ : ความรู้อิสลาม เปิดอ่าน 340 ครั้ง

#วิธีทำให้ชีวิตมีบารอกัต (ความจำเริญ)

มุสลิมผู้ที่หัวใจเต็มเปี่ยมด้วยอีมานหรือความศรัทธาที่มั่นคงไม่คลอนแคลน เขาจะมุ่งมั่นในการขอดุอาอฺอัลลอฮฺแต่เพียงองค์เดียว ให้มีชีวิตเหนือกว่าความโลภ ความอยากได้อยากมีจนเกินพอดี และจะดีกว่าหากจะขอให้ชีวิตของเขามี

(บารอกัต) ความจำเริญกับทุกปัจจัยยังชีพ (ริสกี) ที่อัลลอฮฺประทานให้มา

บารอกัต คือ ความจำเริญ ซึ่งบารอกัตจะมีมากในกิจการงานอันเกี่ยวกับการเชื่อฟัง (ฏออะฮ์) พร้อมหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความยำเกรง และประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างเคร่งครัด

หากพิจารณาไตร่ตรองสภาพความเป็นอยู่ของคนดี นักวิชาการผู้มีคุณธรรมเปี่ยมไปด้วยอัลอิหซานและมีจริยวัตรที่ดีงาม หรือนักการศาสนาที่เป็นแบบอย่างที่ดี ผู้ใฝ่หาความรู้และปฏิบัติศาสนกิจอย่างสม่ำเสมอ เราจะเห็นความจำเริญปรากฏเป็นร่องรอยในวิถีชีวิตของพวกเขานั้นได้เป็นอย่างดี ชีวิตที่มีความจำเริญสามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้โดยง่าย เช่น บางคนเป็นผู้มีความรู้น้อยนิด ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขตามอัตภาพอย่างเรียบง่าย หากแต่เขายินดีที่จะเสียสละความสุขและเวลาของตนเองและครอบครัว เพื่อช่วยเหลืองานสังคมตามโอกาสที่อำนวย เช่นนี้จึงสามารถเรียกได้ว่า ชีวิตที่มีบารอกัต อีกทางตรงข้าม บางคนเป็นผู้มีความรู้มากมาย แต่สังคมไม่ได้รับประโยชน์จากความรู้ของเขาเลย เช่นนี้สามารถเรียกได้ว่า ชีวิตไม่มีบารอกัต

อัลลอฮฺ ทรงเมตตาให้มีความจำเริญอยู่ในชีวิตของมุสลิม เพื่อให้เหมาะแก่การดำรงชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุขสันติ บารอกัตสามารถอยู่ในหลากหลายสิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน คู่ครอง ความรู้ การเผยแผ่และเชิญชวนอิสลาม ยานพาหนะ บ้านพักอาศัย สติปัญญา ร่างกาย ญาติมิตรเพื่อนฝูง อื่นๆ และการที่มุสลิมขอให้ชีวิตของเขามีความจำเริญจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ

อัลลอฮฺ จะประทานบารอกัตให้เกิดขึ้นเมื่อประพฤติตน ดังนี้ :

1. มีความยำเกรง (ตักวา) ต่ออัลลอฮฺ อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำชีวิตไปสู่ความมีบารอกัต ด้วยพระองค์ตรัสไว้ว่า

“และถ้าหากว่าชาวเมืองเชื่อมั่นศรัทธาและเกรงกลัวอัลลอฮ์ อัลลอฮฺก็จะทรงเปิดประตูแห่งความดี (บารอกัต) ให้ทุกๆด้านจากชั้นฟ้าและแผ่นดิน”
(อัลอะอ.รอฟ : 96)

2. การอ่านกุรอาน เนื่องด้วยอัลกุรอานเป็นคำดำรัสของอัลลอฮฺ เป็นคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งประกอบไปด้วยคำสั่งใช้และคำสั่งห้าม จึงเป็นคัมภีร์ที่มีบารอกัต
อยู่อย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งเป็นยาของผู้ที่ป่วยทั้งทางกายและทางใจ นอกจากการอ่านอัลกุรอานในทุกๆการละหมาดแล้ว ต้องอ่านอัลกุรอานพร้อมกับศึกษาความหมายไปพร้อมๆกันเป็นประจำ ดังที่….

อัลลอฮฺ ตรัสไว้ว่า :

“ คัมภีร์ (อัลกุรอาน) เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาอายาตต่าง ๆ
ของอัลกุรอาน

และเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้ใคร่ครวญ”

(ศอด 38: อายะฮ์ 29)

3. การยกมือขอดุอาอ์ให้มากๆ ท่านนบีมุฮัมมัด ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ อาทิ ท่านขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ขอให้มีความจำเริญในเรื่องต่างๆ เช่น ขอให้คู่บ่าวสาวมีบารอกัต โดยท่านกล่าวว่า
(بارك الله لك وبارك عليك وجمع بينكما فى خير) رواه الترمذى

“ขออัลลอฮฺทรงประทานความจำเริญ

ขอให้มีบารอกัตแด่ท่านและขออัลลอฮ์ทรงรวมท่านทั้งสองให้ชีวิตคู่อยู่ในความดีงาม”

(บันทึกโดย ติรมิซีย์)

อีกดุอาอ์หนึ่ง ท่านนบีมุฮัมมัดขอดุอาอ์ให้ผู้ที่เลี้ยงอาหารแก่ท่านให้มีความจำเริญและได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ

(اللهم بارك لهم فيما رزقتهم واغفر لهم وارحمهم)رواه الترمذى

“โอ้ อัลลอฮ์ สิ่งใดที่ท่านให้ริซกีแก่พวกเขา ขอให้สิ่งนั้นมีความจำเริญ และโปรดอภัยโทษและเอ็นดูเมตตาพวกเขาด้วยเถิด”

Cr. Shaykh Mahmud

เปิดอ่าน 340 ครั้ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " วิธีทำให้ชีวิตมีบารอกัต (ความจำเริญ) "

ปิดการแสดงความคิดเห็น