ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันพุธ, 24 เมษายน 2567

ความโปรดปรานทั้ง 2 โลก

ความโปรดปรานทั้ง2โลก

โดย อ. อับดุลเราะมัน เจะอารง

ปรัชญาของมุสลิมในชีวิตบนโลกนี้ คือ การยึดมั่นในคำสอนของอัลลอฮ์ที่ปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอานและสุนนะฮ์ของท่านเราะสูล ทั้งคำพูดและรวมถึงการปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับจากท่านเราะสูล

ตามคำสอนของอิสลาม ในโลกนี้และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายบนโลกนี้ ทั้งที่ปรากฏบนแผ่นดินและในท้องทะเล พระองค์อัลลอฮ์ทรงเป็นผู้สร้าง และพระองค์ทรงมอบให้เป็นประโยชน์แก่บ่าวของพระองค์ทุกคน ทั้งที่เป็นมุสลิมที่ยอมจำนนตนต่อพระองค์อัลลอฮ์และที่ไม่ใช่มุสลิม(ผู้ปฏิเสธ)

ท่านเราะสูลได้กล่าวในหะดีษบทหนึ่งว่า

أربعٌ مِن أعْطِيهنَّ فقد أوتِيَ خيْرَيِ الدُّنْيا والآخرة : لِساناً داكِراً وقلباً اشكِراً وبدَناً على البلاءِ صابِراً وزوجةً صالحةً لا تبغِيه خوناً في نفسِها ومالِه (رواه الطبرانِي والبيهقي)

“มีความโปรดปราน 4 ประการ ผู้ใดที่ได้รับใน 4 ประการนี้ หมายความว่า เขาได้รับความดีเด่นของทั้ง 2 โลก คือ โลกดุนยา และ โลกอาคีเราะฮ์ข้างหน้าไว้แล้ว

1. ลิ้นที่รำลึกและกล่าวถึงอัลลอฮ์ตลอดเวลา

2. จิตใจที่รู้จักขอบคุณพระองค์ผู้ทรงให้

3. ร่างกายที่สามารถอดทนต่อความทุกข์ยาก

4. ภรรยาที่ดีที่รักษาเกียรติของตนเองและทรัพย์สินของสามี”

ผู้ที่ได้รับความโปรดปรานทั้ง 4 ประการนี้จะเป็นผู้ดีกว่าและยิ่งใหญ่กว่าการได้รับบรรดาทรัพย์สินและยศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหลายและเป็นผู้ที่ได้รับความดีเลิศของโลกนี้และโลกหน้า

ความโปรดปรานแรก : ลิ้นที่รำลึกถึงพระองค์อัลลอฮ์ตลอดเวลา

ผู้ที่อัลลอฮ์ได้ให้ความโปรดปรานนี้ เขาจะรำลึกถึงอัลลอฮ์ตลอดเวลา ในยามที่คนอื่นกำลังยุ่งเหยิงและเพลิดเพลินกับธุรกิจและการงานด้านค้าขายและการหารายได้ จนลืมหน้าที่บางสิ่งบางอย่างที่ต้องทำในเวลาเดียวกัน เพราะความสำคัญของการรำลึกถึงอัลลอฮ์ พระองค์จึงกำชับให้รำลึกถึงพระองค์ให้มาก ๆ โดยพระองค์ทรงใช้คำว่า كثيراً ที่ให้ความหมายมากมาย เช่นพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

يا أيُّها الدينَ آمَنوا ادكروا الله دكْراً كثيراً وسبِّحوه بكرةً وأصيلاً (الأحزاب/41)

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! จงรำลึกถึงอัลลอฮ์โดยการรำลึกอย่างมากมาย(ทั้งในเวลากลางคืน กล่างวัน ยามเดินทางและยามพำนัก)

และจงแซ่ซ้องสดุดีพระองค์ทั้งยามเช้าและยามเย็น(เพราะมันเป็นเวลาที่ประเสริฐยิ่ง โดยที่มะลาอิกะฮ์ได้ลงมาในเวลาดังกล่าว)”

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มมุนาฟิก พระองค์ทรงบอกเล่าถึงนิสัยของพวกเขาไว้ว่า เป็นผู้ที่ชอบรำลึกถึงอัลลอฮ์ต่อหน้าคนอื่นๆเท่านั้น พระองค์ทรงได้เล่าว่า

يراؤونَ النَّاسَ ولا يدكرونَ الله إلا قليلاً (النِّساء/142)

“พวกเขาจะปฏิบัติโดยให้ผู้คนเห็นเท่านั้น และพวกเขาจะไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮ์ นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มกาฟิรีน ผู้ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะไม่ยอมรำลึกถึงพระองค์เลย พระองค์ทรงเล่าถึงสภาพและนิสัยของพวกเขาไว้ว่า

وإدا دكِّروا لا يدكرون (الصافَّات/13)

“และเมื่อพวกเขา(บรรดาผู้ที่ปฏิเสธการมีพระเจ้าและการฟื้นคืนชีพ) ถูกเตือนให้รำลึก(ถึงอัลลอฮ์) พวกเขาจะไม่ยอมรับข้อตักเตือน(เพราะหัวใจที่ตายด้าน)”

ผู้ที่ยอมรำลึกถึงพระองค์อัลลอฮ์ คือบรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อพระองค์เท่านั้น พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

الدينَ يدكُرونَ اللهَ قِياماً وقعوداً وعلى جنوبِهم ويتفَكَّرونَ في خلقِ السمواتِ والأرضِ ربَّنا ما خلقْتَ هدا باطِلاً (آلِ عمران /191)

“(ผู้ที่มีสติปัญญา) คือ บรรดาผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮ์ ทั้งในสภาพยืน นั่งและในสภาพนอนตะแคง

และพวกเขาพินิจพิจารณากันในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน

(โดยกล่าวว่า) โอ้พระเจ้าของพวกข้าพระองค์ พระองค์มิได้สร้างสิ่งนี้มาโดยไร้สาระ”

ผู้ศรัทธาพวกเขาจะรำลึกถึงอัลลอฮ์ตลอดเวลา ทั้งในยามสงบและในยามสงคราม พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

يا أيًّها الدينَ آمَنوا إدا لقِيتمُ فِئَةً فاثْبُتوا وادكرُوا اللهَ كثيراً لعلَّكم تفلِحون (الأنفال/45)

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพวกเจ้าพบกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง(ผู้ปฏิเสธที่เป็นฝ่ายศัตรู) ก็จงยืนหยัดสู้ อย่าได้ย่อท้อเถิด

และจงรำลึกถึงอัลลอฮ์มาก ๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ”

(เพราะการรำลึกถึงอัลลอฮ์ก่อให้เกิดกำลังใจในการต่อสู้และมีความอบอุ่นเนื่องจากการรำลึกถึงพระองค์นั้นก่อให้เกิดความรู้สึกว่าพระองค์ทรงอยู่ร่วมด้วย)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่มนุษย์อยู่ในความเพลิดเพลิน สนุกสนาน เฮฮากันหน้าเพื่อนฝูงหน้าจอโทรทัศน์ ในสนามกีฬา ในสถานที่เริงรมย์ ในสวนสาธารณะและอื่น ๆ จนลืมหน้าที่พึงปฏิบัติต่ออัลลออฮ์ ต่อเพื่อนและต่อตนเอง ลิ้นที่รำลึกถึงอัลลอฮ์คือลิ้นที่เปียกและชุ่มฉ่ำ ไม่แห้งและแข็งกระด้าง มีหะดีษบทหนึ่งอธิบายว่า

إنَّ رجُلاً قالَ : يا رسولَ الله ، إنَّ شرائِعَ الإسلام قد كثُرَت عليَّ فأخبِرْني بشيءٍ أتَثَبَّتُ بِه قالَ : لا يزالُ لِسانُك رطْباً بدكْرِ الله (رواه الترمدي/3375)

“มีชายคนหนึ่งได้กล่าวว่า โอ้ท่านเราะสูลของอัลลอฮ์ คำสอนของอิสลามหนักสำหรับฉันแล้ว ดังนั้น จงบอกให้ฉันทราบอย่างหนึ่งที่ฉันสามารถยึดมันได้

ท่านกล่าวว่า ขอให้ลิ้นของคุณชุ่มฉ่ำด้วยการกล่าวพระนามของอัลลอฮ์”

ความโปรดปรานที่ 2 จิตใจที่รู้จักขอบคุณผู้ให้

การรำลึกถึงอัลลอฮ์และการแสดงความขอบคุณมีการกล่าวในอัล-กุรอานควบคู่กันเป็นส่วนใหญ่ เช่นในอายะฮ์ที่กล่าวว่า

فادكرونِي أدكرْكم واشْكرُوا لِي ولا تكْفُرون (البقرة/152)

“ดังนั้น พวกเจ้าจงรำลึกถึงข้าเถิด ข้าก็จะรำลึกถึงพวกเจ้า และจงขอบคุณข้าเถิดและจงอย่าเนรคุณต่อข้าเลย”

ขั้นตอนแรกของการขอบุคณ คือ การยอมรับว่าความโปรดปรานทั้งหลายมาจากพระองค์อัลลอฮ์ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

وما بِكم مِن نعمةٍ فمِنَ الله (النحل/53)

“และไม่มีความโปรดปรานใด ๆที่พวกเจ้าได้รับ(เช่นริซกี นิอมะฮ์ ความสุขสบายและความช่วยเหลือ) นอกจากมันย่อมมาจากอัลลอฮ์”

และในอีกอายะฮ์หนึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

اللهُ الدي خلَقَ السمواتِ والأرضَ وأنزَلَ من السَّماءِ ماءً فأخرَجَ بِه من الثَّمراتِ رزْقاً لكم وسخَّرِ لكم الفلْكَ لتجْرِيَ في البحر بأمرِه وسخَّرَ لكم الأنْهارَ وسخَّرَ لكم الشَّمْسَ والقمَرَ دائِبَينِ وسخَّرَ لكم اللَّيْلَ والنَّهارَ وآتاكم مِن كلِّ ما سألْتموه وإن تعُدُّوا نعمةَ الله لا تحصوها ، إنَّ الإنسانَ لظلومٌ كفَّار (إبراهيم/34)

“อัลลอฮ์ เป็นผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินและทรงให้น้ำลงมาจากฟากฟ้า

และทรงให้พืชผลงอกเงยออกมาด้วยมัน(จากน้ำ)เพื่อให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า

และทรงให้เรือเดินสมุทรมีความสะดวกแก่พวกท่านเพื่อใช้แล่นตามน่านน้ำโดยพระบัญชาของพระองค์

และทรงให้ลำน้ำทั้งหลายเป็นประโยชน์แก่พวกเจ้า(เพื่อให้มนุษย์และสัตว์ใช้ดื่มกันและใช้ทำการเพาะปลูก)

และพระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นประโยชน์แก่พวกเจ้าโดยโคจรเป็นปกติ

และทรงให้กลางคืนและกลางวันเป็นประโยชน์แก่พวกเจ้า(โดยให้กลางคืนเป็นเวลาพักผ่อนและกลางวันเป็นเวลาประกอบอาชีพ)

และพระองค์ทรงประทานแก่พวกเจ้าทุกสิ่งที่พวกเจ้าขอต่อพระองค์ และหากพวกเจ้าจะนับความโปรดปรานของอัลลอฮ์แล้ว

พวกเจ้าก็ไม่อาจจะคำนวณมันได้(เพราะมันใหญ่ยิ่งและมากเกินกว่าที่จะคำนวณนับได้) แท้จริงมนุษย์นั้นอธรรมยิ่งเนรคุณยิ่ง”

ผู้ที่ศรัทธาในอัลลอฮ์เป็นผู้ที่รู้จักขอบคุณในความโปรดปรานที่ได้รับ เพราะการขอบคุณจะทำให้ความโปรดปรานนั้นอยู่ได้นาน พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

لئِنْ شكرْتُم لأزيدنَّكم ولئِن كفرْتم إنَّ عدابِي لَشَديدٌ (إبراهيم/7)

“หากพวกเจ้าขอบคุณ ข้าก็จะเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้า และหากพวกเจ้าเนรคุณแท้จริงการลงโทษของข้านั้นสาหัสยิ่ง”

ความโปรดปรานที่ 3 ร่างกายที่ทนต่อบททดสอบ

ผู้ที่ได้รับความโปรดปรานนี้สามารถที่จะต่อสู้กับความยากลำบากในรูปแบบของความหิวโหย เจ็บปวด แพ้กับอารมณ์ของตนเอง มนุษย์เราจะต่อสู้กับความท้าทายของโลกนี้ได้ด้วยความอดทนเท่านั้น และมนุษย์เราจะไม่ได้รับสิ่งที่เขาชอบนอกจากด้วยความอดทน ด้วยการต่อสู้กับสิ่งที่เขาเกลียดชัง ความอดทนเป็นแสงสว่างที่สามารถส่องทางให้ผู้ที่มีความอดทนสามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆได้

ความโปรดปรานที่ 4 ภรรยาที่ดี

ภรรยาที่ดี หมายถึง ภรรยาที่รักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง พร้อมรักษาทรัพย์สินของสามี ท่านเราะสูลได้กล่าวว่า

الدُّنْيا متاعٌ وخيرُ متاعِها المرأةُ الصَّالِحة (رواه مسلم رقم الحديث/1467)

“โลกนี้คือสิ่งที่ให้ความสุขสบาย และสิ่งที่ให้ความสุขสบายที่ดีที่สุด คือ ภรรยาที่ดี”

ท่านเราะสูลได้แต่งงานกับท่านหญิงคอดีญะฮ์มิใช่เพราะความร่ำรวยของนาง อีกทั้งนางยังมีอายุมากกว่าท่าน 15 ปี และเคยมีลูกมาแล้ว แต่เพราะคุณธรรมและจริยธรรมของนางต่างหาก นางเป็นภรรยาที่คอยให้ความช่วยเหลือ ให้ความอบอุ่นในยามทุกข์ยากลำเค็ญ และให้กำลังใจในยามคับขัน นางผู้นี้แหละที่เคยกล่าวต่อหน้าท่านว่า อัลลอฮ์จะทรงมิให้ท่านต่ำต้อยเด็ดขาด เพราะท่านต่อสู้กับความยากลำบาก ท่านได้เชื่อมโยงการเป็นเครือญาติ ท่านได้ให้เกียรติแก่แขกที่มาหาท่าน และท่านได้ต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลาย

เรียนรู้อิสลามเบื้องต้น