ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

มารยาทการโต้แย้งในอิสลาม

มารยาทการโต้แย้งในอิสลาม

แหล่งที่มาเนือหา3นักวิชาการ

1.อับดุลวาเฮด สุคนธา
2.สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ
3.นักชาการ

เตือนไม่ให้โต้แย้ง ถกเถียงกันเอง

ท่านอบูอุมามะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« مَا ضَلَّ قَوْمٌ بَعْدَ هُدًى كَانُوا عَلَيْهِ إِلَّا أُوتُوا الجَدَلَ ثُمَّ تَلَا رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ هَذِهِ الآيَةَ: ﴿ مَا ضَرَبُوهُ لَكَ إِلَّا جَدَلَۢاۚ﴾ [الزخرف: ٥٨] » [أخرجه الترمذي]

“ไม่มีชนกลุ่มใดจะหลงผิดไปจากทางนำที่พวกเขาเคยอยู่ เว้นแต่เพราะพวกเขาโต้เถียงกัน จากนั้นท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ก็อ่านโองการนี้ ﴾พวกเขามิได้เปรียบเทียบเรื่องนี้แก่เจ้าเพื่ออื่นใดนอกจากการโต้เถียง﴿{ อัซซุครุฟ:58 } ” บันทึกโดยอัตติรมิซียฺ

ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« إِنَّ أَبْغَضَ الرِّجَالِ إِلَى اللَّهِ الأَلَدُّ الخَصِمُ » [أخرجه البخاري ومسلم]

“แท้จริงบุคคลที่อัลลอฮฺทรงกริ้วที่สุดคือ ผู้ที่ชอบโต้เถียง” บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม คำว่า อัลอะลัดด์ คือ ผู้ที่ชอบโต้เถียง และคำว่า อัลเคาะศิม คือ ผู้ที่ชอบยกหาเหตุผลใส่คู่กรณีเขา

ท่านอบูอุมามะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« أَنَا زَعِيمٌ بِبَيْتٍ فِي رَبَضِ الْجَنَّةِ لِمَنْ تَرَكَ الْمِرَاءَ وَإِنْ كَانَ مُحِقًّا، وَبِبَيْتٍ فِي وَسَطِ الْجَنَّةِ لِمَنْ تَرَكَ الْكَذِبَ وَإِنْ كَانَ مَازِحًا وَبِبَيْتٍ فِي أَعْلَى الْجَنَّةِ لِمَنْ حَسَّنَ خُلُقَهُ » [أخرجه أبو داود]

“ฉันขอรับประกันถึงบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ย่านชานเมืองสวรรค์สำหรับผู้ที่ละทิ้งการโต้แย้งถึงแม้เขาจะเป็นฝ่ายถูก และบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ย่านใจกลางสวรรค์สำหรับผู้ที่ละทิ้งการโกหกถึงแม้เป็นการล้อเล่น และบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ย่านบนสุดของสวรรค์สำหรับผู้มีมารยาทดี” บันทึกโดยอบูดาวูด ความหมายของคำว่า เราะบะฎิลญันนะฮฺ คือ ขอบหรือริมสวรรค์ และคำว่า ซะอีม คือ ผู้รับประกัน และคำว่า มิรออ์ คือ การโต้แย้ง

ท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« إِنَّ مِنْ أَحَبِّكُمْ إِلَيَّ وَأَقْرَبِكُمْ مِنِّي مَجْلِسًا يَوْمَ القِيَامَةِ أَحَاسِنَكُمْ أَخْلَاقًا، وَإِنَّ أَبْغَضَكُمْ إِلَيَّ وَأَبْعَدَكُمْ مِنِّي مَجْلِسًا يَوْمَ القِيَامَةِ الثَّرْثَارُونَ وَالمُتَشَدِّقُونَ وَالمُتَفَيْهِقُونَ»، قَالُوا: يَا رَسُولَ اللَّهِ، قَدْ عَلِمْنَا الثَّرْثَارُونَ وَالمُتَشَدِّقُونَ فَمَا المُتَفَيْهِقُونَ؟ قَالَ: «المُتَكَبِّرُونَ» [أخرجه الترمذي]

“แท้จริงพวกท่านที่ฉันรักมากที่สุด และจะได้อยู่ใกล้ชิดกับฉันมากที่สุดในวันกิยามะฮฺ คือ พวกท่านคนที่มีมารยาทดีงามที่สุด และแท้จริงพวกท่านคนที่ฉันเกลียดมากที่สุดและจะได้อยู่ห่างไกลฉันมากที่สุดในวันกิยามะฮฺ คือ คนพูดมาก และคนที่ชอบพูดจาเยิ่นเย้อใช้สะบัดสำนวนเพื่อโอ้อวดคนอื่น และผู้ที่ชอบใช้วาจายกตนข่มท่าน พวกเขาก็กล่าวถามว่า โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ พวกเรารู้ถึงคำว่า คนพูดมาก และคำว่า ผู้ที่ชอบพูดจาเยิ่นเย้อใช้สะบัดสำนวนเพื่อโอ้อวดคนอื่น แต่คำว่าผู้ที่ชอบใช้วาจายกตนข่มท่านคืออะไรกันเล่า? ท่านกล่าวตอบว่า คือผู้ที่มีความเย่อหยิ่งจองหอง ” บันทึกโดยอัตติรมิซียฺ ท่านอิหม่ามนะวะวียฺ ได้กล่าวว่า อัษษัรษาร คือ ผู้ที่ชอบฝืนตนพูดจายืดยาว และคำว่า อัลมุตะชัดดิก คือ ผู้ที่ชอบพูดให้นานๆ และวาจาของเขาก็เต็มไปด้วยการใช้ลีลาสำนวน และคำว่า มุตะฟัยฮิก คือ คนพูดมาก ชอบขยายเรื่องราว ชอบให้ผู้อื่นเกิดความแปลกใจ เพื่อโอ้อวด ยกตน และแสดงตนว่าเหนือผู้อื่น

คำอธิบาย

การโต้แย้ง ถกเถียงกันในเรื่องมดเท็จนั้นเป็นหนึ่งในความหายนะของลิ้นอันเป็นเหตุสร้างความแตกแยก ตัดขาด และหันหลังให้กันของพี่น้องมุสลิม และทำให้เกิดความอิจฉาริษยาในใจต่อกันและกัน และทำให้เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม จึงเตือนให้ระวัง และสัญญากับผู้ที่หลีกห่างเรื่องดังกล่าวนี้ว่าจะได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่และจะได้อยู่ใกล้ชิดกับท่านในวันกิยามะฮฺ

คุณค่าที่ได้รับ

– ส่งเสริมให้ละทิ้งการโต้แย้ง นอกจากเพื่อให้เกิดประโยชน์ และให้พูดโต้แย้งอย่างดีที่สุด

– เตือนไม่ให้ถกเถียงเป็นอาจิณ

– การแพร่หลายของการโต้แย้งกันเป็นหนึ่งในสัญญาของการหลงผิด

– ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ไม่ชอบคนพูดมาก พูดจาเยิ่นเย้อ และพวกเขาจะอยู่ห่างไกลท่านในวันกิยามะฮฺ

โต้แย้งที่น่าชมเชย

การโต้แย้งที่น่าชมเชย คือ การโต้แย้ง การตักเตือนในสิ่งที่เป็นเท็จเพื่อความถูกต้อง ปกป้องจากการใส่ร้าย หรือ บิดเบือนข้อมูลทางวิชาการ
อัลลออฺ ทรงกล่าวว่า

﴿ ادْعُ إِلَى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَادِلْهُمْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ إِنَّ رَبَّكَ هُوَ أَعْلَمُ بِمَنْ ضَلَّ عَنْ سَبِيلِهِ وَهُوَ أَعْلَمُ بِالْمُهْتَدِينَ ﴾

“จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของสูเจ้าโดยสุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า แท้จริงพระเจ้าของพระองค์และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาผู้ที่อยู่ในทางที่ถูกต้อง”

( ซูเราะ อัลนะหลุ 125 )

ท่าน อิม่าม อิบนุ กะซีร กล่าวว่า ใครก็ตามต้องการ โต้แย้ง ชี้แจง จงเป็นคนที่ใบหน้ายิ้มแย้ม พูดจาอ่อนหวานนิ่มนวล ใช้สำนวนที่สวยงาม

อิม่าม อัซสะดีย์ กล่าวว่า การโต้แย้งนั้นอย่าได้ใช้สำนวนที่ ด่าท่อ ตำหนิใส่ร้าย เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ ออกนอกเป้าหมายและจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ แต่ทว่าเป้าหมายของการโต้แย้ง การชี้ทางนำไปสู่ความถูกต้องแก่มนุษย์ ไม่ใช่การชนะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

การโต้แย้งที่น่าตำหนิและที่น่ารังเกียจ

คือการโต้แย้งสิ่งที่ถูกต้องด้วยกับความเท็จ เพื่อต้องการให้ความเท็จมีชัยชนะเหนือความจริง หรือการโต้แย้งเพื่อตัวเอง เพื่อชื่อเสียงให้ผู้คนได้ชมเชยว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการโต้แย้งหักล้าง ไม่ได้มีเป้าหมายในการช่วยเหลือศาสนา หรือต้องการให้ความจริงปรากฏ

อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

الَّذِينَ يُجَادِلُونَ فِي آيَاتِ اللَّهِ بِغَيْرِ سُلْطَانٍ أَتَاهُمْ ۖ كَبُرَ مَقْتًا عِندَ اللَّهِ وَعِندَ الَّذِينَ آمَنُوا ۚ كَذَٰلِكَ يَطْبَعُ اللَّهُ عَلَىٰ كُلِّ قَلْبِ مُتَكَبِّرٍ جَبَّارٍ

“บรรดาผู้โต้เถียงในสัญญาณต่าง ๆ ของอัลลอฮฺโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ มายังพวกเขา เป็นที่น่าเกลียดชังยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺ

และ ณ บรรดาผู้ศรัทธา เช่นนั้นแหละ อัลลอฮฺทรงประทับบนทุก ๆ หัวใจ ของผู้จองหองหยิ่งยะโส
(ซูเราะ อัลฆอฟิร 35)

ในอายะห์อัลลอฮฺได้กล่าวถึงสาเหตุของบรรดามุชรีกีนที่ปฏิเสธต่อการเรียกร้องเชิญชวนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม เนื่องจากในจิตใจของพวกเขามีความยิ่งยโสจึงเป็นเหตุให้พวกเขาไม่ได้รับทางนำที่ถูกต้อง

เนื่องด้วยความยโสของพวกเขา ทำให้เขาพยายามโต้เถียงหักล้างสัจธรรมที่ถูกต้องด้วยกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ อัลลอฮ์นำอายะห์นี้มาเป็นคำเตือน มากล่าวไว้เพื่อเตือนสติบรรดามุสลิมอย่าได้เดินตามทางของบรรดาผู้ตั้งภาคี ที่ความหยิ่งยโสในหัวใจของพวกเขาทำให้เขาไม่พบสัจธรรม

สาเหตุอีกประการที่ทำให้คนชอบโต้แย้งต้องการโอ้อวดความรู้ที่มีอยู่ และต้องการให้เห็นว่าตัวเองมีความรู้เหนือกว่าผู้อื่นที่สามารถโต้แย้งได้ทุกประเด็นที่อีกฝ่ายแย้งกลับไม่ได้ และอีกสาเหตุการโต้แย้งเพื่อต้องการสร้างความเกลียดชังและต้องการสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่เขาได้ทำการโต้แย้ง

อัลลอฮฺ ทรงกล่าวอีกว่า

وَجَادَلُوا بِالْبَاطِلِ لِيُدْحِضُوا بِهِ الْحَقَّ

“และโต้เถียงด้วยความเท็จ เพื่อที่จะลบล้างความจริงให้สูญสิ้นไป”

(ซูเราะ อัลฆอฟิร 5)

อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า

فَلَا رَفَثَ وَلَا فُسُوقَ وَلَا جِدَالَ فِي الْحَجِّ

“แล้วก็ต้องไม่มีการสมสู่ และไม่มีการละเมิด และไม่มีการวิวาทใด ๆ ใน(เวลา)การทำฮัจญ์”

( ซูเราะห์ อัลบะกอเราะ 197)

อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

وَمِنَ النَّاسِ مَن يُعْجِبُكَ قَوْلُهُ فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَيُشْهِدُ اللَّهَ عَلَىٰ مَا فِي قَلْبِهِ وَهُوَ أَلَدُّ الْخِصَامِ

“และในหมู่มนุษย์นั้น มีผู้ที่คำพูดของเขา ทำให้เจ้าพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้

และจะอ้างอัลลอฮ์เป็นพยานซึ่งสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเขา และขณะเดียวกันก็เป็นผู้โต้เถียงที่ฉกาจฉกรรจ์ยิ่ง”

( ซูเราะห์ อัลบะกอเราะ 204)

ท่านมุกอติล กล่าวว่า การโต้เถียงในสิ่งที่เป็นเท็จ

ท่านอิบนุ อับบาสกล่าวว่า การโต้เถียง เป็นการพูดจนทำให้คนอื่นรู้สึกไม่พอใจ

รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ท่านนบี กล่าวว่า

«أَبْغَضُ الرِّجَالِ إِلَى اللَّهِ الْأَلَدُّ الْخَصِمُ»

“บุคคลจากบรรดาผู้ชายที่ถูกกริ้วโกรธยิ่ง ณ อัลลอฮฺ คนที่ชอบโต้เถียงกันย่างรุนแรง”

( บันทึก มุสลิม)
คำพูดชาวสลัฟกับการตำหนิคนชอบโตเถียง

จากท่าน ซียาด บิน ฮุดัยริย์ กล่าวว่า

ท่านอุมัรกล่าวแก่ ฉันว่า ท่านรู้หรือไม่ว่า สิ่งใดจะทำลายศาสนาอิสลาม

ฉันตอบว่า ไม่ทราบ ครับ

ท่านอุมัรตอบว่า สิ่งจะทำลายอิสลามคือ

♦ การบิดเบือนของผู้รู้

♦ การโต้เถียงแบบ คนมุนาฟิก

♦ การตัดสินแบบคนหลง

ท่านอิบนุ อุมัร กล่าวว่า คนหนึ่งจะยังไม่มีอิม่านที่แท้จริง จนกว่าเขานั้นจะละทิ้งการโต้เถียงที่น่าตำหนิ ไร้สาระ

ท่านอิมามมาลิกได้กล่าวว่า “ห้ามรับเอาความรู้จากบุคคลสี่ประเภทต่อไปนี้

1. คนโง่เขลาที่แสดงออกถึงความโง่ออกมาอย่างชัดเจน

2. คนที่ใช้อารมณ์ และเรียกร้องผู้อื่นไปสู่การใช้อารมณ์ของเขาเอง

3. คนที่เป็นที่รู้จักกันดีว่ากล่าวเท็จต่อคำพูดของผู้คนทั้งหลาย แม้ว่าเขาจะไม่ได้กล่าวเท็จต่อหะดีษของท่านรอสูล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ตาม

4. คนที่มีคุณงามความดี แต่ไม่มีความรู้ในสิ่งที่เขาพูด”

ท่าน อะลี ร่อดิยัลลอุฮันฮุ เครื่องหมายของ “คนโง่” มี 6 ประการ

(1) โกรธโดยไม่มีเหตุผล

(2) ชอบพูดในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

(3) ไม่รู้จักกาลเทศะและไม่มีมารยาท

(4) ไว้ใจคนไม่เลือกหน้า

(5) ชอบเปิดเผยความลับของผู้อื่น

(6) ไม่รู้จักแยกแยะระหว่างมิตรและศัตรู

ท่านมูฮัมหมัด บิน ฮุเซน กล่าวว่า ลักษณะของ”คนโง่”

♣ ชอบโต้เถียง

♣ ชอบตำหนิ ใส่ร้าย

♣ ชอบเอาชนะ

ท่าน เชค ซอแหละ อัลเฟาซาน กล่าวว่า จำเป็นสำหรับคนที่โง่เขลา นิ่งเงียบ อย่าได้พูดเว้นแต่สิ่งที่เขารู้เท่านั้น หากคนโง่เงียบ คงจะไม่มีใครทะเลาะกัน

มารยาทของการโต้แย้ง

♦ จะต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ใจ เพื่อปกป้องสัจธรรม และเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺ ละทิ้งการโอ้อวดทั้งคำพูดและการกระทำ หรือเพื่อยกเกียรติ ตำแหน่งของตัวเอง

♦ ความรู้จะต้องอยู่บนรากฐานที่ถูกต้องตามอัลกรุอ่านและซุนนะฮฺ จะต้องใช้หลักฐานมาก่อนใช้สติ หรือ อารมณ์ ความคาดเดา นึกคิดเอง

♦ จะต้องพยามค้นหาความถูกต้อง ออกห่างการเห็นแก่พวกพ้อง จะต้องปฏิบัติตามความถูกต้องเมื่อหลักฐานปรากฏชัด

♦ จะต้องรักษามารยาทในการโต้แย้งอย่างสันติและเป็นธรรมระหว่างทั้งสองฝ่าย อย่านำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง อย่าพยามสร้างความสับสนโดยการอ้างหลักฐานที่เป็นเท็จ หรือเรื่องราวอุปโลกน์ขึ้นมาโดยที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องในหลักศาสนา เรื่อง ตัวบทหะดีษ์ อ่อนหรือ ถูกตัดต่อ เรื่องเล่าเป็นเท็จ

♦ จะต้องน้อมรับผลในการโต้แย้ง เมื่อความจริงปรากฏตามตัวบทที่ถูกอ้างอิงในเรื่องนั้นๆ

ผลเสียของการโต้เถียง (น่าตำหนิ)

♣ การโต้เถียงที่ไร้สาระนำไปสู่การตำหนิระหว่างพวกพ้อง

♣ การโต้เถียงนำไปสู่การปกป้องความเท็จ และ ตัดสินผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐาน

♣ สร้างศัตรูระหว่างกัน

♣ สร้างความแตกแยกในสังคม

♣ กลายเป็นคนจอมโกหก

♣ กลายเป็นคนกลับลิ้น ไปมา(กลับกลอก)

♣ กลายเป็นคนชอบปกป้องความเท็จ และปฏิเสธความจริง

ครั้งหนึ่ง ท่านนบีศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั่งอยู่กับอบูบักร อัศศิดดีก ร่อฎิยัลลอฮุ อันฮฺ มีชายคนหนึ่ง กล่าวหาว่าร้ายต่อท่านอบูบักร ท่านอบูบักรไม่โต้ตอบอะไร ท่านนบียิ้ม และพอใจ ครั้นเมื่อชายผู้นั้น ว่าร้ายมากขึ้น ท่านอบูบักร จึงตอบโต้ ท่านนบีไม่พอใจ และลุกออกมา เมื่อท่านอบูบักรมาหาท่านนบี รีบถามว่า’โอ้ ท่านร่อซุลฯ เขาว่าร้ายฉัน ท่านก็นั่งอยู่กับฉัน จนกระทั่ง พอมันมากไป และฉันตอบกลับ ท่านก็โกรธและลุกขึ้นไป ทำไมหรือ ?’ท่านนบีตอบว่า’ตอนแรก มลาอิกะฮ โต้ตอบแทนท่าน และเมื่อท่านสวนตอบเขาไป ชัยฏอนก็มาแทนที่ และฉันก็ไม่ชอบนั่งร่วมกับชัยฏอน’

[ฮะดิษ บันทึกโดยอะฮหมัด , ศอฮีฮ อัลบานีย์]

เรียนรู้อิสลามเบื้องต้น