ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันอาทิตย์, 28 เมษายน 2567

“UN บอกไม่ควรเรียก ‘ซูจี’ ว่า นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย”

ผู้สืบสวนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติชาวเกาหลีใต้กล่าวว่า อองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของพม่าปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับวิกฤติโรฮิงญา และระบุว่าซูจีถูกชี้นำและได้เผยข้อมูลอย่างผิดๆ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิชนต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศของเธอ ความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ พบหารือกับอองซานซูจีในกรุงเนปีดอ

อองซานซูจีถูกกักบริเวณภายในบ้านพักเป็นเวลาหลายปีเมื่อพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารก่อนที่พรรคของเธอจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2558

ความหวังถูกตั้งไว้สูงว่าเธอจะนำพาประเทศไปสู่ยุคใหม่ของเสรีภาพ แต่ชาวโรฮิงญามากกว่า 740,000 คน กลับถูกผลักดันออกจากประเทศ และต้องอพยพเข้าไปในบังกลาเทศจากการปราบปรามของทหารในปี 2560

ในเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ ได้ออกมาตรการห้ามพล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง จากบทบาทหน้าที่ของพวกเขาในการกวาดล้างชาติพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา

แม้ซูจีจะไม่ถูกคว่ำบาตรไปด้วย แต่ก็ไม่สมควรได้รับการขนานนามว่านักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอีกต่อไป ยางฮี ลี ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยในกรุงโซล และยังมีตำแหน่งเป็นผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า กล่าว

“เธอควรก้าวออกมาและพูดอย่างจริงจังถึงการปฏิบัติที่เกิดขึ้น ที่โรฮิงญาต้องทนทุกข์มานานหลายสิบปี มันถึงเวลาที่เธอจะต้องพูดและเรียกพวกเขาในแบบที่พวกเขาระบุตัวเองว่าเป็นชาวโรฮิงญา” ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ กล่าว

พม่าเรียกชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ว่า ‘เบงกาลี’ และปฏิบัติต่อพวกเขาในฐานะผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และปฏิเสธที่จะให้สถานะพลเมืองหรือสิทธิขั้นพื้นฐาน

ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติรายนี้ยังได้กล่าววิจารณ์ผู้นำสูงสุดของพม่าในขณะที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งเคยเป็นทั้งนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบหารือกับซูจีระหว่างการเดินทางเยือนพม่า

เกาหลีใต้เป็นนักลงทุนต่างชาติที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ในพม่า แต่ลีกล่าวว่า เกาหลีใต้มีส่วนร่วมอย่างไม่ตั้งใจต่อการละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญาและเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน มีหลักการระหว่างการเผชิญหน้ากับซูจี

“ประธานาธิบดีของเรามีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของการเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน แต่ฉันกลัวว่าเขาจะไม่พูดถึงสิทธิมนุษยชนเพื่อประชาชน” ลี กล่าว

“ฉันคิดว่าเป็นเรื่องน่าละอายที่เราเข้าร่วมในขบวนประเทศต่างๆ ที่มองหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศก่อนความทุกข์ทรมานของผู้คน” ยางฮี ลี กล่าว และระบุว่าวิกฤติโรฮิงญาเป็นกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดในศตวรรษที่ 21

ที่มา:i-newsmedia.net