วันพุธ 14 พฤษภาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ความรู้อิสลาม > ผู้ศรัทธาเปรียบดังต้นอินทผลัม

ผู้ศรัทธาเปรียบดังต้นอินทผลัม

หมวดหมู่ : ความรู้อิสลาม เปิดอ่าน 829 ครั้ง

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

ผู้ศรัทธาเปรียบดังต้นอินทผลัม

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

ในอัลกุรอานอัลลอฮฺทรงเปรียบบ่าวของพระองค์ผู้ศรัทธาดังต้นอินทผลัม ซึ่งอุดมไปด้วยคุณประโยชน์และถือเป็นพืชที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า:

﴿ أَلَمۡ تَرَ كَيۡفَ ضَرَبَ ٱللَّهُ مَثَلٗا كَلِمَةٗ طَيِّبَةٗ كَشَجَرَةٖ طَيِّبَةٍ أَصۡلُهَا ثَابِتٞ وَفَرۡعُهَا فِي ٱلسَّمَآءِ ٢٤ تُؤۡتِيٓ أُكُلَهَا كُلَّ حِينِۢ بِإِذۡنِ رَبِّهَاۗ وَيَضۡرِبُ ٱللَّهُ ٱلۡأَمۡثَالَ لِلنَّاسِ لَعَلَّهُمۡ يَتَذَكَّرُونَ ٢٥ ﴾ [ابراهيم: ٢٤-٢٥]

ความว่า: “เจ้ามิเห็นดอกหรือว่า อัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์ไว้ว่า อุปมาคำพูดที่ดีดั่งต้นไม้ที่ดี รากของมันฝังแน่นลึกมั่นคง และกิ่งก้านของมันชูขึ้นไปในท้องฟ้า ผลของมันจะออกมาทุกกาลเวลา โดยอนุมัติของพระเจ้าของมัน และอัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์แก่ปวงมนุษย์เพื่อพวกเขาจะได้รำลึก” (อิบรอฮีม: 24-25)

ท่านอิบนุอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า:

قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم: « إِنَّ مِنَ الشَّجَرِ شَجَرَةً لاَ يَسْقُطُ وَرَقُهَا وَإِنَّهَا مَثَلُ الْمُسْلِمِ فَحَدِّثُونِى مَا هِىَ؟ » ، فَوَقَعَ النَّاسُ فِى شَجَرِ الْبَوَادِى. قَالَ عَبْدُ اللَّهِ: وَوَقَعَ فِى نَفْسِى أَنَّهَا النَّخْلَةُ فَاسْتَحْيَيْتُ، ثُمَّ قَالُوا: حَدِّثْنَا مَا هِىَ يَا رَسُولَ اللَّهِ، قَالَ فَقَالَ: « هِىَ النَّخْلَةُ » رواه البخاري (61) ومسلم (2811)

ความว่า: ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ในบรรดาต้นไม้นั้น มีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ใบของมันจะไม่ร่วงหล่น ซึ่งมันก็เปรียบได้กับมุอ์มินผู้ศรัทธา พวกท่านลองตอบฉันมาสิว่ามันคือต้นอะไร?” ผู้คนต่างคิดว่าเป็นต้นนั้นต้นนี้ แต่ฉันมีความรู้สึกว่าน่าจะหมายถึงต้นอินทผลัม แต่ไม่กล้าตอบ จากนั้นพวกเขาก็ขอให้ท่านเราะสูลเฉลยว่าท่านหมายถึงต้นอะไร? ท่านจึงตอบว่า “มันคือต้นอินทผลัม”

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 61 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2811)

ในหะดีษอีกบทหนึ่งท่านอิบนุอุมัรฺ เล่าว่า: ฉันได้ยินท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

« مَثَلُ الْمُؤْمِنِ مَثَلُ النَّخْلَةِ ، مَا أَخَذْتَ مِنْهَا مِنْ شَيْءٍ نَفَعَكَ » رواه الطبراني (13514) ، وصححه الألباني رحمه الله في صحيح الجامع (5848)

ความว่า: “มุอ์มินผู้ศรัทธานั้นเปรียบได้ดังต้นอินทผลัม ไม่ว่าท่านจะนำเอาส่วนใดของมันไป ก็ล้วนเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งสิ้น” (บันทึกโดย อัฏ-เฏาะบะรอนีย์ หะดีษเลขที่ 13514)

และมีรายงานจากท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า: ครั้งหนึ่งมีผู้นำถาดใส่อินทผลัม มามอบให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจึงกล่าว (โดยยกถ้อยคำจากอัลกุรอาน) ว่า: “อุปมาคำพูดที่ดีดั่งต้นไม้ที่ดี รากของมันฝังแน่นลึกมั่นคง และกิ่งก้านของมันชูขึ้นไปในท้องฟ้า ผลของมันจะออกมาทุกกาลเวลา โดยอนุมัติของพระเจ้าของมัน” แล้วท่านก็กล่าวว่า “มันคือต้นอินทผลัม” จากนั้นท่านกล่าวว่า: “และอุปมาคำพูดที่เลว ดั่งต้นไม้ที่อับเฉาถูกถอนรากออกจากพื้นดิน มันไม่มีความมั่นคงเลย” แล้วท่านก็กล่าวว่า “คือต้นขี้กาเทศ (ฮันซ็อล)” (บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 3119 ด้วยรายงานสองสาย สายหนึ่งมัรฟูอฺ อีกสายเมากูฟ ชัยคฺ อัลบานีย์ กล่าวว่า: สายรายงานมัรฟูอฺเฎาะอีฟ ส่วนสายรายงานที่เป็นเมากูฟนั้นถือว่าเศาะฮีหฺ)

ซึ่งการที่ต้นอินทผลัมได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ด้วยการเปรียบเปรยกับบ่าวผู้ศรัทธานั้น ก็เพราะมันเป็นต้นไม้ที่ประเสริฐและให้คุณประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ การที่มันได้รับการเชิดชูว่าเป็นพืชที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะเฉกเช่นมุอ์มินผู้ศรัทธา ก็เป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงความสำคัญและความโดดเด่นของมัน ไม่ว่าจะเป็นรากที่หยั่งลึกคงทน ลำต้นที่ยืนสูงตระหง่าน หรือผลที่ออกมาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ต้นอินทผลัมก็ยังได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นต้นไม้ที่มีบะเราะกัตความจำเริญ และสามารถนำเอาทุกส่วนของมันไปใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนสรรพคุณอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงความโดดเด่นของต้นไม้ชนิดนี้ อันเปรียบได้กับผู้ที่ศรัทธาและเชื่อฟังอัลลอฮฺซึ่งถ้อยคำแห่งอีหม่านศรัทธาได้ถูกหว่านลงในหัวใจของเขา จนเติบใหญ่ออกผลและนำมาซึ่งความดีงามมากมาย

หากพินิจพิเคราะห์ให้ดี จะพบว่าระหว่างต้นอินทผลัมกับมุอ์มินผู้เชื่อฟังอัลลอฮฺนั้น มีความเหมือนอยู่หลายประการ เช่น

(1) ต้นอินทผลัมจำเป็นต้องมีราก ลำต้น กิ่งก้าน ใบ และผล เช่นเดียวกับการศรัทธา ที่จำเป็นต้องมีราก กิ่งก้าน และผล รากฐานของการศรัทธาก็คือหลักศรัทธาหกประการซึ่งเป็นที่ทราบกันดี กิ่งก้านสาขาก็คือการงานที่ประเสริฐและคุณความดีต่างๆ ซึ่งมีอยู่มีมากมาย ส่วนผลของการศรัทธาก็คือทุกๆ ความดีงามที่ผู้ศรัทธาแสวงหา และความสุขสงบจิตที่เขาได้รับใน
ดุนยาและอาคิเราะฮฺ

(2) ต้นอินทผลัมจะมีชีวิตอยู่ได้ต้องอาศัยการรดน้ำ หากได้รับน้ำน้อยเกินกว่าที่ควรต้นจะเหี่ยวเฉา และถ้าขาดน้ำหล่อเลี้ยงมันก็จะตาย เช่นเดียวกับผู้ศรัทธาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริงและสมบูรณ์ได้ ก็ต้องอาศัยการหล่อเลี้ยงชนิดพิเศษ นั่นคือการหล่อเลี้ยงหัวใจด้วยทางนำซึ่งบัญญัติไว้ในอัลกุรอานและวจนะของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อัลลอฮฺตรัสว่า:

﴿ أَوَ مَن كَانَ مَيۡتٗا فَأَحۡيَيۡنَٰهُ وَجَعَلۡنَا لَهُۥ نُورٗا يَمۡشِي بِهِۦ فِي ٱلنَّاسِ كَمَن مَّثَلُهُۥ فِي ٱلظُّلُمَٰتِ لَيۡسَ بِخَارِجٖ مِّنۡهَاۚ ﴾ [الأنعام: ١٢٢]

ความว่า: “และผู้ที่ตายแล้วแล้วเราได้ให้เขามีชีวิตขึ้น และเราได้ให้แสงสว่างแก่เขา ซึ่งเขาใช้แสงสว่างนั้นเดินไปในหมู่มนุษย์นั้น จะเหมือนกับผู้ที่อุปมาของเขาซึ่งอยู่ในบรรดาความมืดโดยที่มิอาจจะออกมาจากความมืดเหล่านั้นได้กระนั้นหรือ” (อัล-อันอาม: 122)

ดังนั้น จึงพึงตระหนักว่าต้นกล้าแห่งอีหม่านที่อยู่ในหัวใจเรานั้น ถ้าไม่ได้รับการดูแลหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลาด้วยความรู้ที่เป็นประโยชน์ และด้วยการงานที่ดี มันก็จะเหี่ยวเฉาไปในที่สุด ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

« إِنَّ الْإِيمَانَ لَيَخْلَقُ فِي جَوْفِ أَحَدِكُمْ كَمَا يَخْلَقُ الثَّوْبُ الْخَلِقُ ، فَاسْأَلُوا اللَّهَ أَنْ يُجَدِّدَ الْإِيمَانَ فِي قُلُوبِكُمْ » رواه الحاكم (1/4) وحسنه الألباني رحمه الله في (الصحيحة) (1585)
ความว่า: “แท้จริงอีหม่านศรัทธาในใจของพวกท่านนั้นอาจเสื่อมถอยได้ เหมือนดังเสื้อผ้าเก่าที่ชำรุดหมดสภาพ ดังนั้น พวกท่านจงวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ ให้ทรงปรับปรุงอีหม่านในใจของพวกท่านให้มีความสดใหม่อยู่เสมอเถิด” (บันทึกโดย อัล-หากิม หะดีษเลขที่ 1/4 ชัยคฺ อัลบานีย์ ระบุว่าในอัศเศาะฮีหะฮฺ หะดีษเลขที่ 1585 เป็นหะดีษหะสัน)

(3) ความเหมือนอีกประการหนึ่งคือ อินทผลัมนั้นเป็นต้นไม้ที่ยืนตระหง่านอย่างมั่นคงแข็งแรง ดังที่อัลลอฮฺตรัสถึงว่า:

﴿ أَصۡلُهَا ثَابِتٞ ﴾ [ابراهيم: ٢٤]

ความว่า: “รากของมันฝังแน่นลึกมั่นคง” (อิบรอฮีม: 24)

ความศรัทธาก็เช่นเดียวกัน เมื่อหยั่งลึกลงในหัวใจแล้ว ก็จะมั่นคงหนักแน่นดั่งภูผาซึ่งมิอาจมีสิ่งใดมาทำให้สั่นคลอนได้ ครั้งหนึ่ง มีผู้ถามอัล-เอาซาอีย์ว่าความศรัทธานั้นสามารถเพิ่มสูงขึ้นได้หรือไม่? ท่านตอบว่า: “ได้สิ มันอาจเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นดั่งภูเขา” มีผู้ถามอีกว่าแล้วมันจะลดน้อยลงได้หรือไม่? ท่านกล่าวตอบว่า: “ได้สิ มันอาจลดน้อยลงจนกระทั่งไม่เหลือความศรัทธาอยู่เลยแม้แต่น้อย”

(4) ต้นอินทผลัมนั้นมิอาจปลูกได้ในทุกสภาพ แต่จะเติบโตได้เฉพาะในบางพื้นที่ซึ่งมีสภาพดินที่เหมาะสม ในบางพื้นที่อาจปลูกไม่ได้เลย บางพื้นที่อาจปลูกได้แต่ไม่ออกผล ในขณะที่บางพื้นที่ปลูกแล้วออกผลแต่ไม่ดี จึงใช่ว่าดินทุกสภาพจะเหมาะแก่การปลูกต้นอินทผลัม ความศรัทธาก็เช่นกัน มิได้เติบใหญ่เบ่งบานได้ในหัวใจทุกสภาพ แต่จะอยู่อย่างมั่นคงได้เฉพาะในหัวใจที่ได้รับฮิดายะฮฺนำทางจากอัลลอฮฺเท่านั้น ซึ่งหัวใจของแต่ละคนก็มีความพร้อมที่จะรับทางนำแตกต่างกันไป

(5) อายะฮฺอัลกุรอานกล่าวถึงต้นอินทผลัมว่าเป็นต้นไม้ที่ดี (طَيِّبَة) ซึ่งเป็นความหมายที่ครอบคลุมมากกว่าการมีรูปทรงที่สวยงามน่ามอง มีกลิ่นที่หอมโชย มีรสชาติอันโอชะ หรือมีคุณประโยชน์ ผู้ศรัทธาก็เช่นเดียวกัน คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของเขาคือคุณธรรมความดีงาม ซึ่งแฝงอยู่ในทุกๆ การงานและอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่แสดงออกมาภายนอกหรือเก็บซ่อนอยู่ภายใน และไม่ว่าในที่ลับหรือที่แจ้ง ด้วยเหตุนี้เมื่อบรรดาผู้ศรัทธาได้เข้าสวรรค์ มลาอิกะฮฺผู้ทำหน้าที่เฝ้าประตูสวรรค์จะคอยต้อนรับพวกเขาและกล่าวแก่พวกเขาว่า

﴿ سَلَٰمٌ عَلَيۡكُمۡ طِبۡتُمۡ فَٱدۡخُلُوهَا خَٰلِدِينَ ٧٣ ﴾ [الزمر: 73]

ความว่า: “ศานติจงมีแด่พวกท่าน พวกท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น จงเข้าไปในสวรรค์เป็นผู้พำนักอยู่ตลอดกาล” (อัซ-ซุมัรฺ: 73)
และอัลลอฮฺตรัสว่า:

﴿ ٱلَّذِينَ تَتَوَفَّىٰهُمُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ طَيِّبِينَ يَقُولُونَ سَلَٰمٌ عَلَيۡكُمُ ٱدۡخُلُواْ ٱلۡجَنَّةَ بِمَا كُنتُمۡ تَعۡمَلُونَ ٣٢ ﴾ [النحل: ٣٢]

ความว่า: “บรรดาผู้ที่มลาอิกะฮฺเอาชีวิตของพวกเขา โดยที่พวกเขาเป็นคนดี พลางกล่าวว่า: ศานติจงมีแด่พวกเจ้า จงเข้าไปในสวนสวรรค์เนื่องจากสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไว้” (อัน-นะห์ลฺ: 32)

(6) ต้นอินทผลัมถูกกล่าวถึงในหะดีษข้างต้นซึ่งรายงานโดยอิบนุอุมัรฺว่า เป็นต้นไม้ที่มีคุณประโยชน์รอบด้าน ไม่ว่าจะนำเอาส่วนใดไปก็ล้วนใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ศรัทธากับมิตรสหายและผู้คนรอบข้างก็ควรเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ผู้อื่นจะได้รับจากผู้ศรัทธาควรมีแต่จรรยามารยาทอันงดงามสูงส่ง การปฏิบัติที่ดีต่อกัน การแนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี และไม่ทำให้ผู้ใดเดือดร้อนเพราะการกระทำของตน โดยเขาจะคิดและทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

(7) ยอดอ่อนซึ่งถือเป็นหัวใจของต้นอินทผลัมนั้นหอมหวานและมีรสชาติเอร็ดอร่อยยิ่งกว่ายอดอ่อนของพืชชนิดอื่น หัวใจของผู้ศรัทธาก็เช่นเดียวกัน เป็นหัวใจที่มีแต่ความดีงามและความเที่ยงธรรม ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ใด

(8) ผลอินทผลัมถือเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าและประโยชน์สูงสุดชนิดหนึ่ง ทั้งยังมีความหอมหวานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่นเดียวกับความศรัทธาซึ่งมีความหอมหวานและมีรสชาติ จะมีก็แต่ผู้ศรัทธาแน่วแน่เท่านั้นที่จะสัมผัสได้ถึงความหอมหวานนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

« ثَلَاثٌ مَنْ كُنَّ فِيهِ وَجَدَ حَلَاوَةَ الْإِيمَانِ: أَنْ يَكُونَ اللَّهُ وَرَسُولُهُ أَحَبَّ إِلَيْهِ مِمَّا سِوَاهُمَا، وَأَنْ يُحِبَّ الْمَرْءَ لَا يُحِبُّهُ إِلَّا لِلَّهِ، وَأَنْ يَكْرَهَ أَنْ يَعُودَ فِي الْكُفْرِ كَمَا يَكْرَهُ أَنْ يُقْذَفَ فِي النَّارِ » رواه البخاري (16) ومسلم (43)

ความว่า: “มีลักษณะสามประการที่หากมีอยู่ในคนใดแล้ว เขาจะพบกับความหอมหวานของอีหม่านอย่างแน่นอน นั่นคือการที่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์เป็นที่รักสำหรับเขาเหนือสิ่งอื่นใด การที่เขารักคนหนึ่งคนใดเพื่ออัลลอฮฺแต่เพียงพระองค์เดียว และการที่เขารังเกียจที่จะหวนกลับไปสู่การปฏิเสธศรัทธาเหมือนกับที่เขากลัวการถูกจับโยนลงในเปลวเพลิง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 16 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 43)

(9) อินทผลัมนั้นมิได้มีมาตรฐานเดียว แต่ละชนิดมีความแตกต่างหลากหลายเป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของรูปทรง สายพันธุ์ หรือดอกผล เช่นเดียวกับสภาพของผู้ศรัทธา ความศรัทธาของแต่ละคนก็มีความเข้มข้นมั่นคงมากน้อยแตกต่างกันไป มิได้อยู่ในระดับเดียวกัน ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า:

﴿ ثُمَّ أَوۡرَثۡنَا ٱلۡكِتَٰبَ ٱلَّذِينَ ٱصۡطَفَيۡنَا مِنۡ عِبَادِنَاۖ فَمِنۡهُمۡ ظَالِمٞ لِّنَفۡسِهِۦ وَمِنۡهُم مُّقۡتَصِدٞ وَمِنۡهُمۡ سَابِقُۢ بِٱلۡخَيۡرَٰتِ بِإِذۡنِ ٱللَّهِۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡفَضۡلُ ٱلۡكَبِيرُ ٣٢ ﴾ [فاطر: ٣٢]

ความว่า: “และเราได้ให้คัมภีร์เป็นมรดกสืบทอดมา แก่บรรดาผู้ที่เราคัดเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเอง และบางคนในหมู่พวกเป็นผู้เดินสายกลาง และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้รุดหน้าในการทำความดีทั้งหลายด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ นั่นคือความโปรดปรานอันใหญ่หลวง” (ฟาฏิรฺ: 32)

(10) ต้นอินทผลัมนั้นยิ่งแก่ก็ยิ่งมีคุณประโยชน์ และออกดอกผลที่สวยงามมากยิ่งขึ้น ผู้ศรัทธาก็เช่นกัน เมื่ออายุมากขึ้นการงานและความดีงามต่างๆ ก็ควรจะเพิ่มมากขึ้น ท่านอับดุลลอฮฺ บิน บุสรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า มีชายชาวชนบทคนหนึ่งกล่าวถามท่านเราะสูล ว่าใครคือผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์? ท่านกล่าวตอบว่า:

« مَنْ طَالَ عُمُرُهُ وَحَسُنَ عَمَلُهُ » رواه الترمذي (2329)، وصححه الألباني رحمه الله في (صحيح سنن الترمذي) (1898)

ความว่า: “ผู้ที่มีอายุยืนยาวโดยที่เขาประกอบแต่คุณความดี” (บันทึกโดยอัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 2329 โดยชัยคฺอัลบานีย์ ระบุในเศาะฮีหฺสุนันอัตติรฺมิซีย์ เลขที่1898 ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นความเหมือนในบางแง่มุม ระหว่างผู้ศรัทธากับต้นอินทผลัม การใคร่ครวญความหมายเหล่านี้ทำให้หัวใจของผู้ศรัทธามีความตระหนักและตื่นตัว ระดับความศรัทธาก็จะเพิ่มสูงขึ้น นำมาซึ่งการขอบคุณและสำนึกในความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้า อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า:

﴿ أَلَمۡ تَرَ كَيۡفَ ضَرَبَ ٱللَّهُ مَثَلٗا كَلِمَةٗ طَيِّبَةٗ كَشَجَرَةٖ طَيِّبَةٍ أَصۡلُهَا ثَابِتٞ وَفَرۡعُهَا فِي ٱلسَّمَآءِ ٢٤ تُؤۡتِيٓ أُكُلَهَا كُلَّ حِينِۢ بِإِذۡنِ رَبِّهَاۗ وَيَضۡرِبُ ٱللَّهُ ٱلۡأَمۡثَالَ لِلنَّاسِ لَعَلَّهُمۡ يَتَذَكَّرُونَ ٢٥ ﴾ [ابراهيم: ٢٤، ٢٥]

ความว่า: “เจ้ามิเห็นดอกหรือว่า อัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์ไว้ว่า อุปมาคำพูดที่ดีดั่งต้นไม้ที่ดี รากของมันฝังแน่นลึกมั่นคง และกิ่งก้านของมันชูขึ้นไปในท้องฟ้า ผลของมันจะออกมาทุกกาลเวลา โดยอนุมัติของพระเจ้าของมัน และอัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์แก่ปวงมนุษย์เพื่อพวกเขาจะได้รำลึก” (อิบรอฮีม: 24-25)

และจากที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่าความศรัทธานั้นเปรียบดังต้นไม้ที่ดีซึ่งเต็มไปด้วยคุณประโยชน์อันมหาศาล ทั้งยังออกดอกผลมากมาย โดยต้นแห่งศรัทธานี้จะปลูกได้แต่ในสถานที่เฉพาะ และต้องอาศัยการหล่อเลี้ยงเป็นพิเศษ เป็นต้นไม้ที่มีราก มีกิ่งก้านสาขา และดอกผล

สถานที่ของมันคือหัวใจของผู้ศรัทธา ซึ่งเป็นฐานสำหรับหย่อนเมล็ดพันธุ์และเป็นที่ยึดเกาะของราก จากจุดนี้มันก็จะแตกหน่อขยายกิ่งก้านสาขาออกไป
น้ำหล่อเลี้ยงคืออัลกุรอานและสุนนะฮฺท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สิ่งดังกล่าวเปรียบเสมือนน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงต้นแห่งศรัทธา ให้มีชีวิตและเติบโตต่อไปได้
รากของมันก็คือหลักศรัทธาทั้งหกข้อ ที่สำคัญที่สุดคือการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซึ่งถือเป็นรากแก้วของต้นไม้อันประเสริฐยิ่งนี้
กิ่งก้านสาขาของมันก็คือ บรรดาการงานและคุณงามความดีซึ่งผู้ศรัทธาได้กระทำและปฏิบัติ

ส่วนดอกผลของมันก็คือ ทุกๆ ความดีและความสุขใจ ที่ผู้ศรัทธาจะได้รับในดุนยาและอาคิเราะฮฺ สิ่งนี้เป็นดอกผลอย่างหนึ่งของการศรัทธา
ขออัลลอฮฺตะอาลาทรงดูแลรักษาต้นไม้อันประเสริฐที่อยู่ในหัวใจของพวกเราให้เติบใหญ่อย่างมั่นคง ขอพระองค์ทรงให้เราเป็นหนึ่งในบ่าวของพระองค์ผู้ศรัทธาและมีความยำเกรง ขอพระองค์ทรงปรับปรุงแก้ไขสภาพความเป็นอยู่ของเราในทุกด้าน พระองค์คือผู้ที่ควรค่าแก่การวิงวอนขออย่างเปี่ยมล้นด้วยความหวัง

ผู้ศรัทธาเปรียบดังต้นอินทผลัม
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อับดุรเราะซาก บิน อับดุลมุหฺสิน อัล-บัดรฺ

แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : เว็บไซต์ www.al-badr.net

2013 – 1434

ممثالة المؤمن للنخلة
« باللغة التايلاندية »

د. عبد الرزاق بن عبد المحسن البدر

ترجمة: عصران نيومديشا
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: www.al-badr.net

2013 – 1434

เปิดอ่าน 829 ครั้ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ผู้ศรัทธาเปรียบดังต้นอินทผลัม "

ปิดการแสดงความคิดเห็น