วันพุธ 14 พฤษภาคม 2568
ติดตามเว็บไซต์
หน้าแรก > ความรู้อิสลาม > เรื่องราวของซุลก็อรนัยน์ จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่

เรื่องราวของซุลก็อรนัยน์ จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่

หมวดหมู่ : ความรู้อิสลาม เปิดอ่าน 1,232 ครั้ง

เรื่องราวของซุลก็อรนัยน์ จักรพรรดิผู้ทรงยิ่งใหญ่กับทัศนะที่หลากหลาย

بسم الله الرحمن الرحيم

อัลลอฮ์ – อัซซะวะญัลลา – ได้กล่าวถึงซุลกอรนัยน์ ในซูเราะห์ อัลกะฮ์ฟีย์ ไว้ว่า :

وَيَسْأَلُونَكَ عَنْ ذِي الْقَرْنَيْنِ قُلْ سَأَتْلُو عَلَيْكُمْ مِنْهُ ذِكْرًا

“และพวกเขาถามเจ้าเกี่ยวกับซุลกอรนัยน์ จงกล่าวเถิด “ ฉันจะเล่าเรื่องของเขาแก่พวกท่าน”

إِنَّا مَكَّنَّا لَهُ فِي الْأَرْضِ وَآتَيْنَاهُ مِنْ كُلِّ شَيْءٍ سَبَبًا

“แท้จริงเราได้ให้อำนาจแก่เขาในแผ่นดิน และเราให้เขาทุกสิ่งที่เขาต้องการ”

فَأَتْبَعَ سَبَبًا

“ดังนั้น เขาจึงมุ่งไปทางหนึ่ง ( ทางทิศตะวันตก )”

حَتَّىٰ إِذَا بَلَغَ مَغْرِبَ الشَّمْسِ وَجَدَهَا تَغْرُبُ فِي عَيْنٍ حَمِئَةٍ وَوَجَدَ عِنْدَهَا قَوْمًا قُلْنَا يَا ذَا الْقَرْنَيْنِ إِمَّا أَنْ تُعَذِّبَ وَإِمَّا أَنْ تَتَّخِذَ فِيهِمْ حُسْنًا

“จนกระทั่งเขาได้พบเห็นดวงอาทิตย์คล้ายกับตกลงในน้ำทะเลซึ่งร้อนโฉ่ และ ณ ที่ชายทะเลแห่งนั้นเขาได้พบชนหมู่หนึ่ง เรากล่าวว่า “ โอ้ ซุลก็อรนัยน์ เจ้าจะลงโทษพวกเขา หรือทำความดีต่อพวกเขา”

قَالَ أَمَّا مَنْ ظَلَمَ فَسَوْفَ نُعَذِّبُهُ ثُمَّ يُرَدُّ إِلَىٰ رَبِّهِ فَيُعَذِّبُهُ عَذَابًا نُكْرًا

“เขากล่าวว่า “ส่วนผู้ที่อธรรมนั้นเราจะลงโทษเขา แล้วเขาจะถูกกลับไปยังพระผู้เป็นเจ้าของเขา ดังนั้นพระองค์จะทรงลงโทษเขาซึ่งการลงโทษอย่างรุนแรง”

وَأَمَّا مَنْ آمَنَ وَعَمِلَ صَالِحًا فَلَهُ جَزَاءً الْحُسْنَىٰ وَسَنَقُولُ لَهُ مِنْ أَمْرِنَا يُسْرًا

“และส่วนผู้ศรัทธาและประกอบความดีนั้น สำหรับเขาคือการตอบแทนที่ดี และเราจะพูดกับเขาในกิจการงานของเราอย่างง่ายๆ”

ثُمَّ أَتْبَعَ سَبَبًا

“แล้วเขาได้มุ่งไปอีกทางหนึ่ง ( ทางตะวันออก )”

حَتَّىٰ إِذَا بَلَغَ مَطْلِعَ الشَّمْسِ وَجَدَهَا تَطْلُعُ عَلَىٰ قَوْمٍ لَمْ نَجْعَلْ لَهُمْ مِنْ دُونِهَا سِتْرًا

“จนกระทั่งเมื่อเขาไปถึงดินแดนที่ตะวันขึ้น เขาพบมันขึ้นเหนือกลุ่มชนหนึ่ง เรามิได้ทำที่กำบังแดดให้แก่พวกเขา”

كَذَٰلِكَ وَقَدْ أَحَطْنَا بِمَا لَدَيْهِ خُبْرًا

“เช่นนั้นแหละ เราหยั่งรู้ข่าวคราวที่เกี่ยวกับเขา”

ثُمَّ أَتْبَعَ سَبَبًا

“แล้วเขาได้มุ่งไปอีกทางหนึ่ง ( ไปทางเหนือ )”

حَتَّىٰ إِذَا بَلَغَ بَيْنَ السَّدَّيْنِ وَجَدَ مِنْ دُونِهِمَا قَوْمًا لَا يَكَادُونَ يَفْقَهُونَ قَوْلًا

“จนกระทั่งเมื่อเขาไปถึงบริเวณหว่างภูผาทั้งสอง เขาได้พบชนกลุ่มหนึ่งที่เชิงภูผาทั้งสองนั้นซึ่งพวกเขาเกือบจะไม่เข้าใจคำพูดกันเลย”

قَالُوا يَا ذَا الْقَرْنَيْنِ إِنَّ يَأْجُوجَ وَمَأْجُوجَ مُفْسِدُونَ فِي الْأَرْضِ فَهَلْ نَجْعَلُ لَكَ خَرْجًا عَلَىٰ أَنْ تَجْعَلَ بَيْنَنَا وَبَيْنَهُمْ سَدًّا

“พวกเขากล่าวว่า : “โอ้ซุลก็อรนัยน์ แท้จริงยะอ์ญูจและมะอ์ญูจนั้นเป็นผู้บ่อนทำลายในแผ่นดินนี้ ดังนั้น เราขอมอบบรรณาการแก่ท่าน เพื่อท่านจะได้สร้างกำแพงกั้นระหว่างพวกเรากับพวกเขา”

قَالَ مَا مَكَّنِّي فِيهِ رَبِّي خَيْرٌ فَأَعِينُونِي بِقُوَّةٍ أَجْعَلْ بَيْنَكُمْ وَبَيْنَهُمْ رَدْمًا

“เขากล่าวว่า : “สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าของฉันได้ให้อำนาจแก่ฉันดียิ่งกว่า ดังนั้นพวกท่านจงช่วยฉันด้วยกำลัง ฉันจะสร้างกำแพงแน่นหนาที่กั้นระหว่างพวกท่านกับพวกเขา”

آتُونِي زُبَرَ الْحَدِيدِ حَتَّىٰ إِذَا سَاوَىٰ بَيْنَ الصَّدَفَيْنِ قَالَ انْفُخُوا حَتَّىٰ إِذَا جَعَلَهُ نَارًا قَالَ آتُونِي أُفْرِغْ عَلَيْهِ قِطْرًا

“พวกท่านจงเอาเหล็กท่อนใหญ่มาให้ฉัน” จนกระทั่งเมื่อเขาทำให้บริเวณภูผาทั้งสองราบเรียบ เขาก็กล่าวว่า “จงเป่ามันด้วยเครื่องเป่าลม” จนกกระทั่งเมื่อเขาทำให้มันร้อนเป็นไฟ เขากล่าวว่า “ปล่อยให้ฉันเททองแดงหลอมลงไปบนมัน”

فَمَا اسْطَاعُوا أَنْ يَظْهَرُوهُ وَمَا اسْتَطَاعُوا لَهُ نَقْبًا

“ดังนั้นพวกเขา ( ยะอ์ญูจและมะอ์ญูจ ) ไม่สามารถจะข้ามมันได้ และไม่สามารถจะขุดโพรงผ่านมาได้”

قَالَ هَٰذَا رَحْمَةٌ مِنْ رَبِّي فَإِذَا جَاءَ وَعْدُ رَبِّي جَعَلَهُ دَكَّاءَ ۖ وَكَانَ وَعْدُ رَبِّي حَقًّا

“เขากล่าวว่า : “นี่คือความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้าของฉัน ดังนั้นเมื่อสัญญาของพระผุ้เป็นเจ้าของฉันมาถึง พระองค์จะทรงทำให้มันพังทลาย และสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าของฉันนั้นเป็นจริงเสมอ”

وَتَرَكْنَا بَعْضَهُمْ يَوْمَئِذٍ يَمُوجُ فِي بَعْضٍ وَنُفِخَ فِي الصُّورِ فَجَمَعْنَاهُمْ جَمْعًا

“และวันนั้นเราได้ปล่อยให้บางส่วนของพวกเขาปะทะกับอีกบางส่วน และสังข์จะถูกเป่าขึ้น แล้วเราจะรวมพวกเขาทั้งหมด”

ดังกล่าวนี้คือ เรื่องราวของซุลก็อรนัยน์ที่ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอ่าน ซึ่งไม่เป็นที่สงสัยกันว่าซุลก็อรนัยน์นั้นเป็นบุคคลท่านนึงที่มีความมหัศจรรย์ และเป็นบุคคลเร้นลับในประวัติศาสตร์ ผู้ที่มีแผ่นดินที่ทรงปกครองอย่างกว้างขวาง ผู้ที่ไม่เคยปราชัยต่อทัพใดๆ ท่านได้ร่อนเร่เดินทางจากบูรพาทิศสู่ประจิมทิศ เพื่อพิชิตแผ่นดินทุกย่อมหญ้า

แต่ทว่าสิ่งหนึ่งที่ตอบยากยิ่งและใช้เวลาในการศึกษาหาคำตอบเป็นพันปีก็มิอาจจะตอบได้อย่างแม่นยำว่าบุคคลในประศาสตร์ท่านใดกันแน่ คือ ซุลก็อรนัยน์ ?

บรรดานักประวัติศาสตร์และผู้รู้ในแต่ละยุคสมัยนั้นมีความขัดเเย้งกันมากมายในเรื่องนี้ และเป็นความขัดเเย้งที่มีความชัดเจนยิ่ง จนหาที่ลงตัวไม่ได้

เรื่องดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์สมัยเก่า ซึ่งไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดเลยหลงเหลืออยู่ที่จะสามารถระบุตัวตนได้ว่าใครคือซุลก็อรนัยน์ และไม่มีสายงานสักชิ้นเดียว ที่ถูกต้องมาจนถึงปัจจุบัน – ตามที่ได้ค้นคว้ามา –

นักประวัติศาสตร์บางท่านก็ได้ระบุไว้ว่า เรื่องราวของซุลก็อรนัยน์นั้นเราต้องย้อนกลับไปก่อนยุคของท่านนบี – ซ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวาซัลลัม – ประมาณสามร้อยปี บางท่านก็ระบุว่าต้องย้อนกลับไปก่อนยุคประวัติศาสตร์หนึ่งพันปี หรือมากกว่านั้น และทัศนะอื่นๆอีกมากมาย แต่ดังกล่าวก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะกล่าวถึงในบทความนี้

อุลามาอ์ในอดีตมีความขัดแย้งกันว่าผู้ใดกันแน่คือซุลกอรนัยน์ที่ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอ่าน ซึ่งหลักๆ แล้วที่เป็นประเด็นอยู่นั้นมีสามท่านคือ

1). อเล็กซานเดอร์ มหาราช แห่งมาซิโดเนีย จากกรีก ผู้สร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคโบราณ

(الإسكندر الأكبر ، الإسكندر المقدوني ، الإسكندر الكبير ، الإسكندر اليوناني)

ณ ตรงนี้ก็มีหลายคนที่มีนามว่า อเล็กซานเดอร์ ซึ่งก็แบ่งนามชื่อต่างๆ ได้ดังนี้

1.1). อเล็กซานเดอร์ แห่งแอฟโรดีเซียส

(الإسكندر الأفروديسي)

1.2.). อเล็กซานเดอร์บาลัส แห่งซีเรีย บุตรของกษัตริย์แอนติโอคัสที่ 4 แห่งอีพิฟาเนส

1.3). อเล็กซานเดอร์ที่ 4 แห่งมาซิโดเนีย กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อาร์กีแอด (الأرغية) บุตรคนเดียวของอเล็กซานเดอร์ที่ 3 หรืออเล็กซานเดอร์มหาราช

1.4). เซเวอร์รัส อาเล็กซานเดอร์

(اسكندر سيفروس)

จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันของราชวงศ์เซเวอรัน ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิเอลากาบาลัส (إيل جبل) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งถูกลอบสังหารจากฝ่ายปฎิปักษ์ และหลังจากเซเวอรัสขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ก็ถูกลอบสังหารเช่นเดียวกันในปี ค.ศ. 235 ทำให้จักรวรรดิโรมันในช่วงนั้นเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียกว่า

“ยุควิกฤตการณ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 3 (Crisis of the third century)”

ซึ่งเหตุการณ์นี้กินเวลายาวนานเกือบห้าสิบปี เหตุเพราะเกิดสงครามภายใน ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการก่อกบฎในเมืองต่างๆ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้แทบจะทำให้จักรวรรดิโรมันล่มสลาย

ซึ่งทั้งหมดนี้คือบุคคลที่เลื่องลือในช่วงยุคสมัยก่อน

แต่ผู้ที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นซุลก็อรนัยน์นั้นส่วนมากจะพูดถึงอเล็กซานเดอร์ มหาราชเสียมากกว่า

หนังสือ ซุลกอรนัยน์ ของมุหัมมัด คอยร์ รอมาฎอน ยูซุฟ หน้า 86

2). ซุลกอรนัยน์ อัลหัมยะรีย์ แห่งเยเมน

3). ชายศอลิห์คนหนึ่งที่อยู่ในยุคของท่านนบีอิบรอฮีม – อะลัยฮิสสลาม –

และอุลามาอ์ในสมัยใหม่นี้ก็ได้เพิ่มบุคคลหนึ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นซุลกอรนัยน์ไว้อีกท่านคือ

พระเจ้าไซรัสที่ 2 หรือพระเจ้าไซรัสมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย

(كورش الأخميني الفارسي)

(ซึ่งเราจะเจาะลึกบุคคลสามท่านนี้ในตอนถัดไป)

และยังมีประเด็นเล็กประเด็นน้อยอีกมากมายที่ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในเรื่องนี้ เช่น

ท่านอีหม่ามอบู หัยยาน ได้กล่าวไว้ใน บะห์รุล มุฮีท ว่า :

(وذو القرنين هو الإسكندر اليوناني)

“และซุลกอรนัยน์ เขาคือ อเล็กซานเดอร์มหาราช”

ท่านอีหม่ามวะฮับมีทัศนะว่า : เขาคือ อเล็กซานเดอร์แห่งโรมัน

อีหม่ามฟัยรูส อาบาดีย์ ก็มีทัศนะว่า : เขาคือ อเล็กซานเดอร์ แห่งโรม

หนังสือ กอมุส อัลมุฮีท บท القرن และสามารถกลับไปดูทัศนะต่างๆ ของอุลามาอ์ได้ที่หนังสือต่างๆ เช่น หนังสือ ตันบีห์ วะ อิชรอฟ ของอีหม่าม มัสอูดีย์ หน้าที่ 100

หนังสืออัลมะวาอิซ อัล อิอ์ติบาร ของอีหม่ามมักรีซีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 153

หนังสือกิศอศ อัลอัมบิยาอ์ ของอีหม่ามอัซซะอ์ลาบีย์ หน้า 322

หนังสือลิซานุลอาหรับ ของอิบนุ มันศูร เล่มที่ 13 หน้า 333

หนังสือนุสฮะตุลมุชต้าก ของอัลอิดรีย์ซีย์ หน้า 103

หนังสือกอมุส อัลมุฮีท ของอีหม่ามฟัยรูซ อาบาดีย์

หนังสืออันนิฮายะฮ์ ของอิบนุ อะษีร และตัฟซีร อัลกอซิมีย์
เล่มที่ 11 หน้า 4099 เป็นต้น

แต่ก็ยังมีทัศนะที่แปลกประหลาดที่ถูกระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ถึงบุคคลที่ถูกระบุว่า เป็นซุลก็อรนัยน์ เช่น

ท่านมุหัมมัด บิน อิสห้าก ได้ระบุถึงสายรายงานหนึ่งที่ท่านรับมาว่า :

”أن ذا القرنين كان رجلا من أهل مصر، اسمه مَرْزُبَانُ بْنُ مَرْذُبَةَ اليوناني“

“ซุลก็อรนัยน์นั้นคือ บุคคลหนึ่งจากเมืองอียิปต์ นามของเขาคือ มัรซุบาน บิน มัรซุบะฮ์”

สามารถดูเพิ่มเติมได้ในหนังสือ ซุลก็อรนัยน์ ของชัยค์ มุหัมมัด คอยร์ รอมฎอน หน้าที่ 26

สาเหตุอะไรถึงมีฉายาว่า ซุลก็อรนัยน์ ?

อันที่จริงแล้ว ซุลก็อรนัยน์นั้นไม่ใช่นามชื่อที่แท้จริง แต่เป็นเพียงฉายาเท่านั้น ความหมายอาจแปลได้ว่า ผู้ที่มีสองเขา หรือ ผู้ที่อยู่ในช่วงสองยุคสมัย แล้วเหตุอะไรจรึงถูกตั้งฉายาเช่นนี้ ?

ดังกล่าวนี้นักประวัติศาสตร์ได้แบ่งสาเหตุไว้หลายประการดังนี้

1) เขาถูกส่งให้ไปเผยเเพร่ความจงรักภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียวทางด้านทิศตะวันออกในช่วงสมัยหนึ่ง แต่เขาก็ได้ถูกสังหารและเสียชีวิตไป ณ ที่นั้น และหลังจากนั้นอัลลอฮ์ก็ส่งเขาไปยังฟากทิศตะวันตกในช่วงสมัยหนึ่ง แต่เขาก็ถูกสังหารและเสียชีวิตไป และหลังจากนั้นอัลลอฮ์ก็ได้ส่งเขาไปเรื่อยๆ จนมีฉายาว่า ซุลก็อรนัยน์ หรือผู้ที่อยู่ในสองช่วงสมัย

ดังกล่าวนี้ได้มีสายรายงาน(ที่ไม่ระบุว่าถูกต้องหรือไม่)มาจากคำกล่าวของท่านอลีย์ – กัรรอมัลลอฮุวัจฮะฮ์ ในหนังสือ อัลบิดายะฮ์ วัน นิฮายะฮ์ ญุซที่ 2 หน้า 103

2) บางทัศนะว่ากันว่าบนหัวของเขานั้นมีเขาอยู่บนหัวคล้ายกับกีบสัตว์ และท่านเป็นคนแรกที่ใส่ผ้าโพกหัว เพื่อปิดเขาทั้งสอง

ดังกล่าวนี้รายงานมาโดยอุบัยด์ บิน ยะอ์ลา จากหนังสือรูหุ้ลมะอานีย์ ของอีหม่ามอัล อะลูซีย์

แต่สายรายงานดังกล่าวท่านอิบนุ หะญัรได้ระบุไว้ว่า มุงกัร ในหนังสือ ฟัตหุลบารีย์

3) บางทัศนะก็กล่าวว่า ท่านคือกษัตริย์แห่งเปอร์เซียและกรุงโรม

4) บางทัศนะก็กล่าวว่า ท่านได้ทำการถักผม หรือถักเปียสองข้าง (เหมือนดั่งทรงผมของชาวแมนจู) บางคนเลยมีทัศนะว่า ซุลก็อรนัยน์นั้นคือคนจีน

และยังมีทัศนะอื่นๆที่แปลกๆ อีกมากมายที่ได้ระบุไว้ในตำราเล่มต่างๆ

ท่านคือนบีหรือกษัตริย์?

ชัยค์ อับดุลลอฮ์ บิน อัศศิดดีก อัลฆุมารีย์ – รอฮิมาฮุลลอฮ์ – กล่าวว่า :

”قيل : كان ملكا من الملائكة، وهذا غريب، قيل : ملك الدنيا مؤمنان : سليمان و ذو القرنين و كافران : نمرود وبَخَتْنَصَّرَ“

“มีผู้กล่าวว่า : ซุลกอรนัยน์นั้นคือหนึ่งในมลาอิกะฮ์ แต่ทัศนะนี้แปลก บางก็ทัศนะก็กล่าวว่า : มหากษัตริย์บนโลกนี้ที่เป็นผู้ศรัทธามีอยู่สองท่านด้วยกันคือ นบีสุไลมาน และซุลกอรนัยน์ – อะลัยฮิสสลาม – และที่เป็นกาเฟรก็มีอยู่สองท่านด้วยกันคือ นัมรู้ด และบะคัตเนสซาร์หรือเนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 กษัตริย์แห่งบาบิโลน ***”

***บะคัตเนสซาร์หรือเนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 ทรงเป็นกษัตริย์แห่งจักรวรรดิบาบิโลนใหม่ ระหว่างปี 605 ถึง 562 ก่อนคริสตกาล

บาบิโลนในยุคนี้เป็นอาณาจักรที่เรืองอำนาจมากที่สุด โดยมีอาณาเขตตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซีย กองทัพขเนบูคัตซาร์มีชัยเหนืออียิปต์ ตลอดจนเข้าทำลายกรุงเยรูซาเลมและกวาดต้อนชาวอิสราเอลไปยังบาบิโลน สิ่งก่อสร้างมหึมาของโลกยุคโบราณหลายแห่งถูกสร้างขึ้นในยุคของพระองค์ อาทิ สวนลอยแห่งบาบิโลน

คำว่า “เนบูคัดเนสซาร์” นั้นเป็นภาษาแอกแคด มีความหมายว่า “ขอองค์เนโบโปรดพิทักษ์ซึ่งโอรสแรกแห่งข้า” ซึ่งเนโบนั้นคือเทพแห่งปัญญาผู้เป็นบุตรของเทพมาร์ดุกในศาสนาบาบิโลน และบางครั้งก็เป็นที่รู้จักในชื่อ บาคัตนาซาร์ ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้มีชัยเหนือโชคชะตา”

อ้างอิง

“Nebuchadnezzar”. In Freedman, David Noel; Myers, Allen C. Eerdmans Dictionary of the Bible

https://www.ancient.eu/Nebuchadnezzar_II/

อุลามาอ์ได้มีความขัดเเย้งในเรื่องนี้เป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกได้มีทัศนะว่า เขาคือนบี บางท่านก็กล่าวว่า เขาคือรอซู้ล และอีกฝ่ายก็มีทัศนะว่าเขาคือ กษัตริย์ (แต่จะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดต่าง ณ ตรงนี้)

ท่านอิบนุ มุนับบิฮ์ ได้กล่าวว่า :

”لقيت عامة من العلماء كانوا يزعمون أن لقمان وذا القرنين ودانيال أنبياء غير مرسلين، وعامة يقولون عباد صالحون“

“เหล่าบรรดาอุลามาอ์ทั่วไปที่ฉันได้เคยพบเจอพวกเขานั้นได้มีทัศนะว่า ท่านลุกมาน อัลหะกีม ซุลก็อรนัยน์ และดานยาล(แดเนียล) ไม่ใช่รอซู้ล และอีกจำนวนหนึ่งก็มีทัศนะว่าพวกเขาคือ บ่าวที่ศอลิห์”

ดูหนังสือ อัลอิกลีล ของอีหม่ามอัลมะฮ์ดานีย์ ญุซที่ 8 หน้า 183 สำนักพิมพ์ อัลเอาดะฮ์

มีบางทัศนะกล่าวว่า : เขานั้นคือนบี บางทัศนะก็กล่าวว่า : เขานั้นคือรอซู้ลด้วย

ตามที่ปรากฎในหนังสือ อัลบิดายะฮ์ วัน นิฮายะฮ์ เล่มที่ 2 หน้าที่ 103

ท่านอีหม่ามอัซซะอ์ลาบีย์ – รอฮิมาฮุลลอฮ์ – ได้กล่าวว่า :

والصحيح إن شاء الله أنه كان نبيا غير مرسل

“และที่ถูกต้องนั้นหากอัลลอฮ์ทรงประสงค์แท้จริงแล้วเขาคือนบีไม่ใช่รอซู้ล”

หนังสือ กิศอศ อัลอัมบิยาอ์ หน้า 324

จากท่านอิบนุ อัมรู – รอฎิยัลลอฮูอันฮ์ – กล่าวว่า :

ذو القرنين نبي

“ซุลก็อรนัยน์นั้นเป็นนบี”

หนังสือ ฟัตหุลกอดีร เล่มที่ 3 หน้า 310

แต่ตามญุมฮูรอุลามาอ์นั้นซุลก็อรนัยน์ไม่ใช่นบี แต่เป็นคนศอลิห์คนหนึ่ง

ตามที่ปรากฎในหนังสือ ฟัตหุลบารีย์ เล่มที่ 6 หน้า 271 , หนังสือ รูหุ้ลมะอานีย์ เล่มที่ 12 หน้า 30 , หนังสือ ฟัตหุลกอดีร เล่มที่ 3 หน้า 309 , หนังสือ อัลบิดายะฮ์ วัน นิฮายะฮ์

และเรื่องราวของซุลก็อรนัยน์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้นั้น เป็นเพียงประเด็นเล็กๆ ที่ได้หยิบยกขึ้นมาจากบรรดาหัวข้อใหญ่ๆ เท่านั้น ยังไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียดจริงๆ

ซึ่งภายในตอนหน้านั้นเราจะมาหาดูกันว่ากษัตริย์ทั้งสามท่านที่กล่าวไว้ตอนต้นนั้น ( คือ อเล็กซานเดอร์มหาราช, พระเจ้าไซรัสมหาราช, และกษัตริย์ อัลหุมัยรีย์ แห่งเยเมน) มีคุณสมบัติพอหรือไม่ที่เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในซูเราะฮ์ อัล กะฮ์ฟีย์ หรือซุลก็อรนัยน์ – إن شاء الله –

والله أعلم.

cr: ท่านถามมาสิ แล้วเราจะตอบ

เปิดอ่าน 1,232 ครั้ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " เรื่องราวของซุลก็อรนัยน์ จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ "

ปิดการแสดงความคิดเห็น