
สาเหตุแห่งความอิจฉา (ฮะซัด)
เขียนโดย Zakia Usaman
แหล่งที่มา http://www.idealmuslimah.com/character/patience/1595-the-causes-of-envy-hasad
แปล بنت الإسلام
“ฮะซัด” คือ การมีความปรารถนาให้ “ความดีงาม” หรือ “สาเหตุแห่งความสุข” ได้สูญหายไปจากผู้ที่ครอบครองมัน และถูกส่งมอบให้แก่ตัวของเขา (ผู้ที่มีความปรารถนาต่อสิ่งเหล่านั้น) แทน
“ฮะซัด” คือมะเร็งร้ายในตัวของมันเอง อีกทั้งยังนำไปสู่ “ความเป็นศัตรู ความเกลียดชัง ความรู้สึกที่เลวร้าย และบ่อยครั้งมันคือการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ” ซึ่งได้มีการถูกกล่าวไว้ในหะดีษหลายบท ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺรายงานว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ความอิจฉาริษยากัดกินการงานที่ดีทั้งหลายเช่นเดียวกับที่ไฟกัดกินฟืน” (อบูดาวูด และอัตติรฺมิซียฺ)
สาเหตุบางประการของ “ฮะซัด” มีดังต่อไปนี้
1. ความเป็นศัตรู และความเกลียดชัง ซึ่งนี่เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดของความอิจฉาริษยา เพราะเมื่อบุคคลคนหนึ่งมีความเกลียดชัง และความเป็นศัตรูต่อใครคนใดคนหนึ่งในหัวใจของเขาแล้ว “ความรู้สึกเกลียดชังที่อยู๋ในตัวเขา” จำต้องถูกกำจัดออกไป อันเป็นสาเหตุให้เขาปรารถนาที่จะทำการแก้แค้น และหากเขาไม่สามารถที่จะแก้แค้นได้ “ความเกลียดชังนี้” จะกลายเป็น “ความอิจฉาริษยา” แทน และเขาย่อมเกิดความปรารถนาที่จะให้ศัตรูของเขาสูญเสียความดีงามทั้งหลายที่มีอยู่
2. ความเคารพ ความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ ความอิจฉาริษยาประเภทนี้จะเกิดขึ้น เมื่อมีผู้ใดก็ตามได้รับสิ่งที่ดีงาม เขาก็จะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า และ “ความรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า” นี้เองที่นำพาเขาไปสู่การมีความปรารถนาให้ “สิ่งที่ดีงามทั้งหลาย” นั้นสูญหายไปจากผู้ที่ได้รับมัน
3. ความยโสทะนงตนและความหลงตัวเอง ความอิจฉาริษยาประเภทนี้เกิดขึ้น เมื่อบุคคลหนึ่งเห็นผู้ใดก็ตามประสบความสำเร็จเหนือเขา และเขามีความเชื่อว่าคนคนนั้นไม่คู่ควรต่อความสำเร็จดังกล่าว นั่นเป็นเพราะว่าเขามีความทะนงตน และคิดว่าตัวของเขานั้นดีกว่าและคู่ควรมากกว่า (ในความสำเร็จนั้น) ดังนั้นเขาจึงปรารถนาให้ “สิ่งที่ดีงาม” นั้นสูญหายไปจากผู้ที่ได้รับมัน
4. ความประหลาดใจ เมื่อบุคคลคนหนึ่งเกิดความประหลาดใจที่ “ผู้อื่นที่มีความแตกต่างจากเขา” ได้รับสิ่งที่ดีงาม จากนั้นเขาก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าเหตุใด “คนแบบนั้น” จึงได้รับสิ่งที่ดีงาม ที่เขาไม่ได้รับ
5. ความกลัวต่อการสูญเสียสิ่งที่วาดหวังไว้ ความรู้สึกเช่นนี้มักเกิดขึ้นในกรณีที่มีคนหลายคนปรารถนาที่จะบรรลุเป้าหมายเดียวกัน เช่นในสถานการณ์ที่กลุ่มคนแต่ละกลุ่มคนเกิดความอิจฉาต่อกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง เมื่อกลุ่มคนอีกกลุ่มได้รับการอำนวยพรด้วยบางสิ่งบางอย่างที่จะช่วยทำให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายเดียวกันได้ง่ายกว่า ดังนั้นหากว่าคู่แข่งของเขามีบางสิ่งบางอย่างที่ดีกว่า เช่นนั้นเขาก็เกิดความอิจฉา เพราะเขาเชื่อว่า “สิ่งที่คู่แข่งมีนั้น” จะช่วยทำให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายเดียวกันที่เขาหวังไว้
6. ความปรารถนาต่อ “การเป็นผู้นำ และตำแหน่ง” บุคคลที่มีพรสวรรค์หรือความสามารถในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือบุคคลที่มักได้รับคำชื่นชม ยกย่องอยู่เสมอ มักจะเกิดความรู้สึกอิจฉาริษยาต่อผู้ที่มีความสามารถในเรื่องเดียวกัน และได้รับการชื่นชม ยกย่องเช่นเดียวกันกับที่เขาได้รับ เช่น เขาเกิดความทุกข์เมื่อได้ยินว่าผู้อื่นได้รับการชื่นชม หรือได้รับการให้เกียรติ และเขาก็เกิดความปรารถนาว่า “สิ่งดีงาม” ที่ผู้อื่นได้รับอยู่นั้นจะสูญหายไปจากพวกเขา ซึ่ง “ความปรารถนาต่อการเป็นที่จดจำของผู้คน และความกลัวต่อการสูญเสียเช่นนี้” มันก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะก่อให้เกิดความอิจฉาริษยา
7. จิตใจที่ไม่บริสุทธิ์ จิตใจที่ไม่บริสุทธิ์ย่อมเกิดความปิติยินดีต่อความเลวร้าย หรือความหายนะที่เกิดกับผู้อื่น และเกิดความเสียใจเมื่อมีสิ่งดีงามเกิดขึ้นกับพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งคนประเภทนี้จะมีความตระหนี่ต่อความโปรดปรานและปัจจัยของอัลลอฮฺ และเขามีความคิดว่า “การที่ผู้อื่นได้รับความดีงามหรือความโปรดปรานทั้งหลายจากอัลลอฮฺนั้นทำให้สิ่งที่เขาควรจะได้รับ (จากพระองค์) นั้นลดลง โดยที่เขาลืมไปว่า อัลลอฮฺจะประทานให้แก่ผู้ที่พระองค์ประสงค์ โดยปราศจากการคำนวณนับ และไม่มีผู้ใดสามารถจำกัดสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดไว้แล้วได้
ในความเป็นจริงแล้วนั้น เมื่อบุคคลหนึ่งเกิดความอิจฉาริษยาต่อคนอีกคนหนึ่ง แท้จริงแล้วนั่นหมายความว่าเขากำลังสงสัยต่อเหตุผลอันดีงาม (ความปรีชาญาณ) ของอัลลอฮฺ และตั้งคำถามกับการตัดสินของพระองค์ นี่เป็นเพราะว่า ท้ายที่สุดแล้ว “อัลลอฮฺ” คือผู้ทรงตัดสินว่าความโปรดปรานใดที่ควรถูกมอบให้แก่ผู้คน
โอ้ ท่าน ผู้ที่อิจฉาต่อความดีงามที่พี่น้องของท่านครอบครอง
ท่านรู้หรือไม่ว่าท่านกำลังละเมิดผู้ใดอยู่
ท่านได้ทำการละเมิดต่ออัลลอฮฺ ต่อการตัดสินของพระองค์
ด้วยการไม่พึงพอใจต่อการอำนวยพรที่พระองค์ประทานแก่ท่าน
ขออัลลอฮฺทรงปกป้องเราจากกความชั่วร้าย และโรคร้ายนี้ด้วยเถิด อามีน
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " สาเหตุแห่งความอิจฉา (ฮะซัด) "