ขายเว็บนี้ ติดต่อ LINE : 0895172266
วันอาทิตย์, 5 พฤษภาคม 2567

ใช่เธอหรือไม่? อยากรู้..ละหมาดอิสติคอเราะฮฺเลย

ใช่เธอหรือไม่? อยากรู้..ละหมาดอิสติคอเราะฮฺเลย

คำถาม

อัสลามมุอ้าลัยกุ้มฯ

คือ อยากถามวิธีละหมาดอิสติคอเราห์เลือกคู่อะครับ ถามว่า คนๆนี้ใช่คู่ที่แท้จริงรึปล่าว ?

เป็นกระดูกซี่โครงของเราจริงๆ หรือปล่าว ?

หรือว่าจะมีคนอื่นที่ดีกว่า คนนี้ไม่ใช้คู่ของเราจริงๆ ประมาณนี้ละครับ

อยากรู้รายละเอียดวิธีละหมาด และ ดุอาร์ในการขอทำนองนี้อะครับ
และ ทำอย่างไรให้การละหมาดนี้ได้ผลมากที่สุด ??

ขอบคุณมากครับ

——————————————

الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

คำตอบ ละหมาดอิสติคอเราะฮฺ (صلاةالاستخارة) เป็นสุนนะฮฺ มี 2 รอกอะฮฺเหมือนะละหมาดสุนนะฮฺทั่วไป รอกอะฮฺที่ 1 หลังอ่านสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺควรอ่านสูเราะฮฺอัล-กาฟิรูน และในรอกอะฮฺที่ 2 อ่านสูเราะอัล-อิคลาศ หลังเสร็จละหมาดก็ให้ขอดุอาอฺว่า

أللهُمَّ أَسْتَخِيْرُكَ بِعِلْمِكَ وأَسْتَقْدِرُكَ بِقُدْرَتِكَ

وأَسْلُكَ مِنْ فَضْلِكَ الْعَظِيْمِ فإِنَّكَ تَقْدِرُولَاأَقْدِرُ

وتَعْلَمُ وَلَاأَعْلَمُ وأَنْتَ عَلَّامُ الْغُيُوْبِ

แล้วให้กล่าวถึงเรื่องที่เราประสงค์จากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราหรือทรงประทานความยินดี ความโล่งอก และความสบายใจในสิ่งที่เราตัดสินใจ

เช่น ในกรณีที่มีมุสลิมะฮฺมาชอบเราหรือเราชอบมุสลิมะฮฺนั้น แต่เราตัดสินใจไม่ถูกว่าจะสู่ขอนางมาเป็นภรรยาดีหรือไม่ เพราะอาจจะยังไม่พร้อม ทำให้ลังเลในการตัดสินใจ หรือมีมุสลิมะฮฺมากกว่าหนึ่งคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะสู่ขอมาเป็นภรรยา และเป็นแม่ของลูกตลอดจนเป็นสะใภ้ของพ่อแม่ของเรา พิจารณาดูแล้วคนนั้นก็ดี คนนี้ก็เหมาะสม เลยไม่รู้ว่าจะเลือกคนไหนก็ให้ละหมาดอิสติคอเราะฮฺและขอดุอาอฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะขอเป็นภาษาไทยก็ได้ เช่น

“โอ้ อัลลอฮฺ หากพระองค์ท่านทรงรู้ว่าหญิงคนนั้น คนนี้ดีที่สุดสำหรับข้าพระองค์ทั้งในศาสนา การดำเนินชีวิต บั้นปลายของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงกำหนดให้นางมาเป็นภรรยาของข้าพระองค์ และทรงเอื้ออำนวยให้การสู่ขอนางเป็นที่สะดวกง่ายดายแก่ข้าพระองค์ และขอพระองค์ทรงประทานความจำเริญในตัวนางให้เกิดแก่ข้าพระองค์

โอ้ อัลลอฮฺ หากพระองค์ทรงรู้ว่าหญิงคนนั้นคนนี้ไม่ดีสำหรับ ข้าพระองค์ ทั้งในศาสนา การดำเนินชีวิต บั้นปลายของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้นางพ้นจากข้าพระองค์ และให้ข้าพระองค์พ้นจากนาง และขอพระองค์ทรงกำหนดสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับ ข้าพระองค์ตามที่สิ่งนั้นเป็น และขอให้ข้าพระองค์มีความยินดีต่อสิ่งนั้น”

แล้วก็ให้ลุกขึ้นไปยังสิ่งที่ตัดสินใจและมีความสบายใจต่อสิ่งนั้นว่าใช่เลย…ทั้งนี้เมื่อตัดสินใจเลือกคนไหนแล้วก็ให้มอบหมายเรื่องราวเบื้องหน้าให้เป็นไปตามสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดลิขิตเอาไว้แล้ว โดยเราต้องพากเพียรและวิริยะอุตสาหะในการกระทำสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลในเรื่องดีควบคู่กันไป

อย่างไรก็ตาม การละหมาดอิสติคอเราะฮฺเป็นกรณีที่มาทีหลัง กล่าวคือ เมื่อมีเรื่องใดเกิดขึ้นและจำต้องตัดสินใจก็ให้พิจารณา (ตะฟักกุรฺ) เสียก่อนโดยละเอียดถ้วนทั่วบนพื้นฐานของความน่าจะเป็น ความเหมาะสม ความสมเหตุสมผล มีการชั่งน้ำหนัก (มุวาซะนะฮฺ) ระหว่างผลดีผลเสียในแต่ละกรณีที่ตั้งสมมุติฐาน มีการชั่งน้ำหนัก (อัต-ตัรฺญีหฺ) แก่กรณีของสมมุติฐานที่เห็นว่าเหมาะแล้ว ดีแล้ว

หากผ่านกระบวนวิธีการที่ว่ามาซึ่งควรเสริมด้วยการขอคำปรึกษาชี้แนะจากผู้สันทัดกรณี (มุชาวะเราะฮฺ) แล้ว ยังคงสงสัยและยากต่อการตัดสินใจ นั่นจึงมาถึงขั้นของการละหมาดอาติคอเราะฮฺ แต่ถ้าตัดสินใจได้อย่างลงตัวและแน่ชัดแล้วก็ให้ตั้งเจตนากระทำตามที่ตัดสินใจแล้วมอบหมายต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยไม่ต้องละหมาดอิสติคอเราะฮฺก็ได้

والله ولى التوفيق

อ.อาลี เสือสมิง